วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

“ท๊อป” ชี้ปีนี้สถานการณ์ไฟป่ารุนแรง ย้ำข้อมูลต้องไม่เป็นความลับแถลงผ่านสื่อให้ประชาชนได้รู้

“ท๊อป” ชี้ปีนี้สถานการณ์ไฟป่ารุนแรง ลั่น 17 จังหวัดภาคเหนือปฏิบัติงานดับไฟป่าต้องไร้รอยต่อ หนุนเปลี่ยนใบไม้จากการเผาให้เป็นเงิน ชู Fire D บริหารจัดการเชื้อเพลงได้ดี “ปลัด ทส.” จี้ดอยสุเทพ ดอยอินทนนท์ Hot Spot ต้องเป็นศูนย์ ย้ำศูนย์ไฟป่าฯ ส่วนหน้าต้องประชุมทุกวัน ข้อมูลต้องไม่เป็นความลับ ต้องแจ้งเตือนประชาชนทันทีที่มีสถานการณ์

วันที่ 6 ก.พ. 66 เวลา 08.30 น. ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมปฏิบัติการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปีงบประมาณ 2566 พร้อมทั้งมอบนโยบายและมอบสิ่งของเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่ทหารกองทัพภาคที่ 3 เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้ให้ข้อมูลและรับฟังนโยบายการปฏิบัติงาน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปีนี้คาดว่าสถานการณ์ไฟป่าจะรุนแรงอย่างมาก เนื่องจากสภาพความแห้งแล้งที่มีมากกว่า 2 ปีที่ผ่านมา สำหรับการเผาในพื้นที่ต่างๆ ไม่ใช่ไม่อนุญาตให้เผาเสียที่เดียว การเผาสามารถทำได้ แต่ต้องมีระเบียบ ว่าจะเผาเมื่อไหร่ ปริมาณแค่ไหน และเผาพร้อมกันหรือต่างกันอย่างไร ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ใช้แอพพลิเคชั่น Fire D เป็นเครื่องมือบริหารจัดการเรื่องนี้ หัวใจของการเผาในแต่ละช่วงขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ แรงกดอากาศ กระแสลม หากมีการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้งก็สามารถกระทำได้ระดับหนึ่ง แต่หากพร้อมใจกันเผาทั้ง 17 จังหวัด จะเป็นปัญหาดั่งที่ทุกคนเคยเจอกันมาแล้ว

“การเข้มงวดของผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือเป็นหัวใจสำคัญ การใช้กฎหมาย การใช้ระเบียบอย่างเคร่งครัด การประสานงานกับหน่วยงานทุกๆ หน่วยงาน การปฏิบัติงานในพื้นที่รอยต่อทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน การประสานงานทุกหน่วยงานมีความสำคัญไม่แพ้กัน งบประมาณเรามีอย่างเพียงพอ อย่างเช่นหน่วยงานกรมป่าไม้ ภารกิจและงบประมาณในการดับไฟป่าสงวนไม่มี ก็ต้องขอบคุณกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพราะภารกิจและงบประมาณได้โอนไปอยู่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ กว่า 2,000 แห่ง มีการจัดตั้งงบประมาณในการดับไฟป่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะสนับสนุนด้านความรู้ แนวทางการทำงาน การเก็บเชื้อเพลิง การบริหารจัดการเชื้อเพลิงตลอด 2 ปีที่ผ่านมา วันนี้มีบริษัทภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นจากแนวทางการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทำให้ภาคเอกชนและธุรกิจหลายๆ ส่วนเริ่มมีโรงงานจัดตั้งเพื่อรับซื้อวัสดุที่เหลือจากการเกษตรหรือวัสดุที่เหลือจากการเก็บออกมาจากพื้นที่ป่า ทำให้พี่น้องประชาชนเอาวัสดุเหล่านั้นแทนที่จะนำไปเผามาเปลี่ยนเป็นเงินนำมากระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าได้” รมว.ทส. กล่าว

“การดับไฟป่าพยายามจะดับให้ได้ภายในกลางวัน ในส่วนตอนกลางคืนก็มีหน่วยลาดตระเวน แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าคนที่จ้องจะเผากับคนที่จะป้องกันต่างกัน ความยากง่ายต่างกัน ก็ให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ในส่วนของกระทรวงทรัพยฯ หรือในส่วนของฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ทหารในการลาดตระเวน การมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การใช้โดรนจับความร้อนตอนนี้ก็มีเพิ่มขึ้นมามาก เป็นการป้องกันเหตุที่จะเพิ่มขึ้นมาตอนกลางคืน พี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วยกันเองหากพบเห็นบุคคลใดที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กับสถานการณ์ไฟป่าของเราก็แจ้งเจ้าหน้าที่ได้ หากไม่สามารถควบคุมไฟในพื้นที่ได้ หากมีผู้ไม่หวังดีก็อาจะมีการปิดพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ฯ” นายวราวุธฯ กล่าว

นายวราวุธ ศิลปอาชา กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน สิ่งที่ทำได้คือ การทำเรื่องร้องเรียนไปที่เลขาธิการอาเซียน โดยอธิปไตยแล้วไม่สามารถข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ ไม่สามารถสั่งการให้ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้อย่างในประเทศไทย แต่ในประเทศไทยต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมมือกัน ส่วนของต่างประเทศก็ต้องเร่งประสานไปยังเลขาธิการอาเซียน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษก็เร่งทำงานอยู่

ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒนา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประชุมเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพย์ฯ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการควบคุมไฟป่าในพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นเป็นกรณีพิเศษ ที่ห้อง War Room ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้าภาคเหนือ) กระทรวงทรัพยากรรมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 66 ที่ผ่านมา ได้แจ้งในที่ประชุมว่า พื้นที่พิเศษสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังอย่างสูงและจะต้องไม่ให้เกิดจุด Hot Spot คือ ดอยสุเทพ และดอยอินทนนท์ ศูนย์นี้เมื่อเปิดทำการแล้วก็ขอให้มีการประชุมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 3 สัปดาห์นับจากนี้ขอให้ประชุมทุกวัน เพื่อจะได้วิเคราะห์สถานการณ์แล้วแจ้งข้อมูลไปกับทางจังหวัดทราบเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการบริหารจัดการในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที ที่สำคัญจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ไปให้ประชาชนได้รับรู้เป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแจ้งเตือนคุณภาพอากาศต้องสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบโดยเร็วผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลรู้ทันสถานการณ์ ข้อมูลไม่ใช่ความลับที่จะต้องมาปิดบังต้องสื่อสารความจริงให้เกิดความตระหนักโดยรวดเร็ว