วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

จักษุแพทย์ มช. ขยายพื้นที่ตรวจผู้ป่วยนอก เปิดชั้น 6 เพิ่มพื้นที่ได้อีก 65%

ภาควิชาจักษุวิทยา แพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เปิดพื้นที่บริการผู้ป่วยนอกเพิ่ม ปรับปรุงพื้นที่ชั้น 6 ตึกศรีพัฒน์ให้เป็นห้องตรวจรักษาโรคทางตาพร้อมอุปกรณ์ทันสมัย คาดเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการได้ครอบคลุมมากขึ้น เผยมีผู้ป่วยตาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมากเหตุจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

วันที่ 21 ส.ค. 63 บริเวณชั้น 6 อาคารศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานเปิดห้องตรวจตาผู้ป่วยนอก โรคจอตาและวุ้นตา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รศ.นพ.ชัยวัฒน์ บำรุงกิจ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ รศ.นพ.วินัย ชัยดรุณ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา พร้อมด้วยแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ร่วมพิธี

รศ.นพ.วินัย ชัยดรุณ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา กล่าวว่า ภาควิชาจักษุวิทยาเริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2514 โดยมีอาจารย์ประจำภาควิชา 3 คน ทำการฝึกสอนักศึกษาแพทย์ปีละประมาณ 30 คน และฝึกอบรมแพทย์เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาจักษุวิทยาปีละ 1 คน ในปัจจุบันภาควิชาจักษุวิทยามีอาจารย์ประจำภาควิชาจำนวน 18 คน ทำการฝึกสอนนักศึกษาแพทย์ประมาณปีละ 180 คน ฝึกอบรมแพทย์ใช้ทุนประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาจักษุวิทยา ปีละ 8 คน และการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดปีละ 3-5 คน

“ภาควิชาจักษุวิทยาให้บริการตรวจรักษา ผ่าตัด โรคทางตาแก้ผู้ป่วยในพื้นที่ภาคเหนือและจากประเทศเพื่อบ้านมานานกว่า 40 ปี ด้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งขีดความสามารถในการรักษาโรคตาที่ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งปริมาณการให้บริการตรวจรักษาที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ ภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะด้านการให้บริการ เนื่องจากสังคมไทยกำลังปรับเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ทำให้จำนวนผู้เข้ารับบริการห้องตรวจตาผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของสาขาจักษุวิทยาเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งความก้าวหน้าของการให้บริการทางการแพทย์ สาขาจักษุวิทยากำลังดำเนินไปในลักษณะก้าวกระโดดทำให้โรคบางโรคที่เคยรักษาไม่ได้หรือรักษาได้น้อยมากเปลี่ยนโรคที่รักษาได้ ซึ่งทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น” หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา กล่าว

รศ.นพ.วินัย ชัยดรุณ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา กล่าวอีกว่า จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว ในส่วนชองห้องตรวจตาผู้ป่วยนอกบริเวณชั้น 7 อาคารศรีพัฒน์ ซึ่งมีห้องตรวจตา 15 ห้อง และห้องตรวจอื่นๆ มีแพทย์อออกตรวจทุกวันเฉลี่ยวันละ 18 คน จำนวนห้องตรวจน้อยกว่าจำนวนแพทย์ที่ออกตรวจ บางรายต้องตรวจในห้องเดียวกัน ซึ่งก็เกิดปัญหาในการสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้มารับการรักษา ทั้งด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งด้วยพื้นที่ในการรักษาที่มีอย่างจำกัด คณะแพทยศาสตร์จึงได้จัดสรรพื้นที่บริเวณชั้น 6 อาคารศรีพัฒน์ราว 485 ตารางเมตร ปรับปรุงเป็นห้องตรวจตา 7 ห้อง และห้องตรวจอื่นๆ เพิ่มขึ้นจากเดิม 65% พร้อมกันนี้ได้มีการจัดหาเครื่องมือในการตรวจตา อุปกรณ์ในการรักษา และใช้เป็นแหล่งเก็บข้อมูลเพื่อสนับสนุนการวิจัยในอนาคต

ทั้งนี้การปรับปรุงและการจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ โดยใช้งบประมาณที่ได้รับจากการบริจาค โดยเริ่มจากการจัดกิจกรรม “วิ่งล่นรักษ์ต๋า” ซึ่งมีผู้ร่วมกิจกรรมมากว่า 1,600 คน กิจกรรมนี้มีการบริจาคทั้งจากผู้ที่มาร่วมกิจกรรมและผู้ที่ไม่ได้มาร่วมกิจกรรม ซึ่งมียอดรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วราว 29 ล้านบาท พร้อมกันนี้คณะแพทยศาสตร์ได้จัดสรรงบประมาณสมทบอีกส่วนหนึ่ง สำหรับปรับปรุงพื้นที่ห้องตรวจตาผู้ป่วยนอกชั้น 6 อาคารศรีพัฒน์ และจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อการวินิจฉัย การตรวจรักษาตา