วันเสาร์, 7 กันยายน 2567

ผอ.ศิลปากรที่ 7 ยัน “บอมเบย์เบอร์มา” เป็นโบราณสถาน เตรียมแจ้งจับผู้ฝ่าฝืน

29 มิ.ย. 2020
2057

กรมศิลปากรเตรียมแจ้งจับผู้ใช้ประโยชน์บอมเบย์เบอร์มา ชี้ผิด พรบ.โบราณสถาน ยืนยันอาคารที่ถูกรื้อเป็น “โบราณสถาน” แม้ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ชี้กฎหมายให้นิยามไว้ชัด ครบองค์ประกอบ เป็นอสังหาฯ มีอายุ เข้าลักษณะ มีหลักฐานเกี่ยวกับประวัติ พร้อมยกบทกำหนดโทษ “จำคุกสูงสุด 7 ปี ปรับสูงถึง 7 แสนบาท”

วันที่ 29 มิ.ย. 63 นายไกรสิน อุ่นใจจินต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ แจงถึงแนวทางการปฏิบัติตาม พรบ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. 2535 ในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดเชียงใหม่ ว่า กรมศิลปากรเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน อนุรักษ์ บำรุงรักษา ฟื้นฟู สืบทอด ศิลปะทรัพย์สิน มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตาม พรบ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. 2535

“ในประเด็นที่จะชี้แจงเกี่ยวกับโบราณสถานที่กระทรวงวัฒนธรรมได้มอบมายังสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ มี 3 ประเด็นหลักคือ งานด้านวิชาการ งานด้านกฎหมาย และการตีความ ประเด็นดังกล่าวนี้สืบเนื่องจากกรณีอาคารบอมเบย์เบอร์มา ที่จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นข่าวอยู่ขณะนี้ ซึ่งเป็นโบราณสถาน แม้ว่าความเข้าใจของบางคนว่าไม่ใช่โบราณสถาน โดยเฉพาะผู้ใช้ประโยชน์ ซึ่งช่วงบ่ายวันนี้จะได้แจ้งความดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนที่จังหวัดแพร่” ผอ.สำนักศิลปากรที่ 7 กล่าว

นายไกรสินฯ กล่าวอีกว่า ในส่วนที่ 1 ด้านวิชาการเกี่ยวกับโบราณสถาน ถือเป็นหลักฐานทางโบราณคดี ประเภทที่จับต้องได้ โบราณสถานนอกจากเป็นสิ่งก่อสร้างโดยคนในอดีต เช่น วัด คุ้ม แล้ว ยังรวมถึงถ้ำที่มีภาพเขียนสี ภาพเคารพต่างๆ หรือมีหลักฐานการฝั่งศพ โรงศพโบราณ อีกส่วนคือหลักฐานที่เป็นหนองน้ำ เช่น เวียงหนองหล่มที่เชียงแสน เหล่านี้คือหลักฐานทางโบราณคดี ส่วนที่เชียงใหม่มีหลายหลาย ที่พบเป็นหลักฐานทางโบราณคดี พบทั้งวัด วัง บ้านเรือน โดยเฉพาะบ้านเรือนที่พบในจังหวัดเชียงใหม่จะเป็นคุ้ม หรือวังของเจ้าเมือง เช่น คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ในโรงงานยาสูบ คุ้มในทัณฑสถานหญิง เป็นต้น

“ในส่วนที่ 2 แง่กฎหมายมีสองสามมาตราที่เกี่ยวข้องคือ มาตรา 4 เป็นการให้คำนิยามของคำว่า โบราณสถาน ซึ่งให้ความหมายไว้ว่า อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุ หรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งนี้ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดีแหล่งประวัติศาสตร์และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย การที่จะพิจารณาสิ่งก่อสร้างหรือแหล่งธรรมชาติที่จะเป็นโบราณสถานจะต้องเข้าองค์ประกอบตามคำนิยามนี้ คือ 1.เป็นอสังหาริมทรัพย์ 2.อายุ 3.ลักษณะของสิ่งก่อสร้าง 4.หลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้น” นายไกรสินฯ กล่าว

นายไกรสิน อุ่นใจจินต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีมาตรา 10 ซึ่งระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่างๆ ของโบราณสถาน หรือขุดค้นสิ่งใดๆ หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่จะกระทำตามคำสั่งของอธิบดีหรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และถ้าหนังสืออนุญาตนั้นกำหนดเงื่อนไขไว้ประการใดก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นด้วย ส่วนบทลงโทษหลักๆ มี 2 มาตรา คือ มาตรา 32 ที่ระบุว่า ผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีหรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยกรมศิลปากรจะเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี อีกมาตราคือ มาตรา 35 ระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 10 หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดไว้ในหนังสืออนุญาตตามมาตรา 10 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สวนรุกขชาติเชตวัน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 แพร่ เพื่อสำรวจตรวจสภาพชิ้นส่วนโครงสร้างอาคารที่ถูกรื้อถอนไป รวบรวมข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำผังรูปแบบเพื่อการบูรณะ ตามโครงการบูรณปฏิสังขรณ์เพื่อฟื้นคืนสภาพโบราณสถานอาคารศูนย์เรียนรู้ป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน (อาคารที่ทำการบริษัทอีสต์เอเซียติก และบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า) จ.แพร่

Cr. …. ขอขอบคุณ “ภาพ” จาก เพจ : สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่