วันพุธ, 11 กันยายน 2567

ถกวางมาตรการผ่อนปรน 6 กิจการเปิดได้ แต่เงื่อนไขเพียบ เหล้าเบียร์ยังงดขาย จะยกเลิกต้องพร้อมกันทุกจังหวัด

เชียงใหม่เชิญผู้ประกอบการถกแนวทางมาตรการผ่อนปรน 6 กิจการยังยึดมาตรฐานกลางของ ศบค. พร้อมเพิ่มเติมมาตรการในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ กำหนดไทม์ไลน์ให้บังคับใช้ได้ทันภายใน 3 พ.ค. นี้ ถกแล้วเสร็จช่วงบ่ายนำร่างส่งมหาดไทยพิจารณา นัดถกกรรมการควบคุมโรคจังหวัดบ่ายวันเสาร์ คำสั่งออกช่วยเย็น ส่วนมาตรการห้ามขายเหล้าจะมีผลบังคับใช้ต่อไป ชี้แม้เป็นอำนาจจังหวัดหากจะปลดล็อคต้องพิจารณาในภาครวมทั้งประเทศ เพราะส่วนกลางสั่งเข้าให้ทำเป็นมาตรฐานเดียวกัน

วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ที่ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และนายแพทย์กิตติพันธ์ ฉลอง แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน ด้านระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันประชุมชี้แจงให้กับเจ้าของร้าน ผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านตัดผม และกิจการที่เข้าเงื่อนไข 6 ประเภท ที่จะมีการผ่อนปรนตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.)ได้กำหนดมาตรการผ่อนปรน เพื่อวางมาตรการในการเปิดกิจการในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ต่อไป

นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตามที่ ศบค. ได้มีมาตรการผ่อนปรนสำหรับกิจการและกิจกรรม 6 กลุ่มประเภทให้กลับมาดำเนินกิจกรรมได้ภายในวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 โดยมีเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ก็จะยึดตามที่ส่วนกลางกำหนด ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ประชุมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจถึงแนวทางการปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันทุกจังหวัดทั่วทั้งประเทศ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายผู้คนออกจากจังหวัดหนึ่งไปยังอีกจังหวัดหนึ่งโดยไม่จำเป็น หากมาตรการในการควบคุมของแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน อาทิ การที่จังหวัดหนึ่งเปิดให้ร้านตัดผมบริการได้แต่อีกจังหวัดสั่งไม่ให้เปิดบริการอาจทำให้ผู้คนในจังหวัดที่สั่งปิดเคลื่อนย้ายเข้าไปใช้บริการในจังหวัดที่เปิดบริการได้

“แนวทางการปฏิบัติ คือ ทุกจังหวัดจะต้องออกมาตรการที่เข้มข้นอย่างน้อยเท่ากับมาตรการกลาง ซึ่ง ศบค. ได้กำหนดไว้ อาจจะมีมาตรการเพิ่มเติมที่มีความเข้มข้นมากกว่าได้ ด้วยเหตุนี้ทางจังหวัดจึงได้เชิญผู้ประกอบการทั้ง 6 กลุ่มผู้ประกอบการมาประชุมด่วนเพื่อหาแนวทางปฏิบัติร่วมกัน ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้มีร่างมาตรการผ่อนปรนทั้ง 6 กิจการ ก็จะเสนอแนวทางตามร่างให้แก่ผู้ประกอบการได้ช่วยกันพิจารณาและเปิดโอกาสให้แต่ละกลุ่มได้มีการเสนอข้อคิดเห็นเพื่อที่จังหวัดเชียงใหม่จะได้จัดทำเป็นมาตรการ ต่อจากนั้นก็จะเสนอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาในช่วงบ่ายวันนี้ เมื่อส่วนกลางพิจารณาแล้วเสร็จ ในช่วงบ่ายวันเสาร์ที่ 2 พ.ค. ก็จะนำร่างเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดเชียงใหม่พิจารณา จากนั้นก็จะทำคำสั่งจังหวัดเชียงใหม่เพื่อใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 63 เป็นต้นไป” รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

สำหรับมาตรการผ่อนปรน 6 กิจการ กลุ่มแรกได้แก่ ตลาด ประกอบด้วย ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน และแผงลอย กลุ่มที่ 2 ร้านจำหน่ายอาหาร ประกอบด้วย ร้านอาหารทั่วไป ร้านเครื่องดื่มขนมหวาน ร้านไอศกรีม(นอกห้าง) ร้านอาหารริมทาง รถเข็น หายเร่ กลุ่มที่ 3 กิจการค้าปลีกค้าส่ง ประกอบด้วย ซูปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อบริเวณพื้นที่นั่ง/ยืนรับประทานอาหาร รถเร่หรือรถวิ่งขายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีกขนาดย่อย ร้านค้าปลีกชุมชน ร้านค้าขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม กลุ่มที่ 4 กีฬาสันทนาการ ประกอบด้วย กิจกรรมในสวนสาธารณะ ได้แก่ เต้นไทเก็ก สนามกีฬากลางแจ้งที่เป็นการออกกำลังกายโดยไม่ได้เล่นเป็นทีมและไม่มีการแข่งขัน ได้แก่ เทนนิส ยิงปืน ยิงธนู จักรยาน กอล์ฟ และสนามซ้อม กลุ่มที่ 5 ร้านตัดผมเสริมสวย โดยผ่อนปรนให้ทำได้เฉพาะ ตัด สระ ไดร์ผม และกลุ่มที่ 6 อื่นๆ ประกอบด้วย ร้านตัดขนสัตว์ และร้านรับเลี้ยงรับฝากสัตว์ (รายละเอียดมาตรการผ่อนปรนตามเอกสาร)

http://www.chiangmaidaily.com/wp-content/uploads/2020/05/ร่างมาตรการผ่อนปรน-6-กิจการ.pdf

ต่อคำถามที่ว่า ประเด็นการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดซึ่ง ศบค. ให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่มีแนวทางในการกำหนดมาตรการอย่างไร นายวิรุฬ พรรณเทวี รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการที่นายกรัฐมนตรีได้มีข้อกำหนดให้คำสั่งจังหวัดมีผลบังคับใช้ต่อเนื่องต่อไป นั่นก็หมายความว่า คำสั่งจังหวัดเชียงใหม่ที่หมดในวันที่ 30 เม.ย. 63 ก็จะขยายการบังคับใช้ออกไปโดยอัตโนมัติ อย่างเช่นคำสั่งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ว่าจะเป็นอำนาจจังหวัดโดยตรงแต่ทางส่วนกลางมีข้อสั่งการมาว่า ขอให้จังหวัดทำมาตรฐานเดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดการเดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่จำเป็น ก็จะกลายเป็นว่าจะควบคุมไม่ได้ คนจากจังหวัดที่ไม่ให้ขายพากันขับรถไปหาซื้อจังหวัดที่เปิดให้ขายได้

 

กลุ่มที่ 1 ตลาดกลุ่มที่ 2 ร้านจำหน่ายอาหาร

กลุ่มที่ 3 กิจการค้าปลีกค้าส่ง

 กลุ่มที่ 4 กีฬาสันทนาการ

กลุ่มที่ 5 ร้านตัดผมเสริมสวย

กลุ่มที่ 6 อื่นๆ