วันเสาร์, 12 ตุลาคม 2567

“อาหารสร้างสรรค์ไร้เนื้อสัตว์” OKMD จัดทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์ต้นแบบ

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้องค์การมหาชน หรือ okmd จัดกิจกรรมทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์ต้นแบบ สินค้าเกษตรและอาหารสร้างสรรค์ไร้เนื้อสัตว์ โดยจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นางนลินี โสรณสุทธิ รักษาการ​ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์นวัตกรรมการเรียนรู้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการ ซึ่งเป็นกิจกรรมทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์ต้นแบบ “อาหารสร้างสรรค์ไร้เนื้อสัตว์” เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 4 ผลิตภัณฑ์ โดย okmd ดำเนินงานร่วมกันกับ สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีต้นแบบกระบวนการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร

ในงานมีการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหาร 3 แบรนด์ ที่เป็นอาหารสร้างสรรค์ไร้เนื้อสัตว์ ภายใต้ 3 แนวคิด จาก 3 ผู้ประกอบการ ได้แก่ อาหารส่งเสริมสุขภาพจากภูมิปัญญา โดย DUDE (ดูดี) CLEAN FOOD อาหารว่างสร้างสรรค์จากผลิตภัณฑ์เกษตร โดย แม่จอยติ่มซำ และอาหารสร้างสรรค์จากภูมิปัญญา โดย มาดามต่อนยอน พร้อมมีโมเดลจำลองระบบให้น้ำอัตโนมัติ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันกับ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพียงดินสันป่าเปา อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ และสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ อำเภอสันทราย ซึ่งเป็นต้นทางในการผลิตวัตถุดิบอาหารมาจัดแสดงในงานด้วย

 

“แม่จอยติ่มซำ”


นางเพลินจิต สุวรรณมณี เล่าว่า เราคิดว่ายังไม่มีไอเดียที่จะทำ “ติ่มซำ” แบบนี้ ด้วยความอร่อยที่ลงตัวโดย “ไม่จำเป็นที่ต้องมีเนื้อสัตว์” ล้วนแต่เป็น “สมุนไพร” ทั้งกระเทียม เผือก เห็ด ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต “ติ่มซำ” มีด้วยกัน 5 อย่าง หยกมงคล ซึ่งมีความหมายที่ดี ส่วนประกอบก็จะมี สาหร่ายวากาเมะ กุยช่าย ผำ ผำคือสาหร่ายน้ำจืดที่หากินได้ยาก เผือกทอด ไส้ข้างในจะเป็นโปรตีนเกษตร และพืชเกษตรอีกหลายอย่าง ส่วนเผือกจะเป็นเผือกจริง ถุงทอง ไส้ในเป็นเห็ดหลายๆ อย่าง เกี๊ยวสามสหาย จะมีโปรตีน มีพืช มีไข่ เหรียญเงินเหรียญทอง ข้างในเป็นไส้หน่อไม้ จะปรุงรสด้วยพืชเกษตร

อาหารที่มีส่วนประกอบเป็นผัก เป็นเห็ด จะมีกากใย มีโปรตีน และอื่นๆ อีกมากมาย อย่าง เห็ด บางคนจะทานยากมาก พอเอามาปรุงมีส่วนผสมอื่นเข้าไปร่วมด้วย ปรุงให้กลมกล่อม ทานแล้วแทบไม่รู้ว่าเป็น เห็ด แต่ความจริงไส้ในเป็นเห็ด ก็จะกินเห็ดได้เยอะมากขึ้น

“OKMD มีส่วนอย่างมากเข้ามาเติมเต็มให้กับ “แม่จอยติ่มซำ” ทั้งให้แนวคิด ให้แนวทางการพัฒนาอาหารที่ไม่เคยคิดว่าจะสร้างมูลค่า สามารถทำให้เราได้อาหารที่มีมูลค่า และเชื่อว่าแนวทางการตลาดที่ได้รับการชี้แนะ ในอนาคตผู้คนจะหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น”

 

“มาดามต่อนยอน”


นางสาวสมปรารถนา สุขใจ บอกว่า “มาดามต่อนยอน” มาจาก การที่เราหยอกล้อแม่เรา เพราะคุณแม่เหมือนมาดามของบ้าน งานทำอะไรจะทำเร็วมาก แต่ในชีวิตประจำวันแม่จะทำช้าๆ มีระบบที่ชัดเจน จะเป็นที่มาของชื่อผลิตภัณฑ์ด้วย ในชื่อ…ไส้อั่วมาดาม

OKMD เข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก็นำคำว่า “มาดามต่อนยอน” มาเป็นชื่อหลักของแบรนด์ ผลิตภัณฑ์หลักของเราคือ ไส้อั่ว ที่ทำมาจากเห็ด 3 อย่าง และที่เป็น “เห็ด” ก็ด้วยว่า ในชุมชนที่เราอยู่ได้มีการส่งเสริมการเพาะเห็ด เมื่อผลผลิตเห็นมีมากๆ การแปรรูปก็เกิดขึ้น ส่วนทำไมต้อง “ไส้อั่ว” ก็เพราะว่า แม่ทำไส้อั่วอร่อยมาก “เห็ด กับ “ไส้อั่ว” จึงมาบรรจบกัน จากเห็ดที่มีอยู่ในมือขณะนั้นคือ เห็ดนางรมหลวง ซึ่งมีลักษณะคล้ายเห็ดนางฟ้าแต่เป็นสีดำ แล้วเพิ่มเห็นหูหนู เห็ดออรินจิ ปรุงรสชาติเพิ่มเติมแทนเนื้อสัตว์ที่ตัดออกไป

“แรกเริ่มมีเพียงไส้อั่วรสดั้งเดิม ก็รสชาติไส้อั่ว แต่เป็นเห็ด QKMD ก็ให้แนวทางเพื่อการพัฒนาต่อยอด ก็พัฒนาเป็น รสลาบเหนือ รสพริกไทยดำ โดยเฉพาะรสพริกไทยดำวางเป้าหมายไปที่จะขายให้ชาวต่างชาติ หากย้อนไปก่อนหน้านั้น ไส้อั่วหมู ไส้อั่วปลา มาพัฒนาเป็นไส้อั่วเห็ดราว 2 ปีก่อน ได้การตอบรับเป็นอย่างดี แบบปากต่อปาก ก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่อยากจะพักท้องจากเนื้อสัตว์บ้างก็เปลี่ยนมาเป็นเห็ด ส่วนก้าวต่อจากนี้ก็ยังจะคงเป็น “ไส้อั่ว” หากแต่เปลี่ยน “ไส้” อื่นๆ เพิ่มขึ้นมา หรืออาจขยับเป็น น้ำพริกเผาเห็ด น้ำพริกเห็ดกรอบ เพราะ พื้นฐานของชุมชนคนปลูกเห็ด การต่อยอดแปรรูปเพื่อรองรับผลผลิตที่อาจล้นตลาดเป็นสิ่งจำเป็น”

 

“DUDE อาหารคลีน เพื่อคนรักสุขภาพ เชียงใหม่”

นางสาวอัญชลีพร จำรัส เล่าเรื่องราวว่า ร้านชื่อ “DUDE อาหารคลีน เพื่อคนรักสุขภาพ เชียงใหม่” เริ่มต้นคือ อาหารคลีน แบบเดลิเวอรี่ ส่งให้ผู้ที่ออกกำลังกาย ผู้ที่ต้องการเพิ่มโปรตีน OKMD เข้ามาเสนอนวัตกรรมที่สามารถสร้างเสริมโปรตีนได้ นอกเหนือจากเนื้อสัตว์ วัตถุดิบที่ว่าแทนเนื้อสัตว์เขาเรียกกันว่า “เทมเป้” ต้นกำเนิดมาจากอินโดนีเซีย เป็นถั่วที่มีโปรตีนสูง มีไฟเบอร์ ทุกเพศทุกวัยสามารถทานได้ ตัว “เทมเป้” จะทานเฉยๆ ก็ได้ จะนำมาแปรรูปเป็นลาบ เป็นบาร์บีคิว ก็ทำได้

“เอามาทำบาร์บีคิวคือ เอามาแทนเนื้อสัตว์ เสียบเป็นไม้ๆ ร่วมกับผักต่างๆ นำไปย่าง เวลาที่ย่างจะสั้นกว่าเนื้อสัตว์ เพราะเทมเป้เนื้ออ่อนกว่าเนื้อสัตว์ ย่างนานเกินไปจุลินทรีย์ก็จะเสีย อีกเมนูจะเป็น “นัตโตะ” เป็นอาหารญี่ปุ่น เทมเป้นจะเอามาประยุกต์ใช้แทนเนื้อสัตว์ ทานกับข้าวญี่ปุ่น ส่วนอีกเมนูคือ “น้ำพริกข่า” โดยจะนำวัสดุอาหารพื้นเมื่อง “ถั่วเน่าแผ่น” (ถั่วเน่าแคบ) จะเอาไปย่างแล้วนำมาเป็นส่วนผสม เครื่องเคียงคือผักลวก และท้ายสุดคือ “เมี่ยงคำ” พิเศษตรงที่นำ “นัตโตะ” ใส่ในน้ำซอสซึ่งจะได้รสชาติที่แปลกใหม่จากเมี่ยงคำทั่วไปและได้โปรตีนเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งได้แนวคิดจาก OKMD ที่มาช่วยเสนอไอเดียในการประยุกต์ให้เกิดเมนูที่แปลกใหม่ที่ดีขึ้น”

 

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพียงดินสันป่าเปา อ.สันทราย จ.เชียงใหม่


อ.ณัฐเชษฐ์ โพธิ์ทอง เล่าว่า ตำบลสันป่าเปา มีวิสาหกิจชุมชนที่สมาชิกส่วนใหญ่ทำเกษตรอินทรีย์ OKMD เข้ามาสำรวจเพื่อให้ได้พื้นที่เป็นต้นแบบ ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม “ระบบการจัดการแปลงผักด้วยการให้น้ำอัตโนมัติ” เป้าหมายหนึ่งคือ ไปสนับสนุนผู้สูงวัยในการที่จะทำเกษตร ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เทคโนโลยีนี้มาช่วยในเรื่องของเวลา การประหยัดน้ำ ผลการทดสอบพบว่า ระบบให้น้ำอัตโนมัติ จะดีกว่า พืชที่ทดลองต้นสูงกว่า แข็งแรงกว่า พืชที่ให้น้ำโดยทั่วไป ถึงจุดนี้ กศน. จะต่อยอดด้วยการจัดการอบรมให้สมาชิกรายอื่นๆ ต่อไป

“หลักการของระบบการให้น้ำอัตโนมัติ คือ การนำแอปพลิเคชันบนมือถือควบคุมระบบ ซึ่งมี 2 แบบ คือ ควบคุมสภาพแวดล้อม ทั้งความชื้นในดิน ในอากาศ ค่าความเป็นกรดด่างของน้ำ เพื่อน้ำไปประมวลผลในระบบแอปพลิเคชัน อีกแบบจะเป็น การควบคุมการให้น้ำ โดยเกษตรกรไม่จำเป็นต้องอยู่หน้าฟาร์ม อยู่ที่ใดก็ได้ในโลก เพียงให้มีอินเทอร์เน็ต การให้น้ำก็จะให้ตามความต้องการของพืชที่ได้มาจากการประมวล อีกทางหากไม่มีระบบอินเตอร์เน็ตจริง ก็ใช้ระบบออโตเมชั่นโดยการตั้งเวลา หากแต่จำเป็นต้องทราบก่อนว่าพืชที่ปลูกมีความต้องการน้ำในห้วงเวลา 1 วัน มีมากน้อยเท่าไรแล้วนำมาโปรแกรมให้กับระบบควบคุมอัตโนมัติได้ ส่วนการลงทุนในระบบจะทำให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรซึ่งจะลงทุนในระบบอัตโนมัติจะใช้ทุนไม่มาก ส่วนระบบอินเทอร์เน็ตเป็นเกษตรกรที่จะเลือกเอาแบบไหนเพราะราคาจะแตกต่างกัน” รศ.ดร.พินิจ เนื่องภิรมย์ แจงเพิ่มเติม

 

“แม่จอยติ่มซำ”…..

 

“มาดามต่อนยอน”…..

 

“DUDE อาหารคลีน เพื่อคนรักสุขภาพ เชียงใหม่”…..

 

“วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพียงดินสันป่าเปา อ.สันทราย จ.เชียงใหม่”…..

 

กิจกรรมทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์ต้นแบบ “อาหารสร้างสรรค์ไร้เนื้อสัตว์”…..