วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

อำเภอสะเมิงใช้ “บวร” พิทักษ์ป่า นายอำเภอย้ำ หากตัดต้นไม้ เจอแล้งแน่นอน

สะเมิงยึดป่าคืนได้กว่า 40 ไร่ ทำพิธีบวชป่าหมายเอาต้นโพธิ์และต้นตองตึงยักษ์เป็นจุดหลอมรวมใจ ไม่ให้รุกป่าอีก นำ “บวร” เป็นเครื่องมือพิทักษ์ฟื้นฟู ชี้หากไม่เร่งปลูกไม้เพิ่มปล่อยให้ตัดต่อเนื่อง สะเมิงเจอะสภาวะแล้งแน่นอน พระสงฆ์เป็นผู้นำดึงมวลชนร่วมอนุรักษ์ผืนป่าในพื้นที่ ลดการเผา แก้ปัญหาป่าเสื่อมโทรม

วันที่ 24 มิ.ย. 63 ณ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิง (หลังสถานีเรดาร์) บ้านดงช้างแก้ว หมู่ที่ 10 ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ นายชัยณรงค์ นันตาสาย นายอำเภอสะเมิง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานอำเภอสะเมิง ได้เป็นประธานเปิดกิจกรรมตามโครงการ “รวมใจไทย ปลูกต้นไม้เพื่อแผ่นดิน” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดจากพลังและความร่วมมือคณะสงฆ์อำเภอสะเมิง นำโดย พระครูสุวัฒน์วรธรรม เจ้าคณะอำเภอสะเมิง หน่วยงานสังกัดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษาในพื้นที่ตำบลสะเมิงเหนือ ชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ ตำบลสะเมิงใต้ นักเรียนโรงเรียนสะเมิง จิตอาสาพระราชทานและประชาชนจิตอาสา ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ร่วมกิจกรรมกว่า 300 คน ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วย การปลูกต้นไม้ “ประชาอาสาฟื้นฟูพื้นที่ถูกไฟไหม้” และกิจกรรมการบวชป่า

นายชัยณรงค์ นันตาสาย นอ.สะเมิง กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนในพื้นที่ซึ่งเป็นตามโครงการปลูกครั้งที่ 5 แล้ว โดยสถานที่ปลูกแห่งนี้ได้ยึดเอาต้นโพธิ์ที่ขึ้นในป่าเป็นจุดที่ทำพิธี และมีต้นตองตึงยักษ์ขนาดสองคนโอบขึ้นอยู่ใกล้เคียงจึงนำมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ในห้วงที่ผ่านมานั้นเกิดการบุกรุกป่า แผ้วถางพื้นที่มีการปลูกต้นกล้วย โดยทางเจ้าหน้าที่ได้ใช้กฎหมาย สามารถยึดคืนกลับคืนมาแล้วกว่า 40 ไร่

“เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบุกรุกแผ้วถางอีก เพราะเกรงว่าหากปล่อยไว้ ก็จะมีการบุกรุกเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้พื้นที่ป่าแห่งนี้ได้รับผลกระทบ และไม่ต้องการให้เหมือนกับอำเภออื่นๆ ที่ป่าเกิดการเสื่อมโทรม เสียหาย จึงร่วมกันบวชป่าบริเวณนี้ทั้งหมด และจุดที่ทำพิธีบวชป่าในวันนี้ผืนป่ามีความสำคัญของอำเภอสะเมิง เป็นแหล่งต้นน้ำที่เรียกกันว่า “น้ำออกรู” มีน้ำที่ออกมาจากรูพื้นดินเลยจุดนี้ลงไปด้านล่างบริเวณใกล้ๆ กับศาลเจ้าพ่อดงช้างแก้ว ซึ่งไม่เคยเหือดแห้ง เชื่อว่าน้ำที่ไม่เคยแห้งหายไปเลยนั้น เพราะป่าไม้อุดมสมบูรณ์ แต่หากปล่อยไว้ ปล่อยให้มีการบุกรุก อาจจะเกิดเกิดผลกระทบได้ ซึ่งน้ำออกรูจุดนี้หล่อเลี้ยงพื้นที่ตำบลสะเมิงใต้ตลอดทั้งปีไม่เคยเหือดแห้ง” นอ.สะเมิง กล่าว

นายชัยณรงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การบวชป่า เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน โดยยึดหลัก “บวร…บ้าน วัด โรงเรียน” ให้พระสงฆ์ โดยมีเจ้าคณะอำเภอสะเมิง เป็นผู้นำ ร่วมกับทางอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลอมรวมชาวบ้านในพื้นที่ให้ช่วยกันอนุรักษ์ผืนป่า เมื่อมีการบวชป่า ผูกต้นไม้ด้วยผ้าเหลืองแล้วต้นไม้ต้นนั้นก็จะไม่ถูกตัด และเจริญเติบโตในพื้นที่ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และชาวบ้านยังได้ประโยชน์ เพราะสามารถเข้ามาเก็บเห็ด เก็บหน่อไม้ รวมถึงนำใบไม้มาทำเป็นภาชนะ โดยใช้เครื่องอัดความร้อนให้ออกมาเป็นรูปทรง โดยทางอำเภอสะเมิงได้รับความช่วยเหลือด้านองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเทคโนโลยี ลดการเผาเปลี่ยนใบไม้ให้เป็นเงินนำมาสอนให้กับชาวบ้าน และมอบเครื่องมาให้ใช้ ต่อไปชาวบ้านก็จะนำใบไม้เหล่านั้นมาทำเป็นภาชนะ ถ้วย ชาม และออกจำหน่าย สร้างรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัว และคนในชุมชนได้ พร้อมกับสอนวิธีปลูกเห็ดอย่างง่ายให้กับชาวบ้านด้วย เพื่อลดการเผาป่า ตามความเชื่อว่าเผาแล้วจะได้เห็ด โดยเฉพาะเห็ดเผาะ

สำหรับโครงการนี้จะดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าว่าจะมีการปลูกให้ครบ 20,000 ต้น ซึ่งปัจจุบัน 5 โครงการรวมถึงในวันนี้ด้วย ก็ได้ดำเนินการปลูกไปแล้ว 9,000 ต้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจิตอาสา ให้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสภาพป่าที่เสียหายจากสถานการณ์ไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าด้วยการปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าเกิดความรัก ความหวงแหนและเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ เพื่อช่วยป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ลดมลภาวะเป็นพิษจากฝุ่นและหมอกควัน อีกทั้งลดภาวะโลกร้อน และเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมในการเพาะเห็ด โดยมีเจตนารมณ์สำคัญ คือ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้ทุกคนมีความรัก หวงแหนป่าไม้และให้เห็นถึงความร่วมมือ ร่วมใจของทุกหมู่เหล่า และที่สำคัญอย่างยิ่ง เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์ไฟป่าในปีนี้ ให้มีความอุดมสมบูรณ์