วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

“120 ปี กรมชลประทาน” เปิดงานพร้อมกันทั่วประเทศ ชป.1 จัดเต็ม “ร้อยซาวปี๋ เด่นสะหลี ชลประทานล้านนา”

13 มิ.ย. 2022
801

สำนักงานชลประทานที่ 1 ร่วมเปิดงาน “120 ปี กรมชลประทาน” พร้อมกันทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ พร้อมกับประกอบพิธีทำบุญ จัดนิทรรศการ แจกพันธุ์กล้าไม้ นิทรรศการ “ร้อยซาวปี๋ เด่นสะหลี ชลประทานล้านนา” จัดต่อเนื่อง 13-15 มิ.ย.

วันที่ 13 มิ.ย. 65 เวลา 07.00 น. ที่สำนักงานชลประทานที่ 1 ถนนทุ่งโฮเต็ล อ.เมืองเชียงใหม่ นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 นำข้าราชการ ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ พนักงานในสังกัดสำนักงานชลประทานที่ 1 ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในวันครบรอบ 120 ปี กรมชลประทาน จากนั้นทางคณะได้ร่วมกันกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามจุดต่างๆ ภายในสำนักงานชลประทานที่ 1

ต่อมาเวลา 10.00 น. ที่กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน 120 ปี กรมชลประทาน 6 รัชกาล งานเพื่อแผ่นดิน โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 15 มิถุนายน 2565 ซึ่งพิธีเปิดมีการถ่ายทอดสัญญาณจากอาคาร 99 ปี ม.ล.ชูชาติ กำภู กรมชลประทาน มายังสำนักงานชลประทานที่ 1 โดย นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้นำคณะผู้บริหารในสังกัดกรมชลประทาน เจ้าพนักงาน และลูกจ้าง เข้าร่วมพิธีเปิด พร้อมจัดนิทรรศการ “ร้อยซาวปี๋ เด่นสะหลี ชลประทานล้านนา” โดยแสดงผลงานของโครงการชลประทานต่างๆ ให้ความรู้เกี่ยวกับงานชลประทาน ประวัติความเป็นมา ซึ่งมีการดำเนินการมานานถึง 120 ปี แล้ว สำหรับการจัดนิทรรศการเป็นการให้ความรู้งานชลประทาน ให้คำแนะนำเพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำทั้งด้านการเกษตร การปรับปรุงพื้นที่เพื่อกักเก็บน้ำ การใช้น้ำอย่างมีคุณค่า รวมทั้งนวัตกรรมใหม่ที่เข้ามาช่วยให้ประหยัดพลังงานนำมาใช้ควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดต้นทุนในด้านการเกษตร และนวัตกรรมอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากความรู้แล้ว ยังได้รับมีของฝากเล็กๆ น้อยๆ ที่นำมาแจก และมีพันธุ์กล้าไม้ที่อยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชนจาก ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาแจกในงานด้วย

นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวว่า สำหรับวันครบรอบ 120 ปี กรมชลประทาน ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานมากถึง 6 รัชกาล โดยในยุคพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชการที่ 5 ทรงให้สถาปนากรมขึ้นมากรมหนึ่งชื่อว่า กรมคลอง ด้วยว่าประเทศไทยเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมาระบบชลประทานเกิดจากคลองส่งน้ำแทบทั้งหมด เมื่อเข้าสู่รัชสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อเกิดคลองส่งน้ำแล้ว ระบบการกระจายน้ำก็ต้องเกิดขึ้นด้วย จึงมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำหรือประตูทดน้ำ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้เปลี่ยนชื่อกรมครองมาเป็น กรมทดน้ำ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2457 พอถึงรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 7 นอกจากการที่มีคลอง การทำประตูทดน้ำ ได้มีการสร้างระบบการกระจายน้ำในพื้นที่ จึงได้เปลี่ยนชื่อจากกรมทดน้ำ เป็น กรมชลประทาน มาจนถึงทุกวันนี้ กระทั่งเข้าสู่ยุคที่กรมชลประทานมีงานพระราชดำริอย่างมากมายที่สุดคือ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ที่มีความสนพระทัยได้ศึกษาเรื่องชลประทาน ทรงคิดโครงการพระราชดำริแห่งแรกขึ้นชื่อว่า โครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรก เมื่อปี 2506 ต่อจากนั้นได้ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทาน ดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศมากถึง 2,399 โครงการ

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมชลประทานคือหน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำให้กับประชาชนทั้งประเทศ ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำให้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบน้ำแล้ว ยังรวมถึงการแก้ไขปัญหาทั้งภัยแล้งและอุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนด้วย อย่างไรก็ตาม ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่กรมชลประทานต้องการจะขับเคลื่อนงานให้สำเร็จลุล่วง รวมถึงการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบมากขึ้น จึงเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะไม่มีวันขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงจะสามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้รักษาระบบนิเวศ ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมได้อย่างแน่นอน

ด้าน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 120 ปี แห่งการกำเนิดและวิวัฒนาการงานชลประทานในประเทศไทย นับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ผู้ก่อตั้งกรมคลอง เปลี่ยนเป็นกรมทดน้ำในรัชกาลที่ 6 และเป็นกรมชลประทานในรัชกาลที่ 7 การพัฒนางานชลประทานในประเทศไทยได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ 9 ที่งานด้านการชลประทานได้รับการพัฒนาอย่างกว้างขวางครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาศึกษาและก่อสร้าง โครงการชลประทานประเภทและขนาดต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศ และภูมิสังคม รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในการอุปโภคบริโภค การเกษตร และกิจกรรมอื่น ๆ มีโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริในทุกพื้นที่มากกว่า 2,000 โครงการ