วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2567

“ประวิทย์” ยาหอม เตรียมงบ 2 พันล้านเยียวยาทุกสวน ชงอนุญาต “ล้งจีน” เข้าประเทศศุกร์นี้

06 ส.ค. 2020
1648

“บิ๊กป้อม” หอบ “ธรรมนัส” ขึ้นเชียงใหม่รับฟังปัญหาชาวสวนลำไยถึงพื้นที่ เกษตรกรร่วมพันคนพรึบศูนย์ประชุมครวญผลผลิตราคาเรี่ยดิน แจงชัดราคาต้นทุนเฉพาะทำผลลำไยกิโลกรัมเกือบ 24 บาท ขายกิโล 17 ขาดทุนตั้งแต่ในมุ้ง บิ๊กป้อมเปรยจัดงบ 2 พันล้านไว้แล้วพร้อมเยียวยา ไร่ 2 พัน ไม่เกินรายละ 25 ไร่ คาดชง ครม. สัปดาห์หน้า ส่วนผู้ประกอบการจากจีนชงที่ประชุม ศบค. วันศุกร์ “ธรรมนัส” แย้มพ่อค้าจีนได้เข้ามาซื้อแน่ แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขการควบคุมโรคโควิด-19

วันที่ 6 ส.ค. 63 ที่ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ พล.อ.ประวิทย์ วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะทำงาน ประชุมติดตามการดำเนินงานด้านสถานการณ์อุทกภัย และความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหาร หัวหน้าหน่วยงาน ปภ. หัวหน้าหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 พร้อมด้วยเกษตรกรชาวสวนลำไยจากพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ร่วมประชุมให้ข้อมูลปัญหา ผลกระทบ และความเดือดร้อน

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังรับฟังปัญหาของพี่น้องเกษตรกรว่า ผลกระทบจากการส่งออกและการรับซื้อลำไยจากพ่อค้าประเทศจีน รัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกลำไย โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไยปี 2563 ได้แก่ ให้มีคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ 3 โครงการ คือ โครงการสนับสนุนจุดรวบรวมและคัดคุณภาพลำไยเพื่อกระจายออกนอกแหล่งผลิตปี 2563 โครงการสนับสนุนจุดรวบรวมลำไยสดเพื่อแปรรูปปี 2563 และโครงการแก้ไขปัญหาผลผลิต ผลไม้ออกสู่ตลาดมากในปี 2563 โดยกรมการค้าภายในเป็นแม่งาน รวมถึงแนวทางการชดเชยดอกเบี้ยให้กลุ่มเป้าหมาย ดำเนินการโดย กรมการค้าภายในและ ธกส. จะช่วยกัน พร้อมกับมีการเชื่อมโยงตลาดสินค้าจากห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน ปตท. และตลาดออนไลน์ เป็นการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้า

“ในเรื่องการชดเชยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรผู้ปลูกลำไย ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยจะเยียวยาให้เกษตรกร ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกินรายละ 25 ไร่ และขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาในการช่วยเหลือ และขอยืนยันว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือเกษตรกรจนสุดความสามารถ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้นำมาชดเชย แล้วให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเตรียมงบประมาณ 2,000 ล้านบาท สำหรับการเยียวยาเกษตรกรในครั้งนี้ ส่วนเรื่องตลาดจีนที่เข้ามาในประเทศไม่ได้ ทางรัฐบาลก็จะพิจารณาให้เข้ามาตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ซึ่งอาจจะพิจารณาให้เข้ามาในประเทศได้ 3 – 5 วัน ตามกรอบความปลอดภัย เพื่อให้เข้ามารับซื้อผลผลิตลำไย และผลผลิตทางการเกษตรของพี่น้องเกษตรกรได้” พล.อ.ประวิทย์ วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไยซึ่งรัฐบาล โดยเฉพาะ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้รับหนังสือจากสภาเกษตรกรเรื่องการขอให้แก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรชาวสวนลำไยภาคเหนือ พร้อมกันนี้ได้มีบัญชาให้รองนายกรัฐมนตรีมารับทราบปัญหาของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไยด้วยตัวเอง ซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาคงเป็นไปตามข้อเรียกร้องของพี่น้องชาวสวนลำไยที่รวมตัวกันพร้อมกับการยื่นข้อเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นการขอให้ผู้ประกอบการชาวจีน หรือที่เรียกกันว่า ล้ง สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อทำการซื้อขายลำไยของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไยในฤดูกาลเก็บเกี่ยวนี้ได้

“เรื่องที่ 2 ของข้อเรียกร้อง คือขอให้มีการเยียวยาภายใต้มาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบวิกฤติโควิด-19 ตามนโยบายของรัฐบาล มาตรการอื่นเป็นเรื่องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรสำรวจทำการสำรวจข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือเยียวยา ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูล คาดว่าจะแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไยได้ทันท่วงที ซึ่งการชดเชยเยียวยาให้แก่เกษตรกรตามที่เสนอคือ ชดเชยให้ไร่ละ 2,000 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ กำลังทำเรื่องที่จะเสนอ ครม. พิจารณา ก็มีความเป็นไปได้ที่จะใช้แนวทางนี้” รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว

ร.อ.ธรรมนัสฯ กล่าวต่อว่า ในส่วนของ “ล้ง” ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายแล้วว่า อนุญาตให้เข้ามาได้ แต่ผู้ที่เข้ามานั้นต้องเข้าสู่ระเบียบการควบคุมโรคตามที่ สบค. กำหนด ทั้งการกักตัว หรืออาจจัดสถานที่ในการที่จะให้ผู้ประกอบการจีนที่เข้ามาสามารถประสานกับเกษตรกรชาวสวนได้ ส่วนจะเริ่มเข้ามาได้เมื่อไรนั้น จะมีการประชุมของ สบค. และผู้เกี่ยวข้องในวันศุกร์นี้ ที่จะเคาะว่าจะอนุญาตให้เข้ามาได้วันไหน ซึ่งเชื่อว่าจะทันฤดูกาลเก็บเกี่ยวปีนี้ ขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการจากจีนเข้ามาในประเทศไทยแม้แต่รายเดียว

ทั้งนี้หนังสือเรียกร้องให้ช่วยเหลือเยียวยาเสนอโดยสภาอาชีพเกษตรกรถึงนายกรัฐมนตรี เสนอตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค. 63 ที่ผ่านมา ลงนามโดย นายมานพ จินะนา ประธานสภาฯ หนังสือดังกล่าวระบุว่า ด้วยเกษตรกรผู้ปลูกลำไยภาคเหนือตอนบนและอีก ๒๕ จังหวัดทั่วประเทศไทย ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรคระบาดร้ายแรง โควิด- 19 โดยในฤดูกาลผลิตลำไย ปี 2563 ผลผลิตลำไยได้ออกสู่ตลาดช่วงปลายเดือน มิถุนายนถึงกลางเดือนกันยาย 2563 ซึ่งช่วงที่ผลผลิตออกมากที่สุดคือเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม นับตั้งแต่เดือนแรกที่ผลผลิตลำไยออกสู่ตลาด ราคาผลผลิตลำไยตกต่ำเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ลำไยคุณภาพชนิดเกรด AA ราคากิโลกรัมละ 17 บาท ชนิดเกรด A กิโลกรัมละ 9 บาท ชนิดเกรด B กิโลกรัมละ 4 บาท ซึ่งราคาซื้อขายลำไยปีนี้ตกต่ำเนื่องด้วยมีปัญหาการส่งออกลำไยไปต่างประเทศไม่ได้ สืบเนื่องมาจากมาตรการป้องกันโรคระบาดของทุกประเทศ และปัญหากลไกภายใน “ล้ง” ผู้รับซื้อลำไยกดราคารับซื้อผลผลิตในราคาที่ต่ำเกินจริง ประกอบกับเกษตรกรชาวสวนลำไยประสบกับปัญหาภัยแล้ง วัสดุอุปกรณ์มีราคาเพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตลำไยคุณภาพมีตันทุนสูง

กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานราคาจำหน่ายลำไยในปี 2562 ลำไยชนิดเกรด AA ราคากิโลกรัมละ 32-35 บาท และลำไยชนิดเกรด A ราคากิโลกรัมละ 23-27 บาท เมื่อเปรียบเทียบราคาจำหน่ายลำไยคุณภาพในระดับเดียวกันของปี 2563 ราคาจำหน่ายมีมูลค่าลดลงถึงร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยประสบกับการขาดทุนและได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

ประกอบกับการพัฒนาผลผลิตลำไยคุณภาพมีต้นทุนที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกลำไยแบบดั้งเดิม กล่าวคือ ในการผลิตลำไยคุณภพในปี 2563 ต้นทุนการผลิตต่อไร่ มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 23.61 บาท ต่อลำไย 1 กิโลกรัม เมื่อราคาขายผลผลิตลำไยคุณภพชนิดเกรด AA ขณะนี้ (14 ก.ค. 63) ราคารับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 17 บาทเท่านั้น เป็นสาเหตุทำให้เกษตรกรขาดทุนอย่างรุนแรง จึงจำเป็นที่ต้องขอการสนับสนุนงบประมาณเพื่อเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไย ทั้งนี้ขอรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกลำไย ไร่ละ 2,000 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ ซึ่งจะให้งบประมาณทั้งสิ้นไม่เกิน 1,800 ล้านบาท ให้การช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวเกษตรกร จำนวน 196,655 ครอบครัว พื้นที่ปลูกลำไย 1,200,879 ไร่ ผลผลิตลำไย ปี 2563 จำนวน 1,044,000 ตัน