วันศุกร์, 3 พฤษภาคม 2567

อธิบดีกรมอุตุฯ ย้ำผู้อำนวยการศูนย์ฯ ให้ข้อมูลสนับสนุนแก้ไฟป่า

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เรียก ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ และ ผอ.สถานีอุตุฯ 17 จังหวัดภาคเหนือ ถกซักซ้อมการใช้ข้อมูลสนับสนุนแก้ไฟป่า ฝุ่น PM2.5 อธิบดีเผยส่งข้อมูลรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนให้กรมควบคุมมลพิษใช้วางแผน พร้อมย้ำทุกศูนย์บูรณาการให้ข้อมูลสนับสนุนจังหวัด ชี้การคาดหมายสภาพอากาศระยะสั้นๆ ได้ผลมากกว่า เพราะ Climate Change เป็นตัวแปรสำคัญ

ที่ห้องประชุมโรงแรมฟูรามา เชียงใหม่ ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การประยุกต์ใช้ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเพื่อสนับสนุน การบริหารจัดการปัญหาฝุ่นละอองในอากาศในระดับพื้นที่” และ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “การพัฒนางานวิจัยด้านอุตุนิยมวิทยาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับ ทิศทางการพัฒนาในระดับสากล” โดยมีผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาจังหวัด ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมการประชุม

ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยามีภารกิจสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ประเด็นหนึ่งที่เป็นปัญหาอย่างมากในขณะนี้ก็คือ เรื่องฝุ่นละออง ที่ผ่านมาในปีนี้จะเห็นว่าพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัตินี้ จะเป็นเหมือนกันทั่วประเทศโดยเฉพาะประเทศไทยตอนบน เรื่องนี้กรมอุตุนิยมวิทยาให้ความสำคัญ ที่ผ่านมาได้ให้ความร่วมมืออย่างดีกับกรมควบคุมมลพิษ โดยส่งข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาทั้งที่เป็นทิศทางลม ความเร็วลม อุณหภูมิ ปริมาณฝน และการคาดการสภาพอากาศซึ่งเป็นปัจจัยเบื้องต้นให้กรมควบคุมมลพิษใช้วางแผนการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน

“ที่ผ่านมากรมอุตุนิยมวิทยาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการต่างๆ ที่บริหารจัดการไฟป่า ฝุ่นควัน จึงเป็นที่มาของการอบรมในวันนี้เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องจะได้นำข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาไปใช้ได้ต่อ โดยเลือกพื้นที่ภาคเหนือเป็นพื้นที่แรก เพราะว่า ภาคเหนือประสบปัญหาฝุ่นควันเป็นอันดับหนึ่ง” อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าว

ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการคาดการณ์สภาพอากาศจะมีทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายสามถึงหกเดือน ซึ่งระยะเวลาที่นานกว่านี้จะไม่นำมาใช้แม้ว่าจะคาดการณ์ล่วงหน้านานขนาดนั้นได้ แต่ด้วยสภาวอากาศในปัจจุบันจะเกิดภาวะ Climate Change เป็นปัจจัยที่จะทำให้สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันทำให้การนำข้อมูลที่มีการคาดการณ์ยาวนานมาใช้จะไม่ได้ผล เบื้องต้นการคาดการณ์สภาพอากาศรายสัปดาห์ หรือรายเดือน น่าจะนำมาใช้ในการวางแผนได้

การดำเนินการของกรมอุตุนิยมวิทยาในเรื่อง ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาได้ดำเนินการสนับสนุนข้อมูลตรวจวัดสภาพอากาศ เช่น ข้อมูลตรวจอากาศผิวพื้น ณ สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดต่างๆ (ความกดอากาศ อุณหภูมิ ลม ความชื้น ฯลฯ) ข้อมูลจากสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) ข้อมูลการตรวจอากาศชั้นบน – วิทยุหยั่งอากาศ ข้อมูลเรดาร์ ดาวเทียม ข้อมูลสถิติและข้อมูลต่างๆ เพื่อการศึกษาและวิเคราะห์สภาพอากาศ ข้อมูลจากแบบจำลองสภาพอากาศ ในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อการศึกษาและวิเคราะห์สภาพอากาศที่เกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายของฝุ่นละออง นอกจากนี้ยังได้พยากรณ์และคาดหมายสภาพอากาศเชิงตัวเลข โดยใช้แบบจำลองสภาพอากาศ เพื่อพยากรณ์ตัวแปรทางอุตุนิยมวิทยา ที่สัมพันธ์กับการสะสมของ PM 2.5 และการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ เช่น ค่าความสูงชั้นบรรยากาศ ดัชนีอากาศเพื่อคุณภาพอากาศ ค่าดัชนีความทรงตัวของอากาศ ทิศทางความเร็วลม อัตราการระบายของลม ซึ่งเป็นการพยากรณ์อากาศแบบเฉพาะเจาะจงพื้นที่ (พิกัด) โดยพยากรณ์อากาศประจำวันและแนวโน้มการสะสมของฝุ่น รายภาค รายจังหวัด พยากรณ์อากาศระยะนาน (รายเดือน ราย 3-6 เดือน รายฤดูกาล) เพื่อการวางแผนบริหารจัดการฝุ่นละอองและผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวของหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถติดตามการวิเคราะห์ดัชนีอากาศเพื่อคุณภาพอากาศ ได้ทางเว็บไซต์ http://ozone.tmd.go.th/wi_map.htm โดยจากเว็บไซต์นี้ยังสามารถติดตามคาดหมายแนวโน้มการระบายอากาศ และข้อมูลทิศทางและความเร็วลมได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังได้ติดตามข้อมูลจุดความร้อนที่เป็นสาเหตุหลักของ PM2.5 รวมทั้งการคาดหมายสภาวะอากาศและผลกระทบต่อการสะสมของฝุ่น pm 2.5.ในพื้นที่ต่างๆของประเทศไทยในช่วง 7 วันข้างหน้าเป็นรายภาค ซึ่งในบริเวณที่มีจุดความร้อนมักจะมีฝุ่นPM2.5 ถ้ามีฝนตก มีลมพัด ฝุ่นละอองก็จะสะสมในบริเวณนั้นน้อยลง