วันจันทร์, 6 พฤษภาคม 2567

โครงการเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำปิงคืบ ไม่ผิดคิว ปี 69 สร้างเสร็จ เกษตรกรครวญ “อ่างคือความหวังสุดท้าย”

17 มิ.ย. 2020
1593

กรมชลประทานหิ้วสื่อทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นตามความคืบหน้าการจัดทำแผนพัฒนาโครงการเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง วางแนวทางปรับปรุงและสร้างใหม่อ่างเก็บน้ำกว่า 22 แห่ง ชี้พื้นที่รับผลประโยชน์กว่า 1.7 แสนไร่ ในพื้นที่ 2 อำเภอ จอมทองและบ้านโฮ่ง กางโร๊ดแม็ป กันยา 63 ทำแผนเสร็จ ชงรับงบประมาณไม่ผิดแผน ปี 69 ปรับปรุงเสร็จ เกษตรกรวอนรัฐเร่งผลักดัน ชี้มีอ่างมีน้ำชีวีมีสุข ยันน้ำจากอ่างเป็นทำให้พืชเจริญมากกว่าน้ำบาดาล ย้ำตรงๆ อ่างเก็บน้ำคือความหวังสุดท้าย

วันที่ 16 มิ.ย. 63 ที่สำนักงานโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน โดยการมอบหมายของ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยผู้สื่อข่าวจากส่วนกลางและท้องถิ่นลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการจัดทำแผนการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมี นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ นายไพรัตน์ พับประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายณัฐวุฒิ นากสุก ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประทานที่ 1 กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา กลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ชลประทาน ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปการดำเนินโครงการฯ

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กล่าวถึงโครงการจัดทำแผนการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบฯ ว่า ศูนย์ศึกษาเบ็ดเสร็จฯ มีพื้นที่รับประโยชน์ราว 1.7 แสนไร่ แนวความคิดที่เป็นประเด็นสำคัญคือ การที่ต้องมีน้ำ โดยหลักที่ว่า ถ้าไม่มีน้ำ พื้นที่เกษตรอยู่ไม่ได้ สิ่งมีชีวิตทุกอย่างก็อยู่ไม่ได้ เริ่มต้นของการจัดทำแผนพัฒนาฯ จึงมองไปที่เรื่องน้ำ สิ่งที่พบในเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำในโครงการที่มีอยู่เดิมทั้ง 22 แห่ง รวมทั้งมิติอื่นเช่าแหล่งน้ำใต้ดิน ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากว่าโดยสภาพภูมิประเทศบริเวณนี้อยู่ในเขตอับฝน

“แนวคิดก็คือจะทำอย่างไรให้พื้นที่นี้มีน้ำใช้อย่างยั่งยืนมั่นคง โดยการปรับปรุงอ่างที่มีอยู่ทั้งหมดนี้ให้มีความสมบูรณ มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน ซึ่งอาจนำระบบอ่างพวงมาใช้ ส่วนอ่างที่มีการรั่วซึมก็จะมีการซ่อมแซมป้องกันให้เกิดความแน่นหนา รวมถึงอาจดึงน้ำจากแม่น้ำปิงมาเติมในบางช่วงเวลา เหล่านี้คือแนวคิดที่จะนำมาสู่การปรับปรุงอ่างต่างๆ ที่มีอยู่ในโครงการฯ และจะดำเนินการในระยะเวลาอันใกล้นี้” นายสุรชาติฯ กล่าว

“การศึกษาเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาซึ่งการศึกษาก็เดินหน้ามาพอสมควร การลงพื้นที่ในวันนี้ก็เพื่อมาดูพื้นที่จริงในการจะเป็นแนวทางวางรูปแบบการปรับปรุง ในเบื้องต้นไม่ใช่เป็นเพียงการปรับปรุงเท่านั้น มีอ่างที่ต้องก่อสร้างใหม่ด้วย เช่นอ่างห้วยปุ๊ตอนบน ซึ่งจะทำการก่อสร้างใหม่ ก็จะมีการออกแบบใหม่พร้อมกับทำการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ไว้เพื่อการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ความจุน้ำที่ได้เพิ่มไม่น้อยกว่า 3 ล้าน ลบ.ม.”

นายสุรชาติฯ กล่าวต่อว่า สำหรับอ่างอื่นที่เหลือจะมีการปรับปรุงระบบส่งน้ำ ยกระดับเก็บกักในบางอ่าง และมีการเชื่อมต่อเป็นระบบอ่างพวง กล่าวคือ น้ำที่จะทำในโครงการนี้จะเพิ่มจากเดิมราว 10 ล้าน ลบ.ม. โดยพื้นที่การเกษตรเกือบทั้งหมดเป็นพืชสวน คือ ลำไย ซึ่งไม่ได้ใช้น้ำมากอย่างนาข้าว คาดว่าน้ำที่มีเพิ่มขึ้น 10 ล้านคิว จะช่วยให้พื้นที่ในโครงการฯ นี้มีความสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้นได้พอสมควร

“สำหรับระยะเวลาในการจัดทำแผนซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2563 นี้ ก็จะนำไปขอตั้งงบประมาณในการดำเนินการปรังปรุงได้ในปีงบประมาณถัดไปได้เลย ก็อาจใช้งบประมาณปี 2564 เพิ่มเติม หรืองบประมาณปี 2565 และหากแยกเฉพาะเป็นรายอ่างในแต่ละตัวการปรับปรุงซ่อมแซมจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี แต่เชื่อว่าโครงการนี้น่าจะถูกนำไปตั้งเป็นแผนพัฒนาต่อเนื่องไว้ เป็นแผน 5 ปี นั่นก็หมายความว่า ในปี 2569 การปรับปรุงก็น่าจะแล้วเสร็จ” นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กล่าว

ด้าน นายนคร จันทราสว่างวงศ์ เกษตรกรผู้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำในโครงการฯ กล่าวว่า ส่วนตัวทำสวนลำไย 15 ไร่ ในพื้นที่ประสบภัยแล้งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านั้นน้ำในอ่างเก็บน้ำพอมีใช้บ้าง แต่ 3 ปีมานี้ไม่มีน้ำในอ่างเลย บางอ่างมาแต่น้อยมาก ไม่เพียงพอที่จะใช้ได้ แต่ละสวนก็ต้องอาศัยน้ำบาดาลซึ่งต้องเสียค่าไฟฟ้าแต่ละปีราว 3 หมื่นบาท ที่สำคัญคือ การใช้น้ำบาดาลแตกต่างจากการที่มีน้ำในอ่างเก็บน้ำมาก หากใช้น้ำจากอ่างมารดสวน สวนจะมีความชุ่มชื้นมากกว่า ต้นไม้เจริญงอกงามมากว่า เพราะน้ำจากอ่างมีอาหารต้นไม้ที่เกิดจากการทับถมมากกว่าน้ำบาดาล นอกจากนี้ถ้าอ่างเก็บน้ำมีน้ำกักเก็บจะส่งผลให้น้ำใต้ดินมีเพิ่มมากขึ้นด้วย เมื่อน้ำใต้ดินเพิ่มมากขึ้นความชุ่มชื้นในดินก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

“ชาวสวนใช้น้ำจากอ่างรถต้นลำไยรดแต่ละครั้งอยู่ได้เป็นสัปดาห์สวนยังมีความชุ่มชื้นอยู่ แต่ถ้ารดโดยใช้น้ำบาดาลเพียงแค่ 3 วัน สวนก็แห้งแล้ว โครงการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำทั้ง 22 แห่ง เป็นความหวังอย่างมากของชาวสวนในพื้นที่นี้ จะเรียกว่าเป็นความหวังสุดท้ายของชาวสวนลำไยที่นี่ก็ว่าได้ มีอ่างมีน้ำชาวบ้านมีความสุข” นายนครฯ เกษตรกรผู้ใช้น้ำจากโครงการฯ กล่าวในที่สุด