วันอาทิตย์, 5 พฤษภาคม 2567

งานชลประทานเชียงใหม่คืบหน้าตามแผน เบิกจ่ายแล้วกว่า 90% เผยฝนน้อยคาดสิ้นฝนน้ำเก็บไม่เต็ม พนังท้าย ปตร.ท่าวังตาล เริ่มออกแบบ

15 ส.ค. 2023
2933

ผส.ชป.1 ยกทีมเยือน โครงการชลประทานเชียงใหม่ เผยการดำเนินงานเป็นไปตามแผน เบิกจ่ายไปแล้วกว่า 90% งานตามงบเหลื่อมปี 2566 สิบสองรายการเสร็จทันกันยา 66 ไม่มีพับ ส่วนงบประจำปีบางงานต้องกันเหลื่อมปี แจงเหตุจากพื้นที่ทำงานยังมีน้ำสูง พนังท้าย ปตร.ท่าวังตาล ได้แนวทางแก้ไขอยู่ระหว่างการออกแบบก่อสร้าง ชี้ปีนี้นี้น้ำฝนน้อย คาด 1 พ.ย. 66 สองเขื่อนใหญ่มีน้ำแค่ 80% อ่างขนาดกลางมีแค่ 60%

วันที่ 15 สิงหาคม 2566 เวลา 10.30 น. ดร.สุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 (ผส.ชป.1) พร้อมคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่โครงการชลประทานเชียงใหม่ ติดตามผลการดำเนินงานของโครงการตามแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ โครงการชลประทานเชียงใหม่ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดย นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วย หัวหน้าฝ่าย และเจ้าหน้าที่ ร่วมให้การต้อนรับและรายงานความก้าวหน้าของผลงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566

นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า การบริหารงบประมาณของโครงการชลประทานเชียงใหม่ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โครงการตามงบเหลื่อมปี 2566 มีด้วยกัน 12 รายการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 10 โครงการ คงเหลือ 2 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้ง 2 โครงการภายในเดือนกันยายน 2566 นี้ อีกกลุ่มเป็นโครงการงบประมาณประจำปี 2566 มีด้วยกันทั้งสิ้น 100 รายการ งบประมาณ 420 กว่าล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 85-90% ดำเนินการเสร็จไปแล้ว 71 รายการ ที่มีผลการดำเนินงาน 80-99% มี 15 รายการ ต่ำกว่า 65% จำนวน 9 รายการ ซึ่งเป็นงานขุดลอก ติดเรื่อพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง บางพื้นที่มีน้ำในปริมาณมาก และบางอ่างเก็บน้ำเพิ่งจะได้ตัวผู้รับจ้าง คาดว่าจะต้องกันเหลื่อมปี 2566 นอกจากนี้มีการดำเนินงานต่ำกว่า 25% อีก 5 รายการ มี 3 รายการที่คาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จในปี 2566 นี้ และมี 2 รายการที่ต้องกันเหลื่อมปี

“งานที่ต้องขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานชลประทานที่ 1 ให้ช่วยเร่งรัดคือ งานแก้ปัญหาท้ายประตูระบามแม่สอย ซึ่งจะต้องทำการทิ้งหินกันการกัดเซาะท้าย ปตร. รวมถึงประสานเร่งรัดหน่วยงานก่อสร้างในการแก้ไขพนังหน้า ปตร.แม่สอย การซ่อมแซมตลิ่งหน้าประตูระบายน้ำท่าวังตาล และการซ่อมแซมเขื่อนกั้นน้ำอ่างเก็บน้ำถ้ำห้วยลึก” นายเกื้อกูลฯ กล่าว

ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้หยิบยกปัญหาพนังด้านท้ายประตูระบายน้ำท่าวังตาล ต.ป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ มาถกกันที่ประชุม ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบก่อสร้าง เนื่องจากพนังด้านท้าย ปตร.ท่าวังตาล มีระดับต่ำกว่าพนังกันน้ำท่วมของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งโดยหลักการก่อสร้างประตูระบายน้ำ พนังด้านท้ายจะถูกออกแบบให้มีระดับต่ำกว่าพนังด้านหน้าประตูระบายน้ำ โดยแนวทางไขที่มีการชี้แจงในที่ประชุมจะวางกรอบการออกแบบก่อสร้างโดยจะทำพนังขึ้นมาอีกชั้นติดกับรั้วของโครงการ ปตร.ท่าวังตาล ให้มีระดับเท่ากับของกรมโยธาฯ ทั้งนี้ยังต้องคำนึงถึงพนังเดิมที่อาจได้รับผลกระทบอาจถูกน้ำกัดเซาะฐานรากได้

ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่ถูกหยิบยกมาถกกัน การแก้ไขปัญหาตระกอนทรายที่บางพื้นที่มีเป็นจำนวนมาก ขุดลอกเพียงวัน เพียงสัปดาห์ พอเกิดฝนตกในพื้นที่ตระกอนทรายไหลเข้ามาแทนที่ขุดออกในเวลาที่รวดเร็วมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม และ อ.อมก๋อย ซึ่งจะต้องมีการวางแผนแก้ไขปัญหาให้มีความยั่งยืนต่อไป

สถานการณ์น้ำที่จังหวัดเชียงใหม่ ปริมาณฝนสะสม อ.เมืองเชียงใหม่ ปี 2566 = 529.8 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 116.13 มม. คิดเป็น 18% (สะสมปี 2565 = 1,898 มม.) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ปริมาณน้ำ 184.225 ล้าน ลบ.ม. (69.52%) ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ปริมาณน้ำ 144.162 ล้าน ลบ.ม. (54.81%) คาดการณ์ปริมาณน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ ณ วันที่ 1 พ.ย. 66 = 429.09 ล้าน ลบ.ม. (81.26 % ของความจุเก็บกัก 528 ล้าน ลบ.ม.) อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 13 แห่ง ปริมาณน้ำ 81.14 ล้าน ลบ.ม. (58%) คาดการณ์ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้าขนาดกลาง 13 แห่ง ณ วันที่ 1 พ.ย. 66 = 62.092 ล้าน ลบ.ม. (60.34% ของความจุเก็บกักที่ 102.80 ล้าน ลบ.ม.) ในส่วนอาคารชลประทานในแม่น้าปิง ทั้งประตูระบายน้ำและฝาย ปริมาณน้ำเก็บกักหน้า ปตร. และฝาย สูงสุดเก็บได้ที่ 22.152 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันน้ำหน้า ปตร.และฝาย ราว 21.853 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 99 %