วันอังคาร, 23 เมษายน 2567

เหมือนเกิดใหม่ “ฅนอมก๋อย” ได้บัตรประชาชน

100 ชีวิต บุคคลที่สูงอมก๋อย สุดดีใจ ได้รับบัตรประจำตัวประชาชนครั้งแรกในชีวิต กรมการปกครอง ร่วม DSI นิติวิทยาศาสตร์ บูรณาการหลายภาคส่วนเป็นครั้งแรก “ทำให้ประชาชนทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น” น้องนักเรียนวัย 16 ปี รับบัตรน้ำตาคลอเบ้า เชื่อก้าวต่อไปทุกอย่างในชีวิตจะดีมากยิ่งขึ้น คณะทำงานสำนักนายกฯ เตรียมข้อมูลชงหางบขยายพื้นที่ช่วยประชาชน

วันที่ 23 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมอำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง (อปค.) นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ประธานในพิธีมอบบัตรประจําตัวประชาชนตามโครงการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ให้กับกลุ่มประชากรที่ตกหล่นจากระบบทะเบียนราษฎรในพื้นที่อำเภออมก๋อย โดยมี นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้บริหารกรมการปกครอง ผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมพิธี โดยมี นายประสงค์ หล้าอ่อน ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวรายงาน

อธิบดีกรมการปกครอง ได้กล่าวว่า โครงการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ในพื้นที่ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการบูรณาการในการทำงาน ของจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ อำเภออมก๋อย เครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย (คสช.) องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย กรมการปกครอง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม และมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล เพื่อแก้ไข ปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลสัญชาติไทยที่ไม่มีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้กระบวนการดำเนินการเริ่มตั้งแต่จัดเจ้าหน้าที่มาช่วยดำเนินการค้นหาและนําคนไร้รัฐไร้สัญชาติเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ การนําฐานข้อมูล ทะเบียนราษฎรเชื่อมโยงทำแผนผังครอบครัว การบันทึกสอบสวน การตรวจพิสูจน์สาร พันธุกรรม DNA จนถึงขั้นตอนการเพิ่มชื่อรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน(ท.ร.14) และจัดทำบัตรประจําตัวประชาชนเสร็จเรียบร้อย จึงได้จัดทำพิธีมอบบัตรประจําตัว ประชาชนให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 100 ราย โดยแยกเป็นงบประมาณกรมการปกครอง 50 ราย งบประมาณกรมสอบสวนคดีพิเศษ 50 ราย

นายธนาคม จงจิระ อธิบดี ปค. ย้ำว่า ภารกิจเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายใน งานควบคุม ดูแลชาวเขาและชนกลุ่มน้อย การแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ตลอดจนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและเป็นไปตามแนวทางการขับเคลื่อนโครงการสำคัญของกรมการปกครองประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (10 Flagships to DOPA All Smart 2022) ภายใต้แนวคิด “หน้าที่ของฝ่ายปกครอง ทำให้ประชาชนทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น”

ด้าน นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่ผ่านมาเคยเกิดคดีสวมสิทธิ์บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรปลอม เป็นที่มาของแนวคิดในการป้องกันการเกิดปัญหา จึงบูรณาการหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกันในการที่จะนำจุดเด่นของแต่ละองค์กรมาผนวกกัน DSI ถนัดในเรื่องการสอบสวน เช่นการวิเคราะห์เชื่อมโยงพยานหลักฐาน ก็นำไปสู่การสืบค้นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติเพื่อให้ได้ความชัดเจน ต่อมาก็จะนำเข้าสู่กระบวนการตรวจ DNA หรือสารพันธุกรรม ซึ่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มารับดำเนินการต่อในเรื่องนี้

นางสาวสุปรี วินุตวโรจต์ หนึ่งในผู้ที่ได้รับบัตรประจำตัวประชาชนตามโครงการนี้ อายุ 16 ปี ภูมิลำเนาอยู่บ้านเลอ-กรา หมู่ที่ 15 ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย ซึ่งหมู่บ้านอยู่ห่างจากตำบลแม่ตื่นไปอีกราว 40 กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภออมก๋อยราว 100 กว่ากิโลเมตร ซึ่งเดินทางมารับบัตรฯ ดีใจทั้งน้ำตาคลอเป้า เปิดเผยว่า ที่บ้านเป็นครอบครัวใหญ่ แม่มีพี่น้องมากถึง 7 คน แต่ผู้นำหมู่บ้านคนเก่าไม่ได้ให้ความสนใจที่จะช่วยทำให้มีบัตรประชาชน มีลุงเพียงคนเดียวที่มีบัตรประชาชนเพราะภรรยามีบัตรประชาชน ตลอดเวลาที่เรียนหนังสือเป็นปัญหามาโดยตลอด เพื่อนได้รับการให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ตัวเองมักจะไม่ได้ ขณะนี้เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 การเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับประถม อาศัยเรียนจาก กศน. พอถึงชั้น ป.5 มาเรียนต่อชั้น ป.6 ที่โรงเรียนแม่ตื่นน้อย จบชั้น ป.6 เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนแม่ตื่น จนถึงชั้น ม.3 แล้วผู้อำนวยการโรงเรียนแม่ตื่นออกหนังสือรับรองให้ ได้มาเรียนต่อที่โรงเรียนสองแคววิทยาคม ที่อำเภอดอยหล่อ

“หนูว่าบัตรประจำตัวประชาชนนั้น สำคัญมากเลย ถ้าไม่มีไปไหนไม่ได้ ออกนอกจังหวัดยังไม่ได้ จะไปทัศนศึกษาหรือไปเที่ยวแต่ละทีต้องมีใบรับรองซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนช่วยประสานทำให้ก่อนจึงจะไปเที่ยวไปทัศนศึกษาได้ มีอยู่ครั้งไปเที่ยวทะเลจันทบุรีก็นั่งเครื่องบินไปไม่ได้ เพราะไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนต้องนั่งรถทัวร์ไปคนเดียวกับครู ตอนนี้ได้บัตรฯ แล้วดีใจมากเลย ตอนแรกที่ได้ก็ทำตัวไม่ถูก มีความรู้สึกว่าสั่นๆ ตอนนี้เชื่อว่าอะไรหลายๆ อย่างดีขึ้น จะได้อะไรง่ายๆ มากขึ้น ตอนนี้จะเซ็นก็จะได้มีนามสกุล ก่อนนั้นก็กลัวถูกล้อว่าเป็นต่างด้าว ทั้งที่เป็นคนไทย เกิดเมืองไทยทั้งครอบครัว” นางสาวสุปรีฯ กล่าว

ด้าน นายนรพล ตันติมนตรี คณะทำงานสำนักงานเลขานุการสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาสังเกตการณ์การมอบบัตรประจำตัวประชาชน กล่าวว่า วันนี้รู้ว่าการจะได้มาซึ่งสัญชาติจะได้บัตรประจำตัวประชาชนนั้นมีค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์สัญชาติ ค่าตรวจ DNA รายละ 8,500 บาท เชื่อว่าเป็นปัญหาสำคัญมากสำหรับประชาชนที่อยากจะมาพิสูจน์สัญชาติแต่ไม่มีเงิน วันนี้ทั้งกรมการปกครองและ DSI ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็ได้มาแค่ครึ่งหนึ่งของประชาชนในพื้นที่อมก๋อย ในหน้าที่ที่ทำอยู่ก็จะช่วยส่งข้อมูลให้กับรัฐบาในการที่จะหาช่วยหางบประมาณ ผลักดัน อีก 100 กว่ารายให้ได้มีบัตรประชาชน แต่เชื่อว่ายังมีอำเภออื่นๆ อีกที่มีปัญหาเช่นนี้ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาหลักที่จะช่วยกันทำให้ทุกคนมีบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งหากมีบัตรก็สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐได้ อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนพิการ และอีกหลายโครงการที่ประชาชนเหล่านี้จะเสียสิทธิ ขาดโอกาสนี้ไป