วันพุธ, 11 กันยายน 2567

ตะลึง 11 เดือน ยึดยาบ้ากว่า 91 ล้านเม็ด ไอซ์ 3 ตันกว่า แม่ทัพภาค 3 จี้โลจิสติกส์ต้องเข้มงวด เชื่อ “ผู้ใช้” บำบัดดีคืนสู่สังคมได้

30 ส.ค. 2023
2904

แม่ทัพภาค 3 นั่งหัวโต๊ะ ประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ 11 เดือน ยึดยาบ้าได้มากกว่า 91 ล้านเม็ด ไอซ์อีกมากกว่า 3 ตัน จี้โลจิสติกส์ให้เข้มงวดการไม่รับส่งยาหากละเลยอาจเข้าข่ายสมรู้ร่วมทำผิด พร้อมขอภาคเอกชนช่วยสร้างศูนย์บำบัดยา เชื่อ “ผู้ใช้” เข้าระบบบำบัดที่ดี ชาติจะได้กำลังที่ดีกลับมาช่วยพัฒนาประเทศ ชี้หากคนเสพมากสูญเม็ดเงินสูงมากกว่า 1 แสนล้านต่อปี

วันที่ 29 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมธาราทอง โรงแรมเซ็นทาราริเวอร์ไซด์เชียงใหม่ พลโท สุริยะ เอี่ยมสุโร แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะ ประธานคณะกรรมการศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 2 โดยมีผู้นำหน่วย ผู้แทนหน่วยงานทหาร ตำรวจ ราชการพลเรือน ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคเหนือร่วมประชุม พร้อมกันนี้ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณการปฏิบัติงานด้านยาเสพติดในห้วงปีที่ผ่านมา รวม 10 หน่วยงาน

ในปีงบประมาณ 2566 ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ (ศอ.ปส.ชน.) ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา โดยมีผลการตรวจยึด/จับกุม จำนวน 451 ครั้ง ผู้ต้องหา 496 ราย ตรวจยึด ยาบ้า 91,263,986 เม็ด, ไอซ์ 3,582.98 กก., เฮโรอีน 28.77 กก., ฝิ่นดิบ 270.87 กก., เคตามีน 363.25 กก. อีกทั้งหน่วยยังได้ให้ความสำคัญในการสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ไม่ให้เข้าสู่แหล่งผลิต และการลักลอบขนส่งยาเสพติดผ่านระบบ โลจิสติกส์ ด้วย โดยได้ดำเนินการตรวจการนำเข้า และการใช้สารเคมีควบคุมในโรงงานอุตสาหกรรม, การกวดขันการส่งออกสารเคมีผ่านด่านพรมแดน, ตรวจการขนส่งทางบกในห้วงเทศกาลสำคัญ, ตรวจสถานประกอบการรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ตลอดจนเชิญผู้ประกอบธุรกิจสถานประกอบการ ขนส่งสินค้า ร่วมประชุม หารือ ขอความร่วมมือ และกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

นอกจากงานด้านการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดแล้ว หน่วยได้มีการปฏิบัติอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เช่น จัดทำ “โครงการชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืนแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ” ในพื้นที่หมู่บ้านชุมชนเป้าหมาย เพื่อสร้างแนวร่วมในการสกัดกั้นไม่ให้หมู่บ้านถูกนำไปใช้เป็นเส้นทางผ่าน หรือพักยาเสพติด โดยดำเนินการปลูกฝัง สร้างการรับรู้พิษภัยของยาเสพติดให้กับเยาวชน, การฝึกอบรมราษฎรอาสาป้องกัน ภัยยาเสพติด, การค้นหา คัดกรองผู้เสพผู้ติดยาเสพติดให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา เป็นต้นจัดทำ ระบบฐานข้อมูลกลางยาเสพติด (Drugs Data Center) เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด เช่น ข้อมูลยาเสพติด, สารเคมี, กระบวนการผลิต, พื้นที่แหล่งผลิต, แหล่งพัก, เส้นทาง และรูปแบบการลำเลียง ข้อมูลบุคคล และเครือข่าย เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ หน่วยงานด้านยาเสพติดสามารถเข้าไปเรียนรู้ สืบค้นข้อมูล และนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ วางแผนการปฏิบัติงาน รวมทั้งสามารถใช้ตรวจสอบ และติดตามบุคคลผ่านระบบโทรศัพท์มือถือได้อีกด้วย

แนวโน้มสถานการณ์ยาเสพติด ในปัจจุบันยังคงมีความรุนแรง เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตยาเสพติดหลักในประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงมีเสรีในการผลิต ประกอบกับมีการลักลอบนำเข้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์จากประเทศจีนและอินเดียเข้าสู่แหล่งผลิตอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงพื้นที่ปลูกฝิ่นมีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงอาจทำให้แนวโน้มการผลิตฝิ่นและเฮโรอีนเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ การลักลอบขนส่งยาเสพติดผ่านทางระบบโลจิสติกส์ในประเทศ มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบพัสดุภัณฑ์ เนื่องจากมีความเสี่ยงน้อย ต้นทุนต่ำ รวดเร็ว และสามารถส่งถึงผู้รับได้โดยตรง ยาบ้ายังเป็นยาเสพติดหลักที่มีการใช้และแพร่ระบาดมากที่สุด และควรเฝ้าระวังสารเสพติดรูปแบบใหม่ในกลุ่มนักเที่ยวสถานบันเทิง (กลุ่ม Club Drugs) ด้วย

เสร็จสิ้นการประชุม พลโท สุริยะ เอี่ยมสุโร แม่ทัพภาคที่ 3 ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนไปยังสาธารณชน ว่า การประชุมวันนี้เพื่อจะมาทบทวนการปฏิบัติตลอดหวัง 11 เดือน ที่ผ่านมา ว่าผลการปฏิบัติเกี่ยวกับยาเสพติดในการสกัดกั้นและด้านต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือได้ผลเป็นประการใด ซึ่งทราบว่าได้ร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันในภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ว่าจำนวนยาเสพติดที่ผ่านภาคเหนือนั้นมีปริมาณลดลง มมีการจับกุมได้มาก มีการขยายผลเพื่อเน้นในเรื่องปริมาณของเม็ดยา ขยายผลไปดำเนินการเรื่องยึดทรัพย์ ทั้งทาง ปปส. ปปง. ก็เข้ามาดำเนินการในส่วนนี้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการจับกุมในการสกัดกั้น

แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นยังมีข้อหารือในประเด็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดตั้งแต่เรื่องของสารตั้งต้นที่คาดว่าจะใช้เป็นสารเคมีในการใช้ผลิตผ่านประเทศไทยเข้าสู่แหล่งผลิตในพื้นที่รัฐอิสระของประเทศเพื่อบ้านซึ่งหน่วยงานอื่นต้องเข้ามาช่วยอย่างเช่นอุตสาหกรรม สารบางอย่างที่ไม่ได้ใช้ในประเทศแต่มีผ่านก็ต้องไปถึงระดับกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณา รวมถึงบริษัทขนส่งพัสดุภัณฑ์ หรือที่เรียกกันว่า โลจิสติกส์ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างมากไปถึงระดับชุมชน ขบวนการยาเสพติดก็อาศัยโลจิสติกส์ที่มีอยู่อย่างมากมายในการส่งยาเสพติดไปยังเป้าหมาย ตรงนี้บริษัทโลจิสติกส์ก็ต้องเข้มงวดพนักงานในการตรวจสอบอย่างถ้วนถี่ หากไม่เข้มงวดก็อาจมีความผิดในการสมรู้ร่วมกระทำความผิดด้วย รวมถึงการส่งของที่เป็นสิ่งผิดกฎหมายด้วยก็ต้อง

“การบำบัดผู้ซื้อผู้ใช้ยาเสพติดเห็นผล เพราะเพียงเป็นผู้ใช้ยาหากเอาเข้าสู่ระบบบำบัดและเป็นระบบบำบัดที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ที่พูดคุยกันน่าจะอยู่ในรูปศูนย์บำบัดที่ผู้จะเข้ารับการบำบัดเข้ามาแล้วมีทางรอดมีทางไป อย่างเช่นอายุ 17-18 ปี หากเข้าสู่กระบวนการบำบัดก็เชิญชวนให้สมัครเข้าเป็นทหารเมื่อถึงวัย เมื่อเป็นทหารแล้วเป็นนักเรียนนายสิบเป็นนายร้อยได้ ตรงนี้อยากเห็น อยากเป็นคนไทยช่วยกันในการบำบัดผู้เสพผู้ใช้ ส่วนผู้ที่เสพติดถึงขนาดก็ต้องมีการควบคุมดูแลในอีกระบบไม่ไปสร้างปัญหากับสังคม เรื่องนี้อยากฝากไปถึงภาคเอกชนช่วยกันมาสร้างศูนย์บำบัดยาเสพติดร่วมกัน อีกทางก็ฝากไปถึงน้องๆ ที่ใช้เสพยาเสพติด ต้องบอกว่ายาเสพติดไม่มีอะไรดีเลย มักมีข้ออ้างว่าเสพยาเสพติดจะแข็งแรงขึ้น มีความรู้สึกดีขึ้น อย่าไปเชื่อ ยาเสพติดไม่มีอะไรดีเลย ยังเป็นการสูญเสียเงินของชาติมหาศาล มีการพูดคุยกันในที่ประชุม คำนวณกันว่าแค่คนไทยเสพยาวันละเม็ด 6 ล้านคน ใช้เงินในการซื้อยาตกปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท ถ้าเลิกลดลงได้ประเทศชาติจะเด็นหน้าไปได้อีกไกล” พลโท สุริยะ เอี่ยมสุโร กล่าวในที่สุด