วันศุกร์, 6 ธันวาคม 2567

ชลประทานควัก 3 ล้านแก้แล้งอ่างห้วยโป่งจ้อ ไม้ต่อเตรียมขออีก 70 ล้านหวังแก้อย่างยั่งยืน

30 พ.ค. 2020
2914

ชลประทานเดินเครื่องแก้ปัญหาแล้งในพื้นที่ดอยหล่อ เปิดงานปรับปรุงเร่งด่วนซ่อมระบบผันน้ำจากฝายแม่ตื่นมาเติมอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งจ้อ ควักก้อนแรก 3 ล้าน ขุดลอกหน้าฝายพร้อมซ่อมท่อส่งน้ำที่ชำรุดมา วางแผนดันโครงการต่อกางงบ 70 ล้าน หวังสร้างความมั่นคงให้ระบบผันน้ำ ปรับปรุงฝายทั้งระบบพร้อมระบบส่งน้ำโดยท่อเหล็ก คาดได้งบก่อสร้างปี 65 “หนุ่ม นเรศ” ลงพื้นที่ลั่นระฆังเปิดงานเอง ยันจะดันเต็มที่เพื่อแก้แล้งอำเภอโซนใต้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน

ที่บริเวณฝายแม่ตื่น ต.สันติสุข อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) เป็นประธานเปิดโครงการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ขุดลอกหน้าฝาย ซ่อมแซมเครื่องยกบานระบาย พร้อมระบบผันน้ำจากฝายแม่ตื่นลงอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งจ้อ โดยมี นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ นายเกื้อกูล เอื้อสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ นายจีระศักดิ์ ศรีจันทร์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 7 และเจ้าหน้าที่โครงการชลประทานเชียงใหม่ ให้การต้อนรับและให้ข้อมูลการดำเนินงานตามโครงการ ทั้งนี้มีเกษตรกรผู้ใช้น้ำจากฝายแม่ตืนและอ่างเก็บน้ำโป่งจ๊อเป็นจำนวนมากมาให้การต้อนรับและร่วมฟังบรรยายสรุป

นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผอ.คป.เชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอดอยหล่อกระทั่งเป็นข่าวปรากฏในสื่อสารมวลชนว่า “เชียงใหม่แล้งจัดชาวสวนตักน้ำจากแม่น้ำปิงใส่รถบรรทุกเติมใส่อ่างเก็บน้ำเอง” โครงการชลประทานเชียงใหม่ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบจึงได้ลงพื้นที่เพื่อรับทราบถึงปัญหาและหาแนวทางแก้ไข โดยเบื้องต้นได้นำเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 2 เครื่อง พร้อมด้วยท่อส่งน้ำ อุปกรณ์ และรถบรรทุก ขนาด 6,000 ลิตร 2 คน มาประจำการ ณ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาเรื่องน้ำแห่งที่ 4 ซึ่งประจำการรับเรื่องอยู่ที่ฝายดอยน้อย เพื่อให้การสนับสนุนพื้นที่การเกษตรกรณีมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

“สำหรับการดำเนินการในวันนี้จะเป็นวันเริ่มต้นในการดำเนินงานตามโครงการแก้ไขปัญหาในระยะต่อ โดยจะทำการขุดลอกหน้าฝาย ซ่อมแซมเครื่องยกบานระบาย พร้อมระบบผันน้ำจากฝายแม่ตื่นลงอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งจ้อ โดยระยะที่ 1 ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากกรมชลประทานจำนวน 3 ล้านบาท เพื่อดำเนินการขุดลอกตะกอนหน้าฝาย ซ่อมแซมชุดยกบานระบาย และซ่อมแซมท่อส่งน้ำที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้สามารถผันน้ำจากฝายแม่ตื่นไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งจ้อเป็นการบรรเทาในเบื้องต้นไปก่อน ส่วนระยะต่อไปโครงการชลประทานเชียงใหม่ได้ทำการออกแบบปรับปรุงระบบผันน้ำใหม่ทั้งระบบซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างโดยใช้งบประมาณการในปี 2565 ซึ่งขณะนี้แบบก่อสร้างทำการออกแบบเสร็จสิ้นแล้ว ต่อจากนี้จะเป็นการประมาณราคาเพื่อให้ทราบถึงราคาก่อสร้างที่แท้จริงอีกครั้ง” ผอ.คป.เชียงใหม่ กล่าว

ด้าน นเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) กล่าวว่า ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งจ้อในช่วงฤดูแล้งส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่อำเภอดอยหล่อมากถึง 3 ตำบล ได้แก่ ต.สันติสุข สองแคว และ ต.ดอยหล่อ ทำให้อำเภอดอยหล่อเป็น 1 ใน 5 อำเภอของเชียงใหม่ ที่ต้องประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย (ภัยแล้ง) โครงการนี้จึงเป็นโครงการสำคัญที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำของพี่น้องเกษตรกรผู้ใช้น้ำในพื้นที่ดอยหล่อได้

“ปัญหาของภัยแล้งในพื้นที่ 4 อำเภอ โซนใต้ ทั้งที่ อ.ดอยหล่อ แม่วาง สันป่าตอง และ อ.จอมทอง ในฐานะที่อาสาเข้ามารับใช้พี่น้องประชาชนในเขต 8 ซึ่งได้รับตำแหน่งให้มาทำงานที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย ก็พยายามที่จะผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องแหล่งน้ำและภัยแล้ง ซึ่งได้แก้ไขไปในหลายๆ จุดแล้ว อย่างเช่นในพื้นที่ อ.สันป่าตอง ได้นำโครงการบ่อบาดาลสูบน้ำด้วยระบบโซล่าเซลเข้ามาช่วยในหลายพื้นที่ ส่วนที่ อ.แม่วาง ก็พยายามผลักดันโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่วาง ซึ่งได้งบทำการศึกษา EIA แล้ว ปีนี้ก็ได้งบประมาณในการสร้างหัวงานแล้ว ส่วน อ.ดอยหล่อ นอกจากโครงการนี้ ยังจะมีบ่อบาดาลมาลงในพื้นที่ด้วย คาดว่าจะนำงบเหลือจ่ายจาก โครงการ สปก. มาดำเนินการในพื้นที่คาดว่าจะได้ก่อสร้างจำนวน 5 โครงการ” นายนเรศฯ กล่าว

สำหรับโครงการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ หรือโครงการปรับปรุงระบบผันน้ำฝายแม่ตื่น-อ่างเก็บน้ำห้อยโป่งจ้อ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ วงเงินงบประมาณราว 70 ล้านบาท กำหนดใช้งบประมาณประจำปี 2565 โครงการฯ มี 2 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน จะทำการขุดลอกตะกอนหน้าฝายแม่ตื่น พื้นที่ขุดลอกประมาณ 1,200 ตร.ม. ขุดลึกราว 3 เมตร ปริมาณดินขุดประมาณ 3,600 ลบ.ม. ขุดลอกตะกอนในรางผันน้ำ คสล. เริ่มจากอาคารควบคุมไปยังปลายรางผันน้ำ คสล. ความยาวรางผันน้ำ 3,930 เมตร และการซ่อมแซมระบบท่อผันน้ำช่วงที่เสียหายมาก โดยทำการวางท่อ HDPE ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 ซม. พร้อมกับการซ่อมแซมอาคารประกอบในจุดเริ่มต้นการระบายน้ำ

ระยะต่อไป เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยจะดำเนินการปรับปรุงฝายแม่ตื่น เพื่อแก้ปัญหาการตกทับถมของตะกอนและปรับปรุงระบบผันน้ำให้มีความทนทาน การปรับปรุงฝายแม่ตื่นจะปรับปรุงอาคารทางระบายฝั่งขวาและปรับปรุงช่องระบายทรายให้มีขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมติดตั้งบานระบายตะกอนและเครื่องกว้านบานระบาย นอกจากนี้จะทำการก่อสร้างระบบผันน้ำฝายแม่ตื่น-อ่างเก็บน้ำห้วยโป่งจ้อ ด้วยการวางท่อเหล็กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 ซม. ทดแทนท่อ HDPE เดิม ตลอดแนวท่อส่งน้ำ ยาวประมาณ 4,100 เมตร พร้อมก่อสร้างอาคารรับท่อ และอาคารป้องกันตลิ่งบริเวณที่แนวทางผันน้ำหลุดออกจากตลิ่ง