วันอังคาร, 19 มีนาคม 2567

คป.เชียงใหม่ เตรียมรับฤดูฝน-ฝนทิ้งช่วง ขานรับ 6 แนวทาง กรมชลประทาน พร้อมทั้งคนทั้งเครื่องจักร

17 พ.ค. 2023
6163

ชลประทานเชียงใหม่ เตรียมพร้อมรับฤดูฝนและฝนทิ้งช่วง ขานรับนโยบาย 6 แนวทางของกรมชลประทาน เร่งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำและคลองส่งน้ำ และจัดอุปกรณ์เตรียมช่วยเหลือประชาชนพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย

นายชนม์ฐพัฒน์ เครือศรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ (คป.ชม.) กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์อุตุนิยมวิทยา ทราบว่า สถานการณ์ฝนตั้งแต่ต้นปีวันที่ 1 มกราคา – 10 พฤษภาคม ประเทศไทยทั้งประเทศยังมีค่าปริมาณฝนสะสมปี 2566 ต่ำกว่าค่าปกติ 36 เปอร์เซ็นต์ ค่าปริมาณฝนเฉลี่ย 155.4 มม. ซึ่งค่าปกติ 244.5 มม. ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว 139.9 มม. ในปี 64 – 65 เป็นปรากฎการณ์ลานีญา กำลังปานกลาง มีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติ คาดการณ์ปี 66 จะกลับมาเป็นเอลนีโญ กำลังอ่อนและอาจจะยาวไปจนถึงปี 67 สำหรับพายุ “โมคา” (MOCHA) จากพายุไซโคลนล่าสุดกำลังอ่อนและเปลี่ยนเป็นพายุดีเปรสชั่นแล้ว และกำลังจะมีกำลังลดลงตามลำดับ ทำให้ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น คลื่นลมมีกำลังแรง ขณะนี้กระแสลมเริ่มจะเปลี่ยนแล้วและกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝน โดยคาดการณ์ว่าฤดูฝนปี 66 นี้ของประเทศไทยจะเริ่มต้นปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. สิ้นสุดประมาณกลางเดือน ต.ค. 66 ซึ่งฤดูฝนในปีนี้จะน้อยกว่าปี 65 และจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 ซึ่งปีที่แล้วสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 14

สำหรับเดือน พ.ค. ค่าปริมาณฝนสะสมจะใกล้เคียงกับค่าปกติ เดือน มิ.ย. – ก.ค. ทุกภาคของประเทศจะมีฝนน้อยลงกว่าค่าปกติ จะเห็นว่ามีปริมาณฝนตกไม่สม่ำเสมอ อาจทำให้เกิดฝนทิ้งช่วงและส่งผลกระทบเรื่องของการขาดแคลนน้ำ และด้านการเกษตรนอกเขตชลประทาน ต้องมีการสำรองน้ำและบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ช่วงปลายเดือน ก.ค. จะมีพายุหมุนเขตร้อนเข้าสู่ประเทศไทย 1 – 2 ลูก มีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ และปลายเดือน ส.ค. – ก.ย. จะมีฝนตกชุก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดมีฝนตกหนักบางแห่ง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง แต่ก็ยังถือว่าน้อยกว่าค่าปกติ ส่วนเดือน ต.ค. ปริมาณฝนจะลดลงและจะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ทางภาคเหนือกับภาคอีสานปริมาณฝนจะลดลง ส่วนภาคกลาง ภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออก เขตปริมณฑล และภาคใต้ จะยังคงมีฝนตกอยู่

จากข้อมูลฝนและจากการประชุมพร้อมรับมอบนโยบายจาก นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา ได้ให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมชลประทานดำเนินการรับมือฤดูฝน และฝนทิ้งช่วงปี 2566 ซึ่งทางกรมชลประทานได้ดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน และตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา ซึ่งจากทั้งหมด 12 มาตรการจึงได้แปลงข้อมูลไปได้ 6 แนวทาง คือ 1. เก็บกักเต็มประสิทธิภาพ คือการบริหารจัดการน้ำต้นทุนให้อย่างเหมาะสม 2.คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะเรื่องอุทกภัยเพื่อเฝ้าระวังในเขตพื้นที่ลุ่มต่ำ ปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูก เพื่อรองรับน้ำหลาก 3. หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง การกำจัดวัชพืช สิ่งรุกล้ำลำน้ำ ตลอดจนการขุดลอกคูคลองต่างๆ 4. ระบบชลประทานเร่งระบาย มีการตรวจสอบ ซ่อมแซม ปรับปรุงระบบชลประทานให้ระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบทำนบหรือผนังกั้นให้อยู่ในความมั่นคงแข็งแรง 5. Standby เครื่องจักรเครื่องมือ มีการตรวจสอบให้พร้อมใช้งานและกระจายตามภูมิภาค รวมทั้งมีการซักซ้อมแผนช่วยชีวิต และ 6. การแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ แผนการบริหารจัดการน้ำ สถานการณ์น้ำให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพี่น้องเกษตรกร และประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่า 6 แนวทาง ทางกรมชลประทานได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดนำไปปฏิบัติ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำฝนช่วงฤดูฝนปี 2566 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด และตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้บอกว่า ให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลพี่น้องประชาชนให้เหมือนกับคนในครอบครัวเดียวกัน

สำหรับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ปัจจุบันทางโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 – 8 รวมถึงฝ่ายช่างกล ดำเนินการตรวจสอบอุปกรณ์ จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ พร้อมทั้งสำรวจเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ คลองส่งน้ำ หากพบจุดใดที่ต้องดำเนินการซ่อมบำรุงให้เร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน และหากมีสิ่งกีดขวางทางน้ำก็ให้ดำเนินการกำจัด หรือขุดลอก เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยซ้ำซาก มีการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนและเกษตรกรได้รับทราบถึงแนวทางการปฏิบัติเรื่องการรับมือกับฤดูฝนและฝนทิ้งช่วง หากพบจุดใดที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน หรือประสบปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำ ต้องการความช่วยเหลือก็สามารถประสานมายังโครงการชลประทานเชียงใหม่ได้ เพื่อจะได้นำเครื่องจักรเครื่องมือเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ทันที