วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

120 วันหย่อนบัตรเลือกท้องถิ่น สภาดันแก้กฎหมายหัก ครม. กั๊กไม่ชี้วันเลือกตั้ง

สภาฯ กดดันให้เลือกตั้งท้องถิ่น ชงแก้ไข พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กำหนดชัดหย่อนบัตรภายใน 120 วัน หลังจาก พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ พ่วงด้วยการยกเลิกคำสั่งและประกาศ คสช. รวม 7 ฉบับ เปิดรับฟังความเห็นตั้งแต่ 19 มี.ค. 63 ที่ผ่านมา

วันที่ 1 พ.ค. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์รัฐสภาไทย ในกรอบการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่ร่างกฎหมายที่นำออกรับฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งอยู่ในกลุ่มร่างที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในกลุ่มย่อยร่างที่ประธานรัฐสภาวินิจว่าไม่เป็นร่างเกี่ยวกับการเงิน ได้นำ ร่างกฎหมายที่เปิดให้มีการแสดงความเห็น เป็น ร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งเสนอโดย นายวิรัช พันธุมะผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีต สส.อนาคตใหม่ ที่ย้ายไปสังกัด พรรคภูมิใจไทย ร่วมกับคณะ โดยเปิดรับฟังความเห็นตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา วางเป็นลำดับแรกเพื่อเปิดรับฟังความเห็นตามกฎหมาย

ทั้งนี้เหตุผลที่ต้องตรากฎหมายฉบับนี้ เว็บไซต์รัฐสภาระบุว่า เพื่อให้มีการกำหนดเวลาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เพราะได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยกเลิกการเลือกตั้งสมาชิก สภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 จนถึงบัดนี้ ทำให้การบริหารท้องถิ่นไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นและพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 142 ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยไม่กำหนดระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีต้องแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

นอกจากนี้ยังระบุ ข้อมูลประกอบการพิจารณาไว้ว่า เพื่อกำหนดเวลาที่แน่นอนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 249 และมาตรา 252 แต่พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๒ กำหนดให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยไม่ได้กำหนดเวลาที่แน่นอน จึงตราพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้ กกต. จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ภายใน 120 วัน นับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

http://www.chiangmaidaily.com/wp-content/uploads/2020/05/ร่าง-พรบ-เลือกตั้งท้องถิ่น-แก้ไข-เพิ่มเติม-เปิดรับฟังความเห็น-19-มีค-63.pdf

สำหรับผู้ที่แสดงความเห็นเป็าหมาย เว็บไซต์ระบุว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการการเลือกตั้ง กระทรวงมหาดไทย และประชาชนทั่วไป โดยมีประเด็นให้แสดงความคิดเห็น 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1. เห็นด้วยหรือไม่ กับการให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นภายในระยะเวลา 120 วัน นับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ 2. เห็นด้วยหรือไม่ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นแล้ว ให้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังต่อไปนี้ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการงดการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นและกำหนดวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น สิ้นผลบังคับสำหรับองค์กรส่วนท้องถิ่นนั้น ตามมาตรา 4 ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ และประเด็นที่ 3 เป็น ข้อเสนอแนะอื่นๆ

สำหรับ ร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่เปิดรับฟังความเห็น มีด้วยกัน 5 มาตรา สาระสำคัญอยู่ที่มาตรา 4 ซึ่งบัญญัติให้ยกเลิก/แก้ไข มาตรา 142 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 โดยบัญญัติให้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ภายใน 120 วัน นับแต่ พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับ พร้อมกันนี้ยังบัญญัติให้ยกเลิกคำสั่งและประกาศ คสช. ที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นอีก 7 ฉบับ