วันจันทร์, 6 พฤษภาคม 2567

เขื่อนแม่กวงฯ เคาะส่งน้ำช่วงฤดูฝน 94 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น 9 รอบเวร เริ่ม 5 ก.ค. ย้ำใช้น้ำฝนเป็นหลัก

09 มิ.ย. 2023
4804

เขื่อนแม่กวงฯ ถกกลุ่มผู้ใช้น้ำ ผู้มีส่วนได้เสีย เคาะแผนส่งน้ำช่วงฤดูฝน 2566 วางแผนส่งให้ 94 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น 9 รอบเวร เริ่มวันที่ 5 ก.ค. สิ้นสุดต้น พ.ย. 66 ย้ำหากฝนตกลดการส่งน้ำ ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้ใช้น้ำร่วมกันประหยัดน้ำ พร้อมวางแผนเผื่อ 2-3 ปีข้างหน้า หากแล้ง อาจต้องงดปลูกข้าวนาปรัง ปี 2566/2567

วันที่ 7 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา ณ อาคารพลับพลาบริเวณสันเขื่อนแม่กวงอุดมธารา (คบ.แม่กวงฯ) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา จัดประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำ หรือ JMC และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาวางแผนการบริหารจัดการน้าฤดูฝนปี พ.ศ. 2566 โดยมี นายอัธยา อรรณพเพ็ชร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา (ผคบ.แม่กวง) เป็นประธานการประชุม ร่วมกับปลัดอำเภอผู้แทนนายอำเภอสันทราย ดอยสะเก็ด และสันกำแพง โดยมีวาระการประชุมเพียง 2 วาระสำคัญ คือ การรายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา และการขอความเห็นชอบแผนการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแม่กวงฯ ช่วงฤดูฝน 2566 ซึ่งที่ประชุมใช้เวลาในการนำเสนอและเปิดให้ผู้ร่วมประชุมได้แสดงควาเห็นโดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงจึงได้ข้อยุติ

หลังการประชุม นายอัธยา อรรณพเพ็ชร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมว่า ในการประชุม JMC ทั้งกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่ในระดับอำเภอได้ประชุมเมื่อ 2 มิถุนายน 2566 เพื่อหาข้อสรุปว่าจะมีการส่งน้ำตั้งแต่เมื่อไร สำหรับการประชุมวันนี้วันที่ 7 มิ.ย. เป็นการประชุมใหญ่ทั้ง JMC เอง กลุ่มผู้ที่มีส่วนได้เสีย การประปา ท้องที่ ท้องถิ่น อำเภอ เกษตรอำเภอ ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า เขื่อนแม่กวงอุดมธาราจะเริ่มส่งน้ำวันแรกคือ วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 จะเป็นการส่งน้ำรอบแรก ในทุกสายคลอง โดยจะเปิดน้ำ 12 วัน และปิด 7 วัน โดยกำหนดส่ง 9 รอบเวร รอบเวรที่ 2-9 จะเปิดน้ำ 7 วันและปิด 7 วัน รอบสุดท้ายจะแล้วเสร็จราวต้นเดือนพฤศจิกายน

“เขื่อนแม่กวงฯ มีระบบส่งน้ำ 3 สายหลักคือ คลองส่งน้ำฝั่งซ้าย ฝั่งขวา และคลองส่งน้ำสายกลางซึ่งเป็นระบบชลประทานราษฎร์เดิม แผนการส่งน้ำวางไว้ตลอดฤดูกาลนี้จะส่งน้ำราว 96 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณนี้เป็นแผนที่วางไว้ หากแต่ว่ามีกรณีฝนตกในพื้นที่ ก็จะลดปริมาณการส่งน้ำ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของกรมชลประทานที่เน้นการเพาะปลูกโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้ประหยัดน้ำชลประทานได้ อย่างปีที่ผ่านมามีการวางแผนการใช้น้ำไว้ 84 ล้าน ลบ.ม. แต่ส่งน้ำให้เกษตรกรแค่ 50 ล้าน ลบ.ม. ประหยัดไปได้ 34 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปีที่ผ่านมาปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย 10% สำหรับปี 2566 ณ เดือนนี้ปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยราว 46%” ผคบ.แม่กวง กล่าว

นายอัธยา อรรณพเพ็ชร กล่าวอีกว่า การวางแผนการใช้น้ำปีนี้ที่กำหนดไว้ที่ 94 ล้าน ลบ.ม. สำหรับพื้นที่เขี่อนแม่กวงฯ เองจะเทียบกับปี 2544 คาดว่าปริมาณน้ำเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2566 จะมีปริมาณน้ำอยู่ราว 130 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปีการเพระปลูกฤดูแล้ง ก็อาจจะขอความร่วมมือให้งดการปลูกข้าวนาปลัง ปีเพาะปลูก 2566/2567 ให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพื่อรองรับการวางแผนการใช้น้ำในอีก 2-3 ปีข้างหน้า หากเกิดสถานการณ์เอลนีโญ ทั้งนี้ก็อยู่ที่ปริมาณฝนในปีนี้และความร่วมมือของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งเรื่องนี้ต้องขอบคุณเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ผ่านมาได้ช่วยกันประหยัดน้ำ แม้จะมีปัญหาบ้างเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งทางชลประทานก็จะเข้าไปช่วยแก้ไข ทำให้มีการประหยัดน้ำได้ ณ วันนี้เขื่อนแม่กวงฯ มีปริมาณน้ำ 162 ล้าน ลบ.ม. เทียบกับปีที่แล้วมีเพียง 97 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น