วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

อ.ฮอด เชียงใหม่ ลง MOU กับ อ.สบเมย แม่ฮ่องสอน ผสานร่วมมีอกันแก้ไขปัญหาไฟป่า

ประสานความร่วมมือจัดการไฟป่าหมอกควัน อ.ฮอด เชียงใหม่ ลง MOU กับ อ.สบเมย แม่ฮ่องสอน ผสานร่วมมีอกันแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะเขตป่าพื้นที่รอยต่อระหว่างอำเภอ

วันที่ 27 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ นายจักรินทร์ สิรินทรภูมิ นายอำเภอฮอด ทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อำเภอที่มีป่ารอยต่อระหว่างอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้ที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ประกอบด้วย นายอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ นายอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่า ชม.21 (บ้านแวน) หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ ที่ 6 นายก อบต.บ่อสลี นายก อบต.กองก๋อย กำนันตำบลบ่อสลี และ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3,5,6 ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด กำนันตำบลกองก๋อย และ ผู้ใหญ่บ้าน หมูที่ 1,7 ตำบลกองก๋อย อำเภอสบเมย

สำหรับบันทึกข้อตกลงฯ ระบุถึงเจตนารมณ์ของความร่วมมือว่า ทั้งอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมดำเนินการห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ในช่วงเวลาที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 กำหนด ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2566 ระยะเวลา 75 วัน นอกจากนี้ยังจะร่วมกันกำหนดแนวทางการบูรณาการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM.2.5) ร่วมกันในเขตพื้นที่ป่ารอยต่อ โดยกำหนดให้มีการจัดประชุมหารือแนวทางการทำงานร่วมกัน รวมทั้ง มีการจัดกิจกรรมร่วมกัน ได้แก่ การลาดตระเวน การทำแนวกันไฟ และหากเกิดไฟป่าในพื้นที่รอยต่อต้องมีการบูรณาการปฏิบัติงานดับไฟร่วมกัน รวมทั้งจัดให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ วัตกรรม และเทคโนโลยีร่วมกัน เช่น การใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ ทางการเกษตร เศษกึ่งไม้ใบไม้ และการใช้แอปพลิเคชั่น เพื่อเชื่อมโยงกลไกความร่วมมือกับทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ทั้ง 2 อำเภอ ยังให้มีการถ่ายทอดข้อมูลสถิติต่างๆ สร้างความรับรู้สถานการณ์จุดความร้อน (Hotspot) และค่าคุณภาพอากาศ(PM2.5) ร่วมกันเพื่อสามารถเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงทีและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีการเข้มงวดแหล่งกำเนิด (PM2.5)แหล่งอื่นๆ เช่นรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม และเขตก่อสร้าง เพื่อควบคุมไม่ให้ค่าคุณภาพทางอากาศ (PM2.5)เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินค่ามาตรฐาน จะได้ประสานความร่วมมือระหว่างกันและจะสนับสนุนการดำเนินงาน ตลอดจนติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นระยะอีกด้วย