วันอังคาร, 30 เมษายน 2567

เตรียมรับมือหมอกควันไฟป่า ทัพภาค 3 ผุดกองบัญชาการรับมือ

09 ต.ค. 2019
2174

กองทัพภาคที่ 3 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 จัดตั้งกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ( บก.คฟป.ทภ.3 ) ณ มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละจังหวัดเชียงใหม่ โดยดำเนินการในห้วงวันที่ 1 ต.ค.62 ถึง 30 เม.ย. 63

พล.ต.อำนาจ ศรีมาก รองผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า จากการที่นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยสถานการณ์ฝุ่นละออง และได้มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยเตรียมความพร้อมและบูรณาการแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เน้นการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ วางแนวทางการบริหารจัดการสาธารณภัยและแผนเผชิญเหตุในพื้นที่ พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด กองทัพภาคที่ 3 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 จัดตั้งกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ( บก.คฟป.ทภ.3 ) ณ มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ ในห้วงวันที่ 1 ต.ค.62 ถึง 30 เม.ย. 63 โดยมี พล.ท.ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เป็นผู้บัญชาการการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 (ผบ. บก.คฟป.ทภ.3)

สำหรับกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ( บก.คฟป.ทภ.3)ดำเนินการตามแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ โครงการป้องกันการบุกรุกและทำลายพื้นที่ป่าไม้ ประจำปีงบประมาณ 2563 รายการซักซ้อมดับไฟป่า และรายการลาดตระเวนควบคุมไฟป่าและหมอกควัน เพื่ออำนวยการควบคุมการดำเนินงานกาแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือ โดยมีการจัดตั้งชุดรณรงค์เพื่อป้องกันการเกิดไฟป่าและหมอกควัน กองทัพภาคที่ 3 จำนวน 14 ชุดปฏิบัติการ จากมณฑลทหารบก และหน่วยที่เกี่ยวข้อง มีภารกิจในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการเกิดไฟป่า การให้ความรู้ ความเข้าใจกับราษฎรในการป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า

ทั้งนี้แผนปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประจำปีงบประมาณ 2563 ในครั้งนี้ ประกอบด้วยระบบบัญชาการเหตุการณ์โดยการจัดตั้งศูนย์ประสานงาน ประสานเครือข่าย หาทางเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร การเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ นอกจากนี้มีกิจกรรมการสร้างความตระหนัก โดยรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่เสี่ยง สร้างเครือข่ายประชาสัมพันธ์การป้องกันในพื้นที่ การลดปริมาณเชื้อเพลิง ตลอดจนมาตรการจิตอาสาประชารัฐ