วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

“ชุดสูบน้ำโซล่าเซลล์แบบเคลื่อนที่” คป.ลำพูน วางแนวคิดนำใช้พื้นที่ห่างไกล

02 ก.ย. 2022
1043

คป.ลำพูน จัดสาธิตชุดสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ วางแนวคิดนำมาใช้ในพื้นที่ห่างไกล ประสบภัยแล้ง เครื่องอัจฉริยะใช้พลังงานได้ 3 ระบบ สั่งควบคุมทางไกลผ่านแอพบนมือถือ

บริเวณฝายชลขันธ์พินิต (ฝายแม่ปิงเก่า) ต.ดอนแก้ว อ.สารภี จ.เชียงใหม่ นายสุภรณ์วัฒน์ สุรการ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำพูน (ผคป.ลำพูน) สำนักงานโครงการชลประทานที่ 1 กรมชลประทาน จัดการสาธิตการใช้ชุดสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ (SMART HYBRID MOBILE SOLAR PUMP) ซึ่ง บริษัท ไซล่าร์ คอลเลคเตอร์ จำกัด นำมาจัดแสดงและบรรยายลักษณะประโยชน์ การนำไปใช้งาน รวมถึงระบบการทำงาน ประสิทธิภาพของชุดสูบและการประยุกต์ใช้งาน โดยมี นายวุฒิชัย รักษาสุข รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมด้วยผู้อำนวยการส่วน ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่โครงการชลประทานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมรับฟังการบรรยายและสาธิตการใช้ชุดสูบน้ำฯ

นายสุภรณ์วัฒน์ สุรการ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่นำมาสาธิตในวันนี้เป็นชุดสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ โดยมีแนวคิดที่จะน้ำชุดสูบน้ำนี้ไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ พื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือทางเกษตรกรในพื้นที่ ทั้งช่วงที่เกิดอุทกภัยหรือมีปัญหาภัยแล้ง โดยประชาชนหรือเกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก ซึ่งปกติหากมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำก็จะมีค่าใช้จ่ายคือ ค่าน้ำมัน หรือน้ำมันหล่อรื่น หากใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ก็จะลดค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันลงไปได้

“สำหรับพื้นที่ จ.ลำพูน ที่ยังคงประสบปัญหาภัยแล้ง ยังน่าเป็นห่วงอยู่ คือ พื้นที่ อ.เมืองลำพูน อ.ลี้ และ อ.ทุ่งหัวช้าง รวมถึงพื้นที่ที่ห่างไกล ยังขาดอุปกรณ์ เครื่องจักรเครื่องมือขนย้ายเข้าไปลำบาก หากใช้ชุดสูบน้ำนี้ส่งเข้าไปยังพื้นที่ก็จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น” ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำพูน กล่าว

ด้าน นายศักตยา วรรณฤมล หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและบำรุงรักษาระบบชลประทาน โครงการชลประทานลำพูน (คป.ลำพูน) กล่าวเพิ่มเติมว่า ชุดสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ชุดนี้เป็นแบบเคลื่อนที่ โดยใช้แผงโซล่าเซลล์ทั้งหมด 17 แผง เป็นต้นกำลังให้กลับเครื่องสูบน้ำขนาด 4 กิโลวัตต์ ซึ่งสูบน้ำได้อยู่ที่ 90 ลบ.ม. ต่อชั่วโมง ซึ่งหากคิดคร่าวๆ ซึ่งชุดนี้เหมาะกับการใช้งานเพื่อบรรเทาการเกิดอุทกภัย ภัยแล้ง และช่วยสนับสนุนการแก้บรรเทาปัญหาไฟป่าได้ แต่ที่เหมาะที่สุดจะใช้ในการแก้ปัญหาพื้นที่ภัยแล้ง เพราะช่วงเวลาที่ที่เกิดภัยแล้งนั้น แดดจัด มีแสงแดดตลอดทั้งวัน

“หากไม่มีแสงแดดหรือแสงน้อย เครื่องชุดนี้สามารถปรับไปใช้งานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ โดยอาศัยน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการเดินเครื่อง กำลังการสูบที่ 90 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง หากน้ำท่วมหมู่บ้านขนาดพื้นที่ 10 ไร่ เครื่องสูบที่ 90 ลบ.ม. ต่อชั่วโมง หากใช้ทั้งโซล่าและน้ำมัน น่าจะใช้เวลาประมาณ 2 วัน สถานการณ์ก็น่าจะคลี่คลายลง ส่วนทางด้านเทคนิคนั้น ชุดสูบน้ำชุดนี้สามารถเลือกแหล่งพลังงานได้ทั้งพลังงานจากโซล่าเซลล์ พลังงานจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ติดตั้งมากับชุด และใช้พลังงานจากไฟฟ้าทั่วไป จ่ายพลังงานเพื่อให้เครื่องสูบน้ำเดินเครื่องได้ ที่สำคัญอีกประการ ชุดสูบน้ำนี้สามารถควบคุมผ่านระบบหรือแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์มือถือหรือแทปเลตได้ด้วย ทั้งควบคุมการเปิดปิด ปริมาณน้ำที่สูบส่ง รวมถึงค่าความเข้มแสงที่แผงโซล่าเซลล์และส่งสัญญานเตือนได้ด้วย” นายศักตยา วรรณฤมล กล่าว