วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

การได้มาซึ่ง “ผู้ใหญ่บ้าน”

การได้มาซึ่ง “ผู้ใหญ่บ้าน” ในแต่ละหมู่บ้านได้มาโดย เงื่อนไขต่างๆ ตาม …..

ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วย การเลือกผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. ๒๕๕๑

ระเบียบฯ นี้มีทั้งสิ้น ๙๒ ข้อ ซึ่งกระบวนการตามระเบียบไม่ได้เหมือนกับการได้มาซึ่งผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น มีเพียงบางเรื่องบางกระบวนการเท่านั้นที่เหมือนกัน คนเขียนเขาก็คงเอาง่ายว่า…ลอกวิธีการมานั้นล่ะ แต่โดยรวมแล้วไม่เหมือนกัน คิดกันง่ายๆ แค่ชื่อเรียกก็ต่างกันแล้ว

“ผู้ใหญ่บ้าน = เลือก” …… “ผู้บริหาร/สมาชิกท้องถิ่น = เลือกตั้ง”

ผมเคยผ่านการเป็นกรรมการห้ามมวย เฮ้ย กรรมการเลือกตั้งท้องถิ่นมาแล้ว สิ่งที่อยู่ในมือตลอดช่วงการทำหน้าที่คือ…คู่มือการจัดการเลือกตั้ง ที่ กกต. รวบรวมเอาทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องเอามาไว้ด้วยกัน การทำหน้าที่ที่ดีที่สุดคือ…เปิดอ่าน แม้ว่าจะอ่านแล้วหลายรอบ หากแต่ก่อนที่จะพูดในเวทีใดก็ต้อง ก็ต้องเปิดไว้ก่อนล่ะ อย่างน้อยจะได้…ไม่พลาด เพราะ….ไม่รู้จะท่องจำทุกบททุกมาตราไปทำไม ไม่ได้ไปสอบ!!

วันนี้มี ประเด็นเล็กๆ การเลือกผู้ใหญ่บ้านเขาสมัครกันยังไง จะได้เบอร์กันอย่างไร??

ระเบียบฯ บัญญัติไว้ใน ข้อ ๓๖ ว่า การให้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครให้เป็นไปตามลำดับก่อนหลังการยื่นใบสมัครหากผู้สมัครมาถึงที่ว่าการอำเภอและได้ลงชื่อแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเวลา ๐๘.๓๐ นาฬิกา ให้ถือว่ามาพร้อมกัน
พร้อมกันนี้ ข้อ ๓๗ ยังบัญญัติอีกว่า กรณีผู้สมัครมาพร้อมกัน ให้นายอำเภอจัดประชุมผู้สมัคร เพื่อตกลงกำหนดลำดับการยื่นใบสมัคร หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้ดำเนินการจับสลากสองครั้ง

ประเด็นนี้วิธีการเฉกเช่นเดียวกับ การสมัครผู้บริหาร-สมาชิกสภาท้องถิ่น คือว่า ใครมาถึงที่สมัครซึ่งก็คือ ที่ว่าการอำเภอ พร้อมกันในวันแรกของการเปิดรับสมัครก่อนเวลา ๐๘.๓๐ น. ซึ่งก็คือเวลาราชการ ให้ถือว่า…มาพร้อมกัน ระเบียบฯ ระบุให้ นายอำเภอ จัดประชุมผู้สมัครที่มาถึงอำเภอพร้อมกัน ก็จะถามว่า “ตกลงกันได้ไหมว่าใครจะยื่นสมัครก่อน” หากตกลงกันไม่ได้ก็ต้อง…จับสลาก!!

การจับสลากมี 2 ขั้นตอน …ขั้นตอนแรก นายอำเภอ จะเขียนชื่อผู้สมัครที่มาพร้อมกันทั้งหมดนำใส่กล่อง จากนั้นก็จับ จับชื่อใครก่อนก็จะเป็นคนแรกที่ได้จับสลากในขั้นตอนที่ 2 จับไล่เรียงกันไปจนครบคนมาสมัครพร้อมกัน….ขั้นนตอนที่ 2 นายอำเภอ ก็จะเรียกให้ผู้ที่นายอำเภอจับสลากได้เป็นคนแรกมาจับก่อน ได้เลขอะไรก็จะเป็นลำดับในการยื่นสมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เลขนั้นจะเป็นเลขประจำตัวสำหรับใช้หาคะแนนเสียง จับไปเรื่อยจนครบคนที่มาสมัคร

ใครที่มาสมัครต่อจากกลุ่มที่มาสมัครพร้อมกันก่อนเวลา ๐๘.๓๐ น. ในวันแรกของการรับสมัคร ก็จะได้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครในลำดับถัดๆ ไป ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการสมัครเพื่อรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน จากนั้นก็เป็นเวลาที่ผู้สมัครแต่ละคนจะออกหาคะแนนเสียง ซึ่งก็ควรที่จะภายหลังที่มีการตรวจสอบสิทธิเสร็จสิ้นไปแล้ว ซึ่งระเบียบฯ กำหนดไว้ว่า ภายใน ๕ วันนับแต่วันที่ได้รับใบสมัคร

การหาเสียง มีข้อต้องห้ามเช่นเดียวกับท้องถิ่น แต่น้อยกว่า ซึ่งบัญญัติไว้ใน ข้อ ๘ การเลือกผู้ใหญ่บ้าน ต้องเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

(๑) นับแต่วันที่นายอำเภอประกาศให้มีการเลือกผู้ใหญ่บ้านจนถึงวันเลือก ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนน หรืองดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
ก. จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
ข. ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด มัสยิด สุเหร่า ศาลเจ้า โรงเจ โบสถ์คริสต์ โบสถ์พราหมณ์ สำนักปฏิบัติธรรม สถาบันการศึกษา สถานสงเคราะห์ สหกรณ์ กองทุนสงเคราะห์ ชุมนุม ชมรม สโมสร กลุ่ม องค์กรหรือสถาบันอื่นใดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภากำหนด
ค. จัดให้มีมหรสพ หรือการรื่นเริงต่างๆ รวมทั้งการแสดง และการละเล่นอื่นๆ
ง. เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด รวมถึงการจัดเลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยง การประชุม อบรม สัมมนา ทัศนศึกษา หรือดูงาน เป็นต้น
จ. หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจผู้ใดให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครรายอื่น
ฯลฯ

ยังมีอีกมากมายหลายเรื่องที่บัญญัติไว้ใน ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วย การเลือกผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งไม่มีใครจำได้หมดทุกข้อแน่ๆ เพราะไม่ได้เลือกกันทุกวัน การอาศัย “ความเข้าใจ” เพื่ออธิบายให้ประชาชนที่มีส่วนได้เสียเข้าใจนั้น เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงมาก ยิ่งพื้นที่ใดมีการแข่งขันสูง ยิ่งเสี่ยง อย่าว่าเป็น ผู้นำท้องที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกำนัน รวมไปถึงอำเภอ ไม่ว่าจะเป็นปลัดอำเภอ ไล่เรียงไปจนถึงนายอำเภอ…..

ร้อยทั้งร้อย…ไม่มีใครจำได้หมด จะให้ชัวร์ปร๊าดก็คือ….

อ่านทุกตัวอักษรในระเบียบฯ ให้ฟัง แล้วอธิบาย…

อย่าคิดว่าแน่!!! ไม่ว่าจะเป็นใครระดับไหน ตั้งแต่…. นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ไปจนถึง กำนัน

 

“วายุ” ๙/๐๓/๒๕๖๕

……………………………………………………………

ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วย การเลือกผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. ๒๕๕๑ : https://multi.dopa.go.th/pab/assets/modules/info_organ/uploads/819b50762651d899f18642aba29bbafa57f4acb9108ab914148303450715018.PDF

::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

ขอบคุณรูปประกอบจาก : https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1708084/