วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

ฝายเชียงหมั้นคืบ ไชยปราการเฮ!! ได้ใช้น้ำ ชี้น้ำฝางมั่นคง ต้องมี “ปางมะขามป้อม”

09 มิ.ย. 2020
1748

ผู้ใช้น้ำฝายเชียงหมั้นเฮ ตัวฝายเป็นรูปเป็นร่างอีกไม่นานจะได้ใช้น้ำดั่งหวัง รอมานานกว่า 5 ปี กรมชลประทานอัดงบกว่า 35 ล้านบาทแยกตัวฝายออกมาก่อสร้างก่อน ส่วนระบบยกไปทำในปีงบฯ 64 “พ่อหลวงแก้ว” ยันในพื้นที่ไร้ปัญหาต่อต้าน ทุกคนอยากใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมานานแล้ว พร้อมย้ำ “น้ำฝางจะมั่นคง ต้องสร้างอ่างปางมะขามป้อม”

บริเวณก่อสร้างฝายเชียงหมั้น อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ นายเสาร์แก้ว วงศ์อ่อน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ต.ศรีดงเย็น ในฐานะประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายเชียงหมั้น กล่าวถึงโครงการก่อสร้างฝายเชียงหมั้น ว่า ฝายเชียงใหม่เป็นฝายลูกที่ 2 ในลุ่มแม่น้ำฝาง ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของกลุ่มผู้ใช้น้ำลุ่มแม่น้ำฝาง เดิมฝายลูกนี้เป็นฝายแบบตีหลักซึ่งใช้ถึงตำบลแม่ข่าจากนั้นก็แยกกัน จากนั้นราวปี 2527 ได้มีการก่อสร้างเป็นฝายคอนกรีต กระทั่งในปี 2542 น้ำป่าได้เริ่มกัดเซาะท้ายฝายและเกิดความเสียหายกับตัวฝายอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา จนถึงปี 2559 เกิดความเสียหายอย่างสิ้นเชิง

“ได้มีความพยายามหาวิธีการต่างๆ ที่จะขอให้หน่วยงานเข้ามาแก้ไข จะซ่อมแซมหรือสร้างใหม่ได้หมด กระทั่งกรมชลประทานได้เข้ามาสำรวจพร้อมกับการออกแบบตัวฝายใหม่ทั้งหมด ใช้เวลากว่า 5 ปีจึงมีการก่อสร้างตัวฝาย ขณะนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างเห็นได้อย่างชัดเจนเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำเองยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ฝายกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งต่อไปก็เป็นเรื่องระบบส่งน้ำก็เชื่ออีกเช่นกันว่าตัวระบบจะเป็นโครงการต่อเนื่องจากที่การก่อสร้างฝาย ทางชลประทานเองได้ลงพื้นที่สำรวจเกือบเสร็จหมดแล้ว ไม่มีปัญหาในพื้นที่แต่อย่างใด เพราะเกษตรกร ชาวบ้านมีความต้องการใช้น้ำอยากให้มีการดำเนินการให้เสร็จโดยไวด้วยซ้ำ” นายเสาร์แก้วฯ กล่าว

นายเสาร์แก้ว วงศ์อ่อน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ต.ศรีดงเย็น กล่าวอีกว่า สำหรับฝายเชียงหมั้นหล่อเลี้ยงพื้นที่ทางการเกษตรราว 2,500 ไร่ หากก่อสร้างแล้วเสร็จชาวบ้านจะได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะฝายลูกนี้มีศักยภาพในการกักเก็บน้ำมากกว่าทุกฝายในลุ่มน้ำฝาง สามารถเก็บน้ำเหนือฝายขึ้นไปได้มากกว่าฝายลูกอื่นๆ ในแม่น้ำฝาง ซึ่งมีฝายทั้งสิ้น 11 ลูก ส่วนแม่น้ำฝางนั้นถ้าจะให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนและเกษตรกรผู้ใช้น้ำทั้ง 3 อำเภอ ตั้งแต่ อ.ไชยปราการ อ.ฝาง และ อ.แม่อาย แม่น้ำฝางต้องมีอ่างเก็บน้ำ อ่างที่ว่าก็คือ อ่างเก็บน้ำปางมะขามป้อม

ฝายเชียงหมั้น เป็นงานก่อสร้างฝายลูกที่ 2 พร้อมระบบส่งน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทานในลุ่มน้ำฝาง (ระยะที่ 1) จังหวัดเชียงใหม่ ก่อสร้างเพื่อการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการทั้งระบบในลำน้ำฝาง โดยลักษณะงานเป็นงานปรับปรุงฝายคอนกรีตเสริมเหล็กแบบ ขนาดสูง 3.50 เมตร ยาว 50.00 เมตร โดยมีรายละเอียดการปรับปรุงและก่อสร้าง ดังนี้ ก่อสร้างอาคารฝายน้ำล้น (ฝายเชียงหมั้น) ประเภทอาคารฝายคอนกรีต สูง 3.5 ม. กว้าง 50 ม. ในลำน้ำฝาง พร้อมขุดลอกตะกอนหน้า – ท้ายฝายน้ำล้น ขุดลอกและก่อสร้างลำเหมืองเป็นคลองคอนกรีตดาด ความยาวประมาณ 5.3 กม. ก่อสร้างระบบส่งน้ำและระบบระบายน้ำ พร้อมอาคารประกอบในระบบส่งน้ำ เช่น อาคารบังคับน้ำ อาคารอัดน้ำ อาคารเชื่อมต่อ อาคารแบ่งน้ำ อาคารเชื่อมต่อ ฯลฯ โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ 3,500 ไร่ เมื่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่า จะมีพื้นที่รับประโยชน์ในช่วงฤดูฝนประมาณ 44,079 ไร่ ในฤดูแล้งประมาณ 26,500 ไร่

ทั้งนี้สืบเนื่องจากความต้องการของผู้ใช้น้ำในพื้นที่ที่ไม่มีฝายสำหรับทดน้ำเนื่องจากตัวฝายเชียงหมั้นเกิดความเสียหายอย่างสิ้นเชิง กรมชลประทานจึงแยกการก่อสร้างตัวฝายออกมาก่อสร้างก่อนในปีงบประมาณ 2563 โดยวงเงินงบประมาณ 35 ล้านบาท เป็นงานที่กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างเอง ซึ่งต้องดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2563 สำหรับระบบส่งน้ำและอาคารประกอบ ซึ่งมีแผนดำเนินการก่อสร้างภายในปีงบประมาณ 2564 ด้วยวงเงินงบประมาณ 33,150,960 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจออกแบบ