วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

(คลิป)…คป.ลำพูน เปลี่ยน “ฝายหนองสลีก” เป็นฝายพับได้ คาดพื้นที่เกษตรไม่ขาดแคลนน้ำ

02 มิ.ย. 2022
718

ชลประทานลำพูน เปลี่ยน “ฝายหนองสลีก” เป็นฝายพับได้ เปิดปล่อยน้ำด้วยปลายนิ้ว เสริมสันฝายได้น้ำเพิ่มกว่า 3 แสน ลบ.ม. เชื่อพื้นที่เกษตรกว่า 1.24 หมื่นไร่ไม่ขาดแคลนน้ำ

ฝายหนองสลีก เป็นโครงกรชลประทานขนาดกลาง ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2542 เป็นฝายทดน้ำกั้นแม่น้ำปิง เป็นแนวตรงขวางลำน้ำ ความยาวสันฝาย 139.60 เมตร ความสูงฝาย 3.80 เมตร ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ปรับปรุงให้เป็นฝายยาง 5 ช่องๆ ละ 24.00 เมตร ยาวรวม 120 เมตร และประตูระบายทรายขนาด 5.00 เมตร 4 ช่อง คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายฝายหนองสลีกยาวประมาณ 13.10 เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 12,400 ไร่

จากการใช้งานฝายยางมาอย่างต่อเนื่อง ตัวฝายเกิดชำรุด เสียหายโดยสิ้นเชิง 2 ช่อง ส่วนอีก 3 ช่อง ไม่สามารถควบคุมและใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน และไม่สามารถทดน้ำเพื่อส่งให้พื้นที่เกษตรกรรมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในช่วงฤดูแล้ง

ปี 2564 กรมชลประทานได้จัดสรรงบประมาณสำหรับปรับปรุงฝายหนองสลีก โดยปรับจากฝายยางให้เป็นฝายพับได้ พร้อมด้วยระบบการควบคุมการบริหารจัดการน้ำที่ทันสมัย…ควบคุมด้วยปลายนิ้ว ผ่านมือถือ

นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 (ผส.ชป.1) กล่าวถึงฝายหนองสลีก ว่า ตัวสถานีควบคุมฝายหนองสลีกเป็นที่ทำการควบคุมตอน 2 ของโครงการชลประทานลำพูน เดิมเป็นฝายยางติดตั้งไว้ตามช่องต่างๆ การทำงานจะใช้การอัดน้ำเข้าไปให้ยางพองตัวขึ้นเพื่ออัดน้ำเหนือฝายให้มีระดับสูงขึ้นเพื่อทดน้ำเข้าคลองส่งน้ำซึ่งอยู่ด้านหน้าอาคาร ต่อมาตัวที่เป็นยางเกิดชำรุดเสียหาย โครงการชลประทานลำพูนจึงทำฝายระบบใหม่เป็นฝายพับได้เข้ามาทดแทนฝายยาง

“ระบบใหม่ ฝายพับได้ ตัวฝายมีคานแข็งมีระบบยกเพื่อปรับบานขึ้นลงโดยใช้ไฮดรอลิก ควบคุมสั่งการด้วยระบบ SCADA ซึ่งสั่งการได้ทั้งจากหน้าจอในห้องควบคุมและสั่งการจากมือถือ วิธีการจัดการก็คือ หากพื้นที่หน้าฝายต้องการน้ำก็จะยกระดับน้ำหน้าฝายขึ้นมากเท่าไรก็จะสั่งให้ยกบานขึ้นสูงในระดับที่ต้องการ ในทางกลับกันพื้นที่ท้ายน้ำต้องการน้ำก็จะสั่งการให้ปรับบานให้พับลงเพื่อให้น้ำไหลผ่านส่งไปยังพื้นที่ท้ายน้ำ” นายสุดชายฯ กล่าว

“ระบบฝายพับได้ จะมีความมั่นคงกว่า ฝายเดิมคือ ฝายยาง ฝายยางจะมีจุดอ่อนคือ การรั่ว หากอัดน้ำเข้ามีการรั่วมีการแตก เจอแดดเจอฝนอาจกรอบ ส่วนฝายพับได้เป็นโลหะ มีความแข็งแรง มีความทนท้านและใช้งานได้ดีกว่ามาก ทุกปีก็จะมีการบำรุงรักษาให้ได้มาตรฐานที่กำหนดไว้ ขณะนี้การก่อสร้างและติดตั้งระบบแล้วเสร็จสมบูรณ์ โครงการชลประทานได้รับมอบงานจากผู้รับจ้าง สามารถที่จะบริหารจัดการฝายหนองสลีกตามระบบใหม่ได้แล้ว พร้อมกันนี้บริษัทผู้รับเหมายังจะต้องดูแลต่อเนื่องไปอีก 2 ปี เป็นช่วงที่รับประกันผลงาน จากนั้นก็จะทำเป็นรายงานเกี่ยวกับค่าบำรุงรักษาส่งให้ชลประทานลำพูนเพื่อตั้งเป็นงบประมาณในการดูแลต่อไป” ผส.ชป.1 กล่าว

ด้าน นายสุภรณ์วัฒน์ สุรการ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำพูน (ผคป.ลำพูน) กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการฝายหนองสลีกมีระบบส่งน้ำยาว 13.1 กิโลเมตร พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 14,200 ไร่ ฤดูแล้งที่ผ่านมาการบริหารจัดการน้ำของฝายหนองสลีกโดยการแบ่งเป็นรอบเวร โดยแบ่งออกเป็น 3 รอบเวร ตามลักษณะของพื้นที่ช่วงต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผลการบริหารจัดการในฤดูแล้งที่ผ่านมาไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่

“ฝายหนองสลีก การระบายน้ำสูงสุดระบายได้ที่ 1,200 ลบ.ม. ต่อวินาที โดยแบ่งเป็นประตูระบายทราย 4 ช่อง สามารถระบายน้ำได้ 400 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนบานฝายพับได้ 5 ช่อง สามารถระบายน้ำได้ 800 ลบ.ม.ต่อวินาที สามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ของทั้งเชียงใหม่ และลำพูน ตัวฝายหนองสลีกเป็นจุดที่ตั้งท้ายจุดบรรจบระหว่าง แม่น้ำกวง แม่น้ำทา และแม่น้ำปิง อดีตที่ผ่านมาแม่น้ำทาสร้างปัญหาให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ แม่น้ำทามีลักษณะพิเศษ เป็นที่รู้กันว่า น้ำทามาเร็วไปเร็ว เพียง 7-8 ชั่วโมง จากต้นน้ำก็จะถึงปลายน้ำแล้ว จะต้องลดระดับบานที่ฝายหนองสลีกลงพื้นที่รอรับมวลน้ำด้านเหนือ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ได้” ผคป.ลำพูน กล่าว

นายสุภรณ์วัฒน์ สุรการ ผคป.ลำพูน กล่าวอีกว่า ฝายหนองสลีกหลังการได้รับการปรับปรุงแล้ว จากเดิมที่เป็นฝายยางเปลี่ยนมาเป็นบานเหล็กพับได้ มีการเสริมฝายขึ้นจากเดิมอีก 50 ซม. ทำให้มีปริมาณน้ำหน้าฝายเพิ่มขึ้นอีก 300,000 ลบ.ม. ซึ่งน้ำ 3 แสน ลบ.ม. นี้ หากในพื้นที่ไม่มีฝนตกเลยจะช่วยพื้นที่ได้ประมาณ 1 เดือน ส่งผลให้ระยะเวลาในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่มีระยะเพิ่มขึ้น ซึ่งประกันได้ระดับหนึ่งว่า ในพื้นที่จะไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำ