“ระบบสมาร์ทไมโครกริด” ที่โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลางเยี่ยม แก้ไฟฟ้าดับ 74 ครั้ง ประหยัดกว่า 1.5 แสนบาท

สนพ. ลงพื้นที่เยี่ยมชม “ระบบสมาร์ทไมโครกริด” แก้ปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง ระบบที่โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลางช่วยแก้ไฟฟ้าดับในโครงการหลวงดอยอินทนนท์ได้ 74 ครั้ง ลดการเดินเครื่องสำรองไฟฟ้าดีเซลประหยัดได้กว่า 1.5 แสนบาท พร้อมกับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 11 ตัน

วันที่ 23 ธันวาคม 2565 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน นำโดย นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ร่วมด้วย นายวรพจน์ วรพงษ์ ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล นายปรัชญา ศรีโจ หัวหน้าแผนกโรงไฟฟ้าเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล รศ.ดร.สุทธิชัย เปรมฤดีปรีชาชาญ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายจตุพร ปารมี หัวหน้าสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พร้อมคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการระบบสมาร์ทไมโครกริดบ้านขุนกลาง บริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและเป็นถิ่นทุรกันดาร การคมนาคมไม่สะดวกและยากต่อการวางระบบสาธารณูปโภค ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชุมชนให้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ สนพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย มุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการจัดการทรัพยากรในระบบจำหน่ายไฟฟ้า และในพื้นที่โครงการหลวงดอยอินทนนท์ ในปัจจุบัน มีการติดตั้งสายส่งไฟฟ้าจากพื้นราบแล้ว แต่ด้วยสภาพพื้นที่เป็นป่าเขาหากเกิดฝนตกหนักหรืออุทกภัยจะส่งผลกระทบต่อระบบสายส่งและเกิดไฟฟ้าดับเป็นเวลานานส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานต่างๆ ในโครงการหลวง รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน กฟผ. จึงได้ติดตั้งระบบสมาร์ทไมโครกริดบ้านขุนกลาง พร้อมแบตเตอรี่ประเภท Li-Ion ขนาด 100 kW/150Kwh. สามารถช่วยแก้ปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับในพื้นที่ได้อย่างน้อย 95% เป็นเวลานานกว่า 8 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง

“ระบบสมาร์ทไมโครกริดนี้ มีระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ซึ่งเปรียบเสมือน Power Bank ที่ช่วยกักเก็บพลังงานที่ได้นำพลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำและแสงอาทิตย์มาสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็น ลดความผันผวนของระบบไฟฟ้าภายในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ สนพ. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2022) ซึ่งระบบกักเก็บพลังงานถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ตามแผน ดังนั้นระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่จะช่วยแก้ไขปัญหาความไม่เสถียรของพลังงานทดแทนอย่างลงตัวและช่วยส่งเสริมระบบไมโครกริด ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้าขนาดเล็กที่รวมเอาระบบผลิตไฟฟ้าโหลดไฟฟ้า ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานและระบบควบคุมอัตโนมัติเข้าไว้ด้วยกัน โดยสามารถลดภาระในการบริหารจัดการไฟฟ้าและต้นทุนของระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก ทำให้ระบบมีความมั่นคงขึ้น” ผอ.สนพ. กล่าว

นายวัฒนพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่มีความสำคัญต่อเทคโนโลยีพลังงานเป็นอย่างมาก โดยจะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและระบบสมาร์ทกริด นอกจากนี้แบตเตอรี่ยังเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งภาครัฐได้เตรียมการออกมาตรการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและการใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการใช้พลังงานสะอาดตามกรอบแผนพลังงานชาติได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้การดำเนินโครงการระบบไมโครกริดของโรงไฟฟ้าบ้านขุนกลางสามารถแก้ปัญหาไฟฟ้าดับในพื้นที่โครงการหลวงดอยอินทนนท์ได้ ซึ่งสามารถลดไฟฟ้าดับได้จำนวน 74 ครั้ง รวมเป็นระยะเวลา 138 ชั่วโมง 30 นาที สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายค่าเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องจักรสำรองไฟฟ้าดีเซลโดยลดการใช้น้ำมันดีเซลได้ 4,432 ลิต ประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อน้ำมันราว 154,854 บาท นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าบำรุงรักษาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองดีเซลลงได้อีก 50% คิดเป็นเงินราว 10,000 บาท ในทางอ้อมยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองดีเซลในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้อีกราว 11.904 ตัน