“เชียงใหม่เดลี่” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ วัลลภ แก้วมา เจ้าของแบนด์ดัง “หนานแดง เย็นตาโฟ” เมื่อวันคลายล็อค 3 พ.ค. 63 ที่ผ่านมา วัลลภ แก้วมา หรือคนที่ชาวแม่วางเรียกกันติดปากว่า…. “หนานแดง”
“หนานแดง เย็นตาโฟ อยู่ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เชียงใหม่เย็นตาโฟ จำกัด ซึ่งที่ผ่านมาเชียงใหม่เย็นตาโฟจะมีรายได้อยู่ราว 1-2 แสนบาท ต่อวัน ซึ่งเป็นรายได้ ทั้งจากสาขาและจากการส่งวัตถุดิบ อย่างที่ร้าน หนานแดง เย็นตาโฟ ที่แม่วางนี้ นี่ก็เป็นสาขาหนึ่ง ซึ่งต้องรับของจากเชียงใหม่เย็นตาโฟมาขาย รายได้ของที่นี่ก็เป็นเฉพาะของร้านนี้ ส่วนบริษัทก็จะมีรายได้จากการส่งวัตถุดิบมาให้ร้านนี้ เฉพาะที่ร้านนี้ รายได้แต่ละวันจะได้อยู่ราว 3-4 หมื่นบาท บางวันมียอดถึง 5 หมื่นบาทก็มี” หนานแดง แจงถึงแนวทางการบริหารจัดการภายใต้แบรนด์ “หนานแดง เย็นตาโฟ”
“พอเจอพิษ ทั้งพิษเศรษฐกิจ ทั้งพิษโควิด-19 รายได้ที่เคยมีกว่า 3-5 หมื่นบาท ลดฮวบลงอย่างมากกว่า 10 เท่า รายได้เหลือแค่วันละ 3 พันกว่าบาท ดีที่สุดได้แค่ 4-5 พันบาทเท่านั้น จะเห็นเงิน 6 พันบาทเข้าร้านก็นานๆ ที ในวันที่มีความสั่งให้ปิดกิจการบางประเภทซึ่งมีร้านอาหารด้วย โดยไม่ให้นั่งกินในร้าน วันแรกที่สั่งปิด ร้านมีรายได้เพียง 2,300 บาท!!!”
ลูกค้าของ “หนานแดง เย็นตาโฟ” @ แม่วาง ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าในกลุ่ม ข้าราชการ พนักงานบริษัทห้างร้านต่างๆ รวมถึงนักท่องเที่ยว หรือผู้คนที่สัญจรผ่านเข้า-ออกแม่วาง ชาวบ้านทั่วไปมีเข้ามานั่งกินน้อยมาก มีไม่ถึง 10% แรกเริ่มที่สั่งปิด ลูกค้ากลัวมาก กลัวโควิด-19 คนแทบไม่ออกไปไหน ยิ่งนั่งกินไม่ได้ ยิ่งไม่เหลือลูกค้า เมื่อนั่งกินในร้านไม่ได้ก็ต้องมีชามให้ลูกค้าไปนั่งกินในรถ นั่งกินที่อื่น
จากวันละ 3-5 หมื่นบาท ชั่วข้ามคืนรายได้เหลือเพียง…2,300 บาท คำถามก็ผุดเต็มหัว “วัลลภ แก้วมา” …ทำอย่างไรให้รอด?? จากการรณรงค์ของรัฐบาลที่ว่า อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ นั่นก็เท่ากับว่า…ลูกค้าอยู่บ้าน โจทย์ก็คือ ทำอย่างไรจะไปหาลูกค้าได้ถึงบ้าน??
คำตอบก็คือ…ทำรถ เพื่อไปให้ถึง ลูกค้า
“เราเร่งประกอบรถให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน ซึ่งเป็นการทำงานแข่งกับเวลา เพราะว่า เขาไม่มาหาเรา เราต้องไปหาเขา เราจึงทำเป็นรถต้นแบบออกมาทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ก็นำออกไปบริการลูกค้าถึงที่ลูกค้าพำนัก ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีการโทรตาม โทรเร่ง มีการถามว่า ถึงไหน เร่งหน่อยได้ไหม หิวแล้ว ตรงนี้ก็ตอบโจทย์ที่เราตั้งไว้ได้ดี จากที่เราขยับมีทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์พ่วงข้างไปหาลูกค้าถึงที่พำนัก ทำให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีกวันละหมื่นกว่าบาท อีกไม่กี่วันก็จะครบเดือนแล้วก็จะมีการประเมินจากนั้นก็จะกำหนดแนวทางการทำโมบายฟู๊ด (Mobile Food) ให้เต็มรูปแบบอีกครั้ง ซึ่งก็มีเป้าหมายคร่าวๆ ว่าจะผลิตขึ้นมาเรื่อยๆ หากใครสนใจที่ยังว่างงานก็มาหาเราได้ เราสอนให้ได้ เพียงแค่..มีใจรัก ใส่ใจ และอดทน”
เย็นตาโฟ ก๋วยเตี๋ยว เป็นอาหารนิยมของคนไทย อยู่ที่ไหนก็ขายได้ ขณะนี้ “เชียงใหม่ เย็นตาโฟ” ทำบะหมี่ขึ้นมาเป็นอีกสายการผลิต ภายใต้แบรนด์ “บะหมี่คุณธรรม” ที่คุณธรรมก็เพราะว่า ไม่ใส่ชูรส ไม่ใสสี ไม่มีสารกันบูด นี่ก็จะเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่จะนำออกแข่งขันในตลาดต่อไป
“วันแรกที่มีการคลายล็อค กลับมาเปิดให้มีการนั่งทานในร้านได้ แม้ลูกค้ายังน้อยอยู่ ก็ถือว่า เป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นการฟื้นคืนชีวิตให้กับร้านอีกครั้งก็ว่าได้ เพราะความเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว เย็นตาโฟ จะให้อร่อยต้องนั่งทานที่ร้าน สำหรับที่นี่เราให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการกับคำสั่งของภาครัฐในทุกเรื่อง ร้านเป็นห้องแอร์ ไม่ให้เปิดแอร์ เราก็เปิดหน้าต่าง”
“ความช่วยเหลือจากภาครัฐหากจะให้ได้ผลเป็นที่สุด รัฐบาลต้องมองเห็นว่าผู้ประกอบการนั้นทำจริง มีเป้าหมายชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ สำคัญคือ เงินทุนในการขับเคลื่อนเพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ การจัดสรรงบต่างๆ ต้องสอดคล้องกับความเดือดร้อนและความต้องการของผู้ประกอบการ การประกอบธุรกิจมีขึ้นมาลง มีบ้างที่ติดแบ็คลีส หรือติดเครดิตบูโร เหล่านี้ก็น่าจะมีการผ่อนคลายให้บ้าง หากว่าผู้ประกอบการรายนั้นยังประกอบการอย่างจริงจัง อีกประการที่สำคัญคือ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อพยุงให้ธุรกิจได้เดินต่อไปได้ หากผู้ประกอบการมีเงินทุน นั่นหมายความถึง การจ้างงานที่จะมีต่อไปอย่างต่อเนื่อง การสร้างงานสร้างรายได้ก็จะเกิดอยู่ตลอด ตรงนี้จะเป็นการช่วยเหลือรัฐบาลได้เป็นอย่างดี ในการจะช่วยพยุงระบบเศรษฐกิจชาติมิให้พังทลาย”
“ราวปี 2538 หลังจากลาสิกขาครุ่นคิดอยู่นานว่า…จะทำอะไรดี ประจวบเหมาะมีความรู้เรื่อง “ก๋วยเตี๋ยว” เรื่อง “เย็นตาโฟ” ประกอบกับพื้นที่ อ.แม่วาง ยังไม่มีใครขายเย็นตาโฟ ไม่ใคร่ที่จะมีคนรู้จักมากนัก บทสรุปจึงจบที่ เย็นตาโฟ หากแต่ว่า…ลำพังแค่ เย็นตาโฟ ยังไม่พอ ก็คิดต่อว่า น่าจะ…สร้างแบรนด์!! และจากที่ลาสิกขามา ใครก็เรียกว่า “หนานแดง” จึงสรุปเอาแบรนด์ที่ชื่อ…หนานแดง เย็นตาโฟ”
ตอนเริ่มแรกตอนนั้นขายเพียงชามละ 10 บาท!!! ชาวบ้านก็ยังไม่รู้จักกันมากนักว่า อะไรคือเย็นตาโฟ? บางคนยังคิดว่าเป็นของหวานซะด้วยซ้ำ ที่ร้านตอนนั้นมีขายรวมมิตรน้ำแข็งใสด้วย พอยกเย็นตาโฟไปเสิร์ฟคนสั่งมองหน้าบอกว่าพึ่งกินข้าวมาต่ะกี้นี้เอง จะให้ก๋วยเตี๋ยวอีกละ….อันนี้นะ “เย็นตาโฟ”
“สูตรที่เราใช้จะไม่มีเต้าหู้ยี้ เพราะคนไทยไม่ชอบทานเต้าหู้ยี้ รสชาติที่ได้ก็จะ เผ็ดๆ เปรี้ยวๆ หวานๆ รสชาติถูกปากชาวบ้าน ก็ขายชามละ 10 บาท ซึ่งขณะนั้นถือว่าไม่ใช่ราคาที่ต่ำมาก ในร้านช่วงนั้นก็จะมีก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ขายร่วมด้วย ต่อมาก็มีก๋วยเตี๋ยวปลาเพิ่มเข้ามา น้ำเราใช้น้ำเดียวกันทั้งหมด แต่เราจะปรุงในชาม ทั้งก๋วยเตี๋ยวหมู ก๋วยเตี๋ยวปลา และก็ เย็นตาโฟ จะปรุงในชาม แบบชามต่อชาม”
“หนานแดง เย็นตาโฟ ประสบความสำเร็จมาก หรือที่เรียกกันว่า พีคสุดก็เมื่อ ราว 4 ปีที่ผ่านมา ช่วงนั้น หนานแดงเย็นตาโฟมีครบ มีสาขาย่อยๆ ที่เพิ่มมากขึ้น มีแฟรนไชส์ที่ขยายตัวไปในหลายๆ จังหวัดและอำเภอ ทำให้มีรายได้เข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มาพร้อมกับงานที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ที่สุดได้มีการจัดตั้ง บริษัท เชียงใหม่เย็นตาโฟ จำกัด เพื่อเข้ามาบริหารจัดการ “หนานแดง เย็นตาโฟ” ในทุกมิติ รวมถึงที่แม่วางตรงนี้ก็ถือว่า เป็นสาขาหนึ่งอยู่ในการกำกับของ บจ.เชียงใหม่เย็นตาโฟ”
ที่ผ่านมา “เชียงใหม่เย็นตาโฟ” กล่าวได้ว่า อ่อนแอ การบริหารจัดการทีมีความอะลุ่มอล่วยมากจะเกินความเป็นธุรกิจ อย่างแฟรนไชส์ซึ่งก็แทบจะไม่บริหารจัดการแบบที่แฟรนไชส์ต่างๆ ทำกัน อาจจะเรียกว่า การส่งเสริมให้ทุกคนมีอาชีพ มากกว่า นั่นก็หมายความว่า เชียงใหม่เย็นตาโฟไปส่งเสริมในคนมีอาชีพ หลายสาขา หลายแฟรนไชส์ ไปไม่รอด เพราะคนที่เดินเข้ามาบนถนนสายนี้เพียงแค่ว่า…ลองทำๆ ไปก่อน ที่สุดก็…ล้ม!!
“ก็อยากจะแนะนำว่า อะไรก็ตาม ถ้าลองทำๆ ไปก่อน ก็ไม่ต้องทำ เปลืองเงิน!! ถ้าจะทำ ก็ต้องทำจริงๆ เมื่อทำจริงๆ ก็ต้องใส่ใจอย่างจริงจัง” บทส่งท้ายการสัมภาษณ์ “หนานแดง” ก่อนจากในวันนั้น