วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2567

ชลประทานถกกลุ่มผู้ใช้น้ำ พร้อมปรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำ

25 ส.ค. 2020
1968

ชป.1 จัดประชุมผู้ใช้น้ำหวังเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ได้ข้อสรุป กลุ่มต้องการข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนแจ้งให้ถึงเกษตรกรครอบคลุมทุกพื้นที่ แผนการบริหารน้ำควรให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมเพื่อตัดปัญหาที่อาจมี ควรใช้สื่อหลากหลายไลน์บางครั้งไม่ได้อ่านอาจใช้เสียงตามสายช่วยเสริม ส่วนข้อมูลที่แจ้งควรเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายเว้นการใช้ศัพท์เทคนิค เวทีประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เชื่อเป็นอีกช่องทางที่จะสื่อให้ถึงพื้นที่ได้

วันที่ 25 ส.ค. 63 ที่อาคารอเนกประสงค์ สำนักงานชลประทานที่ 1 จ.เชียงใหม่ โดยการอำนวยการของ นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 จัดประชุมการสร้างการรับรู้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเรื่อง การบริหารจัดการน้ำ โดยมี ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ และผู้ใช้น้ำ จากพื้นที่ 4 ลุ่มน้ำสำคัญของเชียงใหม่ ได้แก่ พื้นที่รับน้ำจากเขื่อนแม่กวงอุดมธารา พื้นที่รับน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล พื้นที่รับน้ำจากคลองส่งน้ำแม่แตง และพื้นที่รับน้ำจากการบริหารจัดการประตูระบายน้ำแม่สอย การประชุมแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ตามพื้นที่รับน้ำเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ร่วมกันเสนอความเห็น

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา กล่าวว่า การประชุมวันนี้สืบเนื่องมาจากการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีประเด็นจากการประชุมว่าหลายๆ ภาคส่วนไม่ทราบถึงข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำ วันนี้เป็นการประชุมทั้งเจ้าหน้าที่ที่บริหารจัดการน้ำ กับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งมีทั้งเกษตรกร ประปา บรรเทาสาธารณภัย เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการเสนอแนวทางแก้ปัญหา 3 เรื่อง ประกอบด้วย เรื่องแรกคือ เรื่องข้อมูลข่าวสารที่แต่ละส่วนควรจะได้รับ เรื่องที่ 2 เรื่องช่องทางที่จะสื่อสารข้อมูลข่าวสารไปทางช่องทางไหนบ้าง และเรื่องที่ 3 ความถี่ของการแจ้งข่าวสารควรจะถี่ห่างมากน้อยเพียงใด

“ยกตัวอย่างงาน ในช่วงฤดูฝนแต่ละพื้นที่อยากรับรู้เรื่องอะไร จะเป็นสถานการณ์ฝน สถานการณ์ในแหล่งน้ำ ความถี่ที่จะให้ส่งข้อมูลนั้นๆ จะส่งเป็นรายวัน รายชั่วโมง หรือรายสอง-สามวัน เพื่อที่จะให้เกิดการรับรู้และสามารถรับมือหรือแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที” นายเจนศักดิ์ฯ กล่าว

“สำหรับพื้นที่รับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เท่าที่รับฟังในเบื้องต้นที่คุยกันในกลุ่มมีการเสนอว่า บางครั้งข้อมูลข่าวสารจากชลประทานที่ส่งไปนั้นส่งไปถึงพื้นที่แต่ไปถึงแค่ระดับคณะตัวแทนที่ใช้ในการบริหารจัดการน้ำ แต่ไปไม่ถึงในระดับประชาชนในพื้นที่จริงๆ ซึ่งมีการยกสาเหตุด้วยว่าเรื่องอาจจะไปถึงแค่อำเภอ ไปถึงแค่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ไม่ถึงประชาชนในพื้นที่จริงๆ ตรงนี้จึงมีการเสนอว่า ทำไมเรื่องไม่ส่งลงไปถึงผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่นั้นเลยซึ่งจะสามารถประกาศเสียงตามสายในพื้นที่ให้รับทราบได้ อีกประการได้มีการเสนอให้ชลประทานส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุมประจำเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ ทุกครั้ง เพื่อนำข่าวสารสื่อไปถึงพื้นที่ได้ในทุกเดือน ก็รับข้อเสนอตรงนี้มา เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ดีขึ้น” ผู้อำนวยการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา กล่าว

ด้าน นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญคือ ต้องการรับทราบว่ากลุ่มผู้ใช้น้ำต้องการอะไร อย่างไรบ้าง อาทิ อยากรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ช่องทางในการสื่อสารเพื่อจะได้รับรู้รับทราบถึงข้อมูลนั้นต้องใช้กี่ช่องทาง รวมถึงความถี่ในการที่จะส่งข้อมูลข่าวสาร การประชาสัมพันธ์ ในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งข้อมูลที่ได้มาก็จะน้ำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำของโครงการฯ ต่อไป

“โดยปกติการบริหารจัดการน้ำที่ชลประทานดำเนินการได้มีการวางแผนการส่งน้ำ จัดสรรน้ำไว้ก่อนล่วงหน้า บางครั้งต้องส่งน้ำไปยังพื้นที่รับน้ำเป็นแบบรอบเวร ตรงนี้เป็นเรื่องที่ผู้ใช้น้ำระดับพื้นที่ต้องการรับรู้รับทราบข้อมูล เกษตรกรบางคนไม่รู้จักไม่ได้ใช้สื่อออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊คหรือไลน์ ต้องใช้ช่องทางในการสื่อสารข้อมูลเหล่านี้ไปให้ถึงเกษตรกรในพื้นที่ อาจจะเป็นหนังสือ เป็นสื่อต่างๆ โดยสื่อผ่านหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้สื่อสารหรือประชาสัมพันธ์ให้พื้นที่ได้ทราบถึงข้อมูล หากแต่ว่าบางคนบางพื้นที่การสื่อสารผ่านช่องทางเหล่านี้ไปไม่ถึง การประชุมวันนี้ก็จะได้ช่องทางที่พื้นที่สามารถรับรู้รับทราบข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำได้ถูกต้องครบถ้วน เมื่อได้มาก็จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำได้” ผู้อำนวยการโครงการฯ แม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล กล่าว

ทั้งนี้ผลการประชุมการสร้างการรับรู้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ในแต่ละพื้นที่รับน้ำมีการเสนอความต้องการพอสรุปได้ดังนี้ กลุ่มพื้นที่รับน้ำจากคลองส่งน้ำแม่แตง อยากทราบน้ำต้นทุนที่สามารถเพาะปลูกได้จริง รวมถึงรอบเวรในการส่งน้ำ พร้อมกับขอให้มีการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นทางไลน์ ให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเป็นคนมาประชุมในการจัดประชุมในแต่ละรอบ ในช่วงวิกฤตอยากให้เพิ่มการแจ้งข่าวสารหรือข้อมูลให้ทันต่อเหตุการณ์ กลุ่มพื้นที่รับน้ำจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล อยากให้เพิ่มช่องทางการให้ข้อมูลผ่านเสียงตามสายของหมู่บ้านและส่งข้อมูลข่าวสารผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์และโทรศัพท์ ให้มีการประชุมจัดทำแผนส่งน้ำในช่วงตุลาคมก่อนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนการส่งน้ำ เพื่อลดผลกระทบและปัญหาการส่งน้ำ

ส่วนกลุ่มพื้นที่รับน้ำจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา ต้องการทราบปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อพิจารณาว่าจะกำหนดพื้นที่ ชนิดพืชที่ปลูกอย่างไร พร้อมกับจัดประชุมเพื่อกำหนดวิธีส่งน้ำให้ผู้ใช้น้ำทุกกลุ่ม รวมถึงผู้ใช้น้ำที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างช่วงการส่งน้ำ กลุ่มผู้ใช้น้ำจากประตูระบายน้ำแม่สอย ต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของอาคารหลักและอาคารประกอบ อยากได้องค์ความรู้ในการควบคุมหรือบริหารจัดการอาคารที่เหมาะสม รวมถึงข้อมูลการควบคุมสถานีสูบน้ำและข้อมูลการเพาะปลูก รวมถึงการระบายน้ำจาก ปตร.แม่สอย ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสถานีสูบ โดยให้แจ้งเตือนผ่านทางไลน์หรือโทรศัพท์โดยตรงและขอให้ใช้ข้อความที่เข้าใจง่าย ไม่ใช้ศัพท์เทคนิค