วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

ฝายพับได้สุดเจ๋ง ลงทุนแค่บาทเดียวได้น้ำ 10 เท่า คป.เชียงใหม่ชี้เป็นการลงทุนสุดคุ้ม อาจนำต่อยอดโครงการเบ็ดเสร็จฯ

17 มิ.ย. 2020
2724

โครงการชลประทานเชียงใหม่โชว์ศักยภาพฝายพับได้ตัวแรกของประเทศ ควักเงินแค่ล้านเศษสามารถเพิ่มความจุน้ำได้กว่า 10% เปรียบชัดสร้างอ่างใช้เงิน 100 ได้น้ำ 100 ลิตร ควักเพิ่มอีก 1 บาท ได้น้ำเพิ่ม 10 ลิตร ของจริงบนสปริงเวย์อ่างแม่จอกเพิ่มความจุอ่างได้กว่า 1.3 แสนคิว ชี้เป็นการลงทุนสุดคุ้ม เทคโนโลยีเรียบง่าย วัสดุหาง่ายในพื้นที่ แค่ไฮดรอลิกจากแบ็คโฮก็สร้างมูลค่าได้มหาศาล

วันที่ 17 มิ.ย. 63 ซึ่งเป็นวันที่สองที่สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ซึ่งได้รับการมอบหมายของ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นำผู้สื่อข่าวจากส่วนกลางและท้องถิ่นลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการจัดทำแผนการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ วันนี้ในช่วงเช้า คณะผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา พร้อมด้วยผู้สื่อข่าวจากส่วนกลางได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ส่วนในช่วงบ่ายได้ลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง ต.ดอยแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยมีนายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ ให้ข้อมูลอ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวงและประสิทธิภาพการใช้งานของฝายพับได้ตัวแรกของประเทศไทย

นายจรินทร์ฯ กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวงกรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างตามพระราชดำริ โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2521 แล้วเสร็จและเก็บกับน้ำได้ในปี 2522 ความจุแรกจากการออกแบบประมาณ 1.1 ล้าน ลบ.ม. สำหรับฝายพับได้สร้างขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเก็บกักน้ำให้เพิ่มได้มากยิ่งขึ้น จากเดิมความจุอยู่ที่ 1.1 ล้าน ลบ.ม. เมื่อสร้างฝายพับได้เข้ามาเสริมสามารถเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำได้อีกราว 1.3 แสน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นราว 10 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง

“วิธีการก่อสร้างฝายพับได้ของอ่างแม่จอกหลวง เป็นความร่วมมือระหว่างกรมชลประทานและมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี โดยทำการก่อสร้างเมื่อปี 2555 สำหรับการเพิ่มความจุให้อ่างเก็บน้ำนั้นมีหลายวิธี อย่างเช่นการสร้างฝายยาง การขุดลอกอ่าง หรือการเสริมด้วยฝายพับได้ ล้วนเป็นการเสริมประสิทธิภาพความจุให้แก่อ่างเก็บน้ำที่มีอยู่แล้ว การเสริมด้วยฝายพับได้นี้ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กได้ทั่วประเทศ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับเทคนิค ระดับธรณีวิทยา ภูมิประเทศของอ่างที่จะสร้าง โดยพิจารณาสปริงเวย์ของอ่างนั้นๆ ว่าต้องมีการก่อสร้างเพิ่มเติมมากน้อยเพียงใด อันจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับตัวอ่างที่ออกแบบไว้ด้วยว่าระดับความปลอดภัยอ่างอยู่ที่ระดับที่เหมาะสมและการไหลของน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำที่ต้องมีในปริมาณที่เพียงพอเหมาะสม รวมถึงความจุของน้ำที่เพิ่มขึ้นด้วย” ผอ.คป.เชียงใหม่ กล่าว

นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผอ.คป.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า สำหรับการทำงานของฝายพับได้ เป็นการทำงานโดยใช้ระบบไฮดรอลิคเพื่อยกหรือพับตัวฝาย หลักการทำงานก็คือ เมื่ออ่างเก็บน้ำมีน้ำไหลเข้าอ่างในปริมาณที่มากเกินกว่าความจุอ่าง น้ำส่วนเกินก็จะไหลผ่านสปริงเวย์ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ก็ไม่สามารถจะเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น หากสร้างฝายพับได้บริเวณสปริงเวย์หากน้ำไหลเข้าอ่างมากในช่วงฤดูฝนการทั่งจะล้นสปริงเวย์ก็ยกตัวฝายขึ้น ตัวฝายพับได้ที่อ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวงยกขึ้นได้ 80 ซม. จากระดับท้องสปริงเวย์เดิม ก็จะได้น้ำเพิ่มมากขึ้นอีก 80 ซม. ก็จะทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มมากขึ้นจากความจุเดิมซึ่งจุได้ 1.1 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นมาอีก 1.3 แสน เป็น 1.23 ล้าน ลบ.ม. ส่วนงบประมาณที่ใช้ก่อสร้างฝายพับได้เมื่อปี 2555 ใช้งบประมาณสำหรับสร้างฝายต้นแบบตามงานวิจัยตัวนี้ราว 1 ล้านบาทเศษ ซึ่งคุ้มค่าเป็นอันมาก

ด้าน นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สืบเนื่องจากมีความต้องการใช้น้ำจากอ่างแม่จอกหลวงเพิ่มมากขึ้น เพราะอ่างแม่จอกหลวงมีภาระที่ต้องให้การสนับสนุนหน่วยงานราชการมากมาย อาทิ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงสถานีประปาอุโมงค์ของ กปภ.เชียงใหม่ นอกจากนี้มีปริมาณน้ำล้นอ่างเกือบทุกปี อ่างเก็บน้ำมี Free board สูงเพียงพอ มีพื้นที่รับน้ำฝนไม่ใหญ่มาก มีอาคารระบายน้ำล้นมีความเหมาะสม และได้รับการสนับสนุนจากกรมชลประทาน จึงได้สร้างฝายพับได้ที่อ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ เพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ในส่วนที่เสริมความสูงสันอาคารระบายน้ำล้นได้ 150,000 ลบ.ม. ซึ่งได้สร้างตัวบานฝายที่ความสูง 1.30 เมตร อีกทั้งยังเป็นทางเลือกในการใช้อาคาร เพื่อเพิ่มศักยภาพของอ่างเก็บน้ำในอนาคต

“ฝายพับได้ที่อ่างแม่จอกหลวงเกิดจากงานวิจัยซึ่งเป็นฝายต้นแบบ ซึ่งสร้างจากวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ ตัวไฮดรอลิกก็ใช้ไฮดรอลิกตัวบนของแขนรถแบ็คโฮ เทคโนโลยีที่ใช้ในการก่อสร้างเรียบง่าย แต่ผลที่ได้รับคุ้มค่าอย่างมาก อาจจะเปรียบได้ว่า การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 1 ตัว ต้องใช้เงิน 100 บาท ได้น้ำ 100 ลิตร หากว่าสร้างฝายพับได้เพิ่มโดยใช้เงิน 1 บาท แต่ได้น้ำ 10 ลิตร จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งว่าคุ้มค่ามาก” นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล วศ.คป.เชียงใหม่ กล่าว

ทั้งนี้คณะบริษัทที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้ทำการศึกษาเพื่อจัดทำแผนการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าดูงานในพื้นที่อ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวงในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่อ่างเก็บน้ำโดยการสร้างฝายพับได้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการนำไปใช้กับการปรับปรุงฝายในโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำในโครงการมากถึง 22 อ่างที่ต้องทำการปรับปรุงและก่อสร้างใหม่