วันจันทร์, 6 พฤษภาคม 2567

“เขื่อนแม่กวงฯ” อัดน้ำ 48 ล้านลิตรช่วยประปา เตรียมถกแผนปลูกข้าวพร้อมกันเพื่อประหยัดน้ำ

01 มิ.ย. 2020
1491

เขื่อนแม่กวงฯ ส่งน้ำกว่า 48 ล้านลิตรช่วยประปา แม่โป่ง หนองแหย่ง ขาดแคลนน้ำอย่างหนัก “เจนศักดิ์” ยันทำตามนโยบาลกรมชลครบทุกข้อ เผยแผนปีเพาะปลูก 63 ให้ปลูกพร้อมกันกลางกรกฎาคม เกษตรกรกว่า 80% ขานรับ นัดถกแกนนำอีกครั้ง 8 มิ.ย. หวังเกษตรกรร่วมมือจะช่วยประหยัดน้ำได้อย่างมาก

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา กล่าวว่า ช่วงตั้งแต่กรมอุตตุนิยมวิทยาได้ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 18 พ.ค.63 เป็นต้นมา แต่ในพื้นที่ของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ก็ยังมีฝนตกในพื้นที่เพียง 141 มม. เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย ณ วันเดียวกัน 204 มม. คิดเป็น 69.12% เท่านั้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนน้อยลงไปด้วย ปัจจุบันมีน้ำไหลเข้าเขื่อน 6.1 ล้าน ลบ.ม. เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย ณ วันเดียวกัน 11.6 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 52.59% ทำให้เหลือน้ำเก็บกักอยู่ในเขื่อนปัจจุบัน 61.73 ล้าน ลบ.ม.(23.48%)

“เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และกรมชลประทาน ในช่วงระหว่างที่ฝนยังตกในปริมาณที่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย จึงมีการส่งน้ำให้กับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค โดยได้ร้องขอให้ช่วยเหลือไปแล้ว 2 พื้นที่ คือ ในพื้นที่ ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ มีแหล่งน้ำที่ใช้เป็นน้ำต้นทุนในการผลิตประปาจำนวน 3 หมู่บ้าน (หมู่ที่ 2 ,6 และ 10) ขาดแคลนน้ำ ได้ส่งน้ำเข้าพื้นที่เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 63 ราว 40,000,000 ลิตร พื้นที่ ต.หนองแหย่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ แหล่งน้ำที่เป็นน้ำต้นทุนผลิตน้ำประปาหมู่บ้านขาดแคลนน้ำรวมถึงพื้นที่ทุ่งปศุสัตว์ โครงการฯ ได้ส่งน้ำเข้าพื้นที่เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 63 ปริมาณน้ำที่ส่งให้ทั้งสิ้น 8,100,000 ลิตร” นายเจนศักดิ์ฯ กล่าว

การดำเนินการดังกล่าวเป็น 1 ใน 5 นโยบายของกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน โดยกำหนดไว้ว่า 1. น้ำอุปโภค บริโภค เพียงพอตลอดปี 2. พื้นที่ชลประทานที่เพาะปลูกในฤดูนาปี ให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง หรือขาดแคลน 3. บริหารน้ำท่าด้วยอาคารชลประทานให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ให้สามารถนำน้ำในพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่า 4. เก็บกักน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนให้ได้มากที่สุด โดยการบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้มีน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งหน้า และบริหารน้ำหลากให้เกิดประสิทธิภาพ และ 5. วางแผนการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ โดยใช้หลักการ 3 ข้อ คือ การกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย(มาก ปานกลาง น้อย) การกำหนดตัวบุคคลที่รับผิดชอบแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน และสุดท้ายเตรียมเครื่องจักรเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมเมื่อเกิดเหตุ ซึ่งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธาราได้ดำเนินการครบถ้วนแล้วตามที่กรมชลประทานสั่งการ

“สำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลปลูกข้าวปี 2563 นี้ ได้วางแผนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ไว้แล้ว คือ กำหนดให้เริ่มทำการเพาะปลูกและโครงการฯ จะเริ่มส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร ในวันที่ 15 ก.ค. 63 โดยจะมีการประชุมเพื่อวางแผนรอบเวรในการบริหารจัดการน้ำอีกครั้งในวันที่ 8 มิ.ย.63 นี้ ซึ่งในปีการเพาะปลูกที่ผ่านมาเกษตรกรเริ่มปลูกต่างเวลากัน บางรายปลูกในเดือนมิถุนายน บางราวเดือนกรกฎาคม บางรายก็ปลูกในเดือนสิงหาคม ซึ่งทำให้การบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดทำได้ยาก ปีนี้จึงกำหนดใหม่ให้มีการเพาะปลูกพร้อมๆ กัน ปล่อยน้ำใช้น้ำพร้อมๆ กัน ซึ่งจะทำให้ประหยัดน้ำเพิ่มได้อีก และจากการพูดคุยกันนอกรอบเกษตรกรส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 เห็นด้วยที่จะปลูกพร้อมๆ กัน เป้าหมายก็เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพ และประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรผู้ใช้น้ำ” นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.คบ.แม่กวงอุดมธารา กล่าว