วันศุกร์, 13 กันยายน 2567

อานิสงส์ฝนฤดูหนาว เขื่อนแม่งัดฯ ได้น้ำเพิ่มกว่า 1.88 ล้าน ลบ.ม. งดส่งน้ำให้เชียงใหม่-ลำพูนได้อีก 1 รอบเวร

21 ม.ค. 2022
1136

อานิสงส์ฝนฤดูหนาว เขื่อนแม่งัดฯ ได้น้ำเพิ่มกว่า 1.88 ล้าน ลบ.ม. ยังงดส่งน้ำสนับสนุนเชียงใหม่-ลำพูน ได้อีก 1 รอบเวร ผอ.เขื่อนชี้ ส่งผลดีต่อสถานการณ์น้ำของเชียงใหม่

วันที่ 21 มกราคม 2565 นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ว่า สถานการณ์น้ำของเขื่อนแม่งัดฯ ในวันนี้ (21 ม.ค.) เขื่อนแม่งัดฯ มีปริมาณน้ำกักเก็บทั้งสิ้นราว 110.084 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 41.54% ของความจุ มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนฯ ราว 402,688 ลบ.ม. มีการปล่อยน้ำคลองฝั่งซ้าย-ขวาให้พื้นที่บริการใน 4 ตำบลของอำเภอแม่แตง ราว 3 หมื่นกว่าไร่ ตั้งแต่เมื่อวานกระทั่งถึงเช้าวันนี้ราว 250,000 ลบ.ม. โดยเช้าวันนี้ได้หยุดปล่อยน้ำออกเขื่อนแล้ว เนื่องจากฝนตกในพื้นที่ สำหรับพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน ที่เขื่อนแม่งัดฯ ช่วยส่งน้ำสนับสนุนโดยส่งเป็นรอบเวร ในรอบเวรที่ผ่านมาคือ รอบที่ 3 ได้งดส่งน้ำให้เนื่องจากในพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน มีฝนตก

ทั้งนี้เขื่อนแม่งัดฯ มีแผนส่งน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในเขตพื้นที่โครงการฯ 40 ล้าน ลบ.ม. วันที่ 8 ธ.ค. 64 – 31 พ.ค. 65 ผลการส่งน้ำสะสมตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 64 – ปัจจุบัน 6.870 ล้าน ลบ.ม. และมีแผนส่งน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่สองฝั่งลุ่มน้ำปิงตอนบน (จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน) 28 ล้าน ลบ.ม. วันที่ 6 ม.ค. 65 – 31 พ.ค. 65 ผลการส่งน้ำ รอบเวรที่ 3 สะสมตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. 65 – ปัจจุบัน 1.652 ล้าน ลบ.ม.

ผอ.เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ยังกล่าวอีกว่า ในห้วงที่มีฝนตกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 65 เป็นต้นมาจนถึงวันนี้ มีน้ำไหลเข้าเขื่อนแม่งัดฯ สะสมราว 1.88 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นผลดีกับสถานการณ์น้ำของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้น้ำต้นทุนเพิ่มทั้งที่อยู่ในช่วงฤดูหนาว ซึ่งถือเป็นช่วงเริ่มแล้งแล้ว

ส่วนสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน สำนักงานชลประทานที่ 1 รายงานถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ว่า เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำกักเก็บราว 87.969 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 33% ของความจุ มีน้ำไหลเข้าเขื่อนฯ ราว 0.406 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลออกเขื่อนฯ ราว 0.041 ล้าน ลบ.ม. สำหรับแผนส่งน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 ส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและระบบนิเวศในเขตพื้นที่โครงการฯ 9 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 65 – 17 พ.ค. 65

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 19 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บรวม ราว 75.563 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 54% อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำ 80% – 100 % มีจำนวน 7 แห่ง (เชียงใหม่ = 5, ลำพูน = 1, แม่ฮ่องสอน = 1) อ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำ 50% – 80% จำนวน 7 แห่ง (เชียงใหม่ = 5, ลำพูน = 1, แม่ฮ่องสอน = 1) อ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำ 30% – 50% จำนวน 3 แห่ง (เชียงใหม่ = 3) และอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำ ≤ 30% จำนวน 2 แห่ง (ลำพูน = 2)

ด้านการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ดำเนินการดังนี้ ประชาสัมพันธ์และชี้แจงข้อมูลสถานการณ์น้ำ / แผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 ผ่านช่องทางต่าง ๆ การประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ/หน่วยราชการ/องค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ การแจ้งข้อมูลผ่านเว็บไซต์หน่วยงาน/ไลน์กลุ่ม การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ฯลฯ ออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์ประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สชป.1, โครงการชลประทานจังหวัดและโครงการส่งน้ำฯ จัดตั้งศูนย์ร้องเรียนปัญหาเรื่องน้ำ ในเขตโครงการชลประทานจังหวัดและโครงการส่งน้ำฯ และ มีการเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง แผนติดตั้งเครื่องสูบน้ำทั้งหมด 82 เครื่อง, รถบรรทุกน้ำ 16 คัน, รถขุด 5 คัน, รถบรรทุก 6 ล้อ 25 คัน, รถแทรกเตอร์ 1 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่น ๆ 12 หน่วย