วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

มูลนิธิกำลังใจต่อเติมฝันปันความรู้ เป็นปีที่ 8 ซ่อมแซมอาคารเรียน รร.บ้านหัวฝาย

วันที่ 14 ก.ค.63 ที่โรงเรียนบ้านหัวฝาย ตำบลเมืองเลน อ.สันทรายจังหวัดเชียงใหม่ นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีมอบอาคารเรียนโครงการต่อเติมฝันปันความรู้ปี 8 ซึ่งมูลนิธิกำลังใจนำโดย ดร.ละมูล ลือสุขประเสริฐ ประธานมูลนิธิกำลังใจพร้อมด้วย นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ อดีต ผวจ.เชียงใหม่ นายชะลอ คชาประดิษฐ์ และคณะกรรมการมูลนิธิกำลังใจ ได้สนับสนุนการปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารเรียนของโรงเรียนบ้านหัวฝาย ซึ่งเป็นอาคารเก่าที่ได้เปิดทำการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2465 เดิมเป็นอาคารเรียนแบบ 017 จำนวน 5 ห้องเรียน

นายรัฐพล นราดิศร กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติเป็นประธานในการรับมอบอาคารเรียนโรงเรียนบ้านหัวฝาย จากโครงการ “ต่อเติมฝันปันความรู้ ปี 8” ซึ่งเกิดจากความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจจากทุกภาคส่วนที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชน ทั้งนี้การให้โอกาสทางการศึกษานั้นถือได้ว่าเป็นการให้ที่ยั่งยืนและให้ผลประโยชน์มากที่สุดเพราะความรู้ต่างๆ ที่ได้รับจากการศึกษานั้นจะส่งผลให้ผู้ที่ได้รับการศึกษานำไปปฏิบัติ หรือใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตและสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติในอนาคต

ประโยชน์อีกประการหนึ่งที่สำคัญที่ได้รับจากอาคารเรียนที่มูลนิธิกำลังใจได้ร่วมแรง ร่วมใจปรับปรุงซ่อมแซมและมอบให้กับทางโรงเรียนก็คือ ชุมชนบริเวณใกล้เคียงนี้จะสามารถใช้อาคารเรียนเป็นที่ประชุม เป็นศูนย์กลางในการระดมความคิดเห็นเพื่อนำมาใช้พัฒนาชุมชนโดยรอบ โดยสรุปได้ว่าอาคารเรียนแห่งนี้จะเป็นอาคารเรียนที่ให้ความรู้เพื่อพัฒนาทั้งคนและทั้งชุมชนเพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติต่อไป

สำหรับประวัติของโรงเรียนบ้านหัวฝาย ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลเมืองเล็น อำเภอสันทราย อยู่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 2 เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียน จำนวน 117 คน ตั้งอยู่สภาพขาดแคลนและยากจนปัจจุบันมีครู 9 คน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึง ประถมศึกษาปีที่ 6 รวม 8 ห้องเรียน มีอาคารเรียน 1 หลัง อาคารเรียนเดิมอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม อาจเป็นอันตรายต่อนักเรียนในโรงเรียนแต่สำคัญสุดคือคุณภาพชีวิตนักเรียน เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน ไร้สัญชาติ ขาดแคลนปัจจัยที่จำเป็น ในการเจริญเติบโต และการเรียนรู้ของเด็ก และรวมถึงกลุ่มเด็กที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา

ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการได้จัดสรรงบประมาณค่าเล่าเรียนระดับอนุบาล คนละ 1,700 บาท ต่อปี จำนวน 17 คนรวมเป็นเงิน 28,900 บาทต่อปี ระดับประถมศึกษาคนละ 1,900 บาทต่อปีจำนวน 77 คน รวมเป็นเงิน 146,300 บาทต่อปี รวมงบประมาณที่โรงเรียนได้รับจัดสรรปีละ 175,200 บาท โดยโรงเรียนมีค่าใช้จ่ายประจำเป็นค่าจ้างครู 8,000 บาทต่อเดือน รวม 96,000 บาท ค่าน้ำ ค่าไฟ อื่นๆ สรุปงบฯทั้งปีของโรงเรียนที่โรงเรียนใช้แค่ 79,200 บาท ด้วยเหตุนี้ทางโรงเรียนจึงได้ขอรับการสนับสนุนจากมูลนิธิน้ำใจ เนื่องจากไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซมอาคารเรียนที่เกิดการชำรุด ผุพังมาก อายุกว่า 80 ปีแล้ว ให้มีความปลอดภัยในชีวิตของนักเรียน และงบประมาณที่ได้รับจัดสรรก็ไม่พอกับค่าใช้จ่าย อีกทั้งนักเรียนส่วนใหญ่เรียนฟรีทุกอย่าง โรงเรียนไม่เก็บค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ทางมูลนิธิน้ำใจ ยังได้มอบข้าวสาร น้ำมันพืช ปลากระป๋อง ไข่ไก่และเกลือ จำนวน 500 ชุดให้กับชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย