วันจันทร์, 6 พฤษภาคม 2567

เวที ไทย-เกาหลี ถก RID-KRC ครั้งที่ 7 ร่วมมือสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ดูงานอุโมงค์เกาหลีบอกในประเทศไม่ใหญ่ขนาดนี้ ก่อสร้างคืบกว่า 77% คาด 2570 สร้างเสร็จ

22 มิ.ย. 2023
451

เวที ไทย-เกาหลี ถก RID-KRC ครั้งที่ 7 กรมชลประทานเป็นเจ้าภาพ สานความร่วมมือเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืน ถกจบลงนามความร่วมมือ ชป. พาชม “อุโมงค์ผันน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง” เกาหลีทึ่งขนาดใหญ่แบบนี้ทั้งประเทศยังไม่มี รองอธิบดีกรมชลเผยอุโมงค์ก่อสร้างไปแล้วกว่า 77% คาด 2570 แล้วเสร็จ เชื่อจะสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับเชียงใหม่ได้

วันที่ 22 มิ.ย. 66 บริเวณอุโมงค์เข้า-ออก ที่ 2 (ADIT 2) โครงการเพิ่มปริมาณน้ำให้เขื่อนแม่กวงอุดมธารา หรือ โครงการอุโมงค์แม่แตง-แม่งัด-แม่กวง นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ประธานฝ่ายไทย และ Mr. Park Tae Seon ผู้อำนวยการบริหารการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร หน่วยงานพัฒนาชุมชนชนบทแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korean Rural Community Corporation : KRC) ประธานฝ่ายเกาหลี พร้อมคณะ ร่วมรับฟังผลการดำเนินงานก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และลงพื้นที่ไปดูงานและติดตามความก้าวหน้างานก่อสร้างโครงการอุโมงค์ฯ ช่วงแม่แตง-แม่งัด

เสร็จสิ้นการดูงานและติดตามความก้าวหน้างานก่อสร้างอุโมงค์ฯ นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 ของคณะกรรมการร่วมระหว่างไทย-เกาหลี ซึ่งมีตัวย่อว่า RID-KRC ซึ่งเป็นความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทาน ครั้งนี้ไทยเป็นเจ้าภาพเลือกมาประชุมที่เชียงใหม่เมื่อวานนี้ โดยมีการทำ MOU ในการให้ความร่วมมือระหว่างกันในสิ่งใดที่จะทำร่วมกันได้บ้าง อย่างเช่นทางกรมชลประทานขาดและขอให้ทางเกาหลีเพิ่มเติมททางด้านวิชาการให้ เช่น การทำนาเปียกสลับแห้ง การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาทางเกาหลีให้ความช่วยเหลือไทยเกี่ยวกับระบบโทรมาศ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปรานบุรี ปีหน้าก็จะประชุมที่เกาหลีในช่วงเดือนพฤษภาคม ทางกรมชลประทานก็จะไปร่วมประชุม นอกจากนี้ยังมีให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น การศึกษาความเหมาะสม การสำรวจด้านวิศวกรรม การออกแบบ การก่อสร้าง ตลอดจนถึงเรื่องการบริหารจัดการด้านแหล่งน้ำที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ในการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย

“สำหรับวันนี้เป็นการดูงานและการติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างฯ ซึ่งเป็นนวัตกรรมถือเป็นอุโมงค์แห่งแรกที่มีการขุดเจาะอุโมงค์ใหญ่ขนาดนี้ เพื่อให้ทางเกาหลีได้ดู ซึ่งทางเกาหลีก็บอกว่า ที่เกาหลียังไม่มีใหญ่ขนาดนี้ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำในสถานที่ที่น้ำเกินมายังที่ที่น้ำขาด น้ำเกินก็คือที่แม่แตง แม่ตะมาน ไปไว้ที่น้ำขาดคือ แม่กวง” นายทวีศักดิ์ฯ กล่าว

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าของการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง ขณะนี้การก่อสร้างในภาพรวมแล้วเสร็จไปราว 77% คากว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570 โดยโครงการจะผันน้ำจากแม่แตง จุดแม่ตะมาน ไปไว้ที่แม่งัดฯ และจากแม่งัดฯ จะส่งไปให้แม่กวงฯ ในแต่ละปีที่วางแผนกันไว้แต่ต้นจะผันน้ำส่วนเกินราวปีละ 160 ล้าน ลบ.ม. เพราะฉะนั้นน้ำส่วนเกินที่แม่แตงก็จะหายไปน้ำจำนวนนั้นก็จะไปเพิ่มให้ที่แม่กวงฯ จะสามารถเพิ่มปริมาณพื้นที่ชลประทานได้อีกราว 100,000 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

“ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการอุโมงค์ฯ ประการแรกคือ สามารถลดผลกระทบจากความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ลำน้ำแม่แตง ประการที่ 2 เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนของเชียงใหม่และลำพูนบางส่วน ที่สำคัญในการผันน้ำส่วนหนึ่งจะมีการส่งน้ำย้อนกลับมาให้กับทางแม่แตงด้านท้ายซึ่งจะผันกลับไปจากแม่งัดฯ จะเกิดประโยชน์กับประชาชนเชียงใหม่และจังหวัดท้ายๆ น้ำ ทั้งเรื่องอุทกภัย การบริหารจัดการน้ำเพื่อเกษตรกรรม รวมถึงการสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคให้กับประชาชนชาวเชียงใหม่และใกล้เคียงได้ด้วย” นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล กล่าว

ทั้งนี้ในวันที่ 21 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมร่วมที่โรงแรมวินทรี ซิตี้ รีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่ โดยฝ่ายไทยมี นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ประธานฝ่ายไทย นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน รองประธานฝ่ายไทย และ Mr. Park Tae Seon ผู้อำนวยการบริหารการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร หน่วยงานพัฒนาชุมชนชนบทแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korean Rural Community Corporation : KRC) ประธานฝ่ายเกาหลี ประชุมคณะกรรมการความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทาน ระหว่างกรมชลประทาน และหน่วยงาน KRC ครั้งที่ 7 (The 7th JSC Meeting) โดยมี ผู้แทนฝ่ายไทย ฝ่ายเกาหลี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ ซึ่งหัวข้อในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย การรายงานผลการฝึกอบรมด้วย Physical Model โครงการแบบจำลองทางกายภาพคลองระบายน้ำหลากบางบาลบางไทร บริเวณจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ความร่วมมือทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการบริหารจัดการน้ำชลประทาน ทั้งนโยบายทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (โดย KRC) การทำนาเปียกสลับแห้ง (โดยกรมชลประทาน) และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการฝึกอบรมร่วมกัน ทั้งนี้ภายหลังการประชุม ทั้ง 2 ฝ่าย ได้ลงนามรับรองรายงานการประชุม ซึ่งเป็นบันทึกความร่วมมือระหว่าง กรมชลประทาน และ KRC