วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2567

โควิดเชียงใหม่ยังแพร่ต่อเนื่อง “เด็กเอน” ติดเป็นรายที่ 37 มั่วสุมจัดเลี้ยงคนร่วมงานกว่า 40 คน รายแม่แตงตะลอนไปทั่ว

04 เม.ย. 2020
2043

เปิดไทม์ไลน์ “เด็กเอน” ติดเชื้อรายที่ 37 ของเชียงใหม่ กว่า 40 คน แอบจัดงานเลี้ยง “เด็กเอน” ร่วมด้วย บ้านเช่าย่านแยกวิทยุธานินทร์มีโอกาสสูงติดเชื้อ งานแอบจัดวันที่ 20 มี.ค. ใครไปร่วมงานมีอาการรีบพบแพทย์ด่วน ส่วนรายที่ 36 ตะลอนทั่วแม่แตง ทั้งกดเงิน ไปลีสซิ่ง ต่อภาษีรถ กินส้มตำกับเพื่อนในหมู่บ้าน กลุ่มเสี่ยงใกล้ชิดรอสังเกตอาการมีกว่า 5 คนแล้ว ส่วนใหญ่คนในบ้าน หมอยันกักตัวเอง 14 วัน ช่วยลดการแพร่ระบาดได้ชะงัก

วันที่ 4 เม.ย. 63 ศูนย์ข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจจังหวัดเชียงใหม่ โดยนายแพทย์กิตติพันธุ์ ฉลอม แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน ด้านระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ แถลงถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 4 เม.ย. 63 ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ว่า จังหวัดเชียงใหม่มีผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้น 1 ราย ผู้ป่วยติดเชื้อสะสมทั้งหมด 37 ราย ในจำนวนนี้กลับบ้านได้แล้ว 6 ราย อีก 31 รายยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจยังคงมีเพียง 1 ราย ขณะนี้อาการทรงตัว คาดออกซิเจนดี หากดูแลเรื่องภาวะแทรกซ้อนจากโรคไตวายของผู้ป่วยได้ดีขึ้นก็น่าจะหายใจดีขึ้นและอาจมีสัญญาณที่ดีจะได้เอาท่อช่วยหลายใจออก

สำหรับผู้ป่วยรายอื่นทั้ง 30 ราย อาการไม่หนัก ยังอายุไม่มาก ไม่มีโรคประจำตัว ส่วนการเฝ้าระวังผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเพื่อเก็บสิ่งยืนยันหาเชื้อมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง มีผู้ป่วยที่เข้าข่ายสอบสวนโรคตรวจไปแล้ว 736 ราย รักษาหายและกลับบ้านไปแล้ว 645 ราย มีอีก 91 ราย ที่รอผลตรวจและติดตามดูอาหารอยู่ในโรงพยาบาล

ในส่วนของการติดตามผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยงทั้งในประเทศและต่างประเทศ วันนี้มีผู้ที่เดินทางมาจากกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 8,242 คน ติดตามครบ 14 วันไปแล้ว 1,093 ราย อีก 7,149 รายยังเฝ้าติดตามอยู่ ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,176 ราย ติดตามครบ 14 วันแล้ว 872 ราย อีก 273 ราย ยังเฝ้าติดตามอยู่

“ในผู้ป่วยรายที่ 37 ซึ่งเป็นผู้ป่วยหญิงอายุ 31 ปี รับจ้างอิสระในด้านเอนเตอร์เทน หรือที่เรียกกันว่า “เด็กเอน” มีกลุ่มเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับรายนี้เพราะได้เดินทางไปที่ต่างๆ ซึ่งได้มีการประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยงไปแล้ว ในวันที่ 16 มี.ค. ที่ร้านตะวันแดง วันที่ 17 มี.ค. ร้าน Sound Up หลังที่มีการประกาศปิดสถานบันเทิงไปแล้วมีการจัดงานเลี้ยงเป็นกลุ่ม 20-30 คนในห้องเช่าแห่งหนึ่งใกล้ๆ กับแยกวิทยุธานินทร์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติม โดยจัดเลี้ยงกันวันที่ 20 มี.ค. จะเห็นว่าผู้ป่วยรายนี้มีความเสี่ยงโดยสัมผัสกับสถานบันเทิง มีประวัติที่เคยเดินทางไปสถานที่ที่จังหวัดประกาศไว้แล้วว่ามีการระบาด ตัวผู้ป่วงเองได้มีการเฝ้าระวังและเข้ามาตรวจ พบว่า วันที่ 23 มี.ค. เริ่มมีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว เจ็บคอ มาตรวจที่โรงพยาบาลหาเชื้อกระทั่งพบว่ามีเชื้อโควิด-19 และเป็นผู้ป่วยยืนยัน” นพ.กิตติพันธุ์ฯ กล่าว

สำหรับกลุ่มผู้สัมผัสที่มีโอกาสติดเชื้อ ขณะนี้ได้ติดตามผู้สัมผัสร่วมบ้าน 1 คน เพื่อนสนิทอีก 3 คนที่ มีประวัติพบปะกันระหว่างที่เริ่มมีอาการ และขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามผู้สัมผัสตามสถานที่ต่างๆ ทั้งที่ร้านตะวันแดง ร้าน Sound Up ในวันที่ 16, 17 มี.ค. รวมถึงสถานที่ใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ บ้านเช่าบริเวณแยกวิทยุธานินทร์ที่มีการจัดงานเลี้ยงในวันที่ 20 มีนาคม 2563 ช่วงเย็นจนถึงมืดค่ำ ซึ่งใครมีประวัติว่าได้ไปในสถานที่ที่มีการจัดงานเลี้ยงบริเวณดังกล่าวขอให้ติดต่อมายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เพื่อการเฝ้าระวังและติดตามอาการต่อไป

ส่วนผู้ป่วยอีกรายเป็นรายที่มีการแถลงข่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 2 เม.ย. เป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 36 เป็นผู้ป่วยซึ่งอยู่ที่ อ.แม่แตง มีการสอบถามเกี่ยวกับประวัติการเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก ขอชี้แจงว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นหญิง อายุ 37 ปี ทำงานเป็นพนักงานเสริฟในสถานประกอบการแห่งหนึ่งที่หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต เมื่อมีการปิดสถานบันเทิงไปแล้วได้เดินทางกลับมายังภูมิลำเนาที่ อ.แม่แตง เมื่อวันที่ 19 มี.ค. มีประวัติการเดินทางตั้งแต่ก่อนป่วย ทั้งการเดินทางไปซื้อของ ไปร้านอาหาร กระทั่งเริ่มมีอาการในวันที่ 28 มีนาคม

“จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยรายที่ 36 นี้ โอกาสจะแพร่เชื้อได้คือ 2 วันก่อนที่จะเริ่มมีอาการ ซึ่งการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยรายนี้เดินทางไปที่ตู้ ATM ธกส. สาขาเมืองแกน ไปนิ่มซี่เส็งลีสซิ่ง สาขาแม่มาลัย ตรวจสภาพรถที่ ตรอ.นฤบาล ไปต่อทะเบียนรถที่ สนง.ขนส่ง สาขาแม่แตง ไปที่ ไทธนาลีสซิ่ง สาขาช่อแล และไปทานส้มตำกับเพื่อนบ้านที่ร้านค้าในหมู่บ้าน ก่อนที่จะไป รพ.สต.เพื่อรับการตรวจ และแยกตัวเข้าทำการรักษา โดยทีมสอบสวนโรคได้มีการติดตามผู้สัมผัสในแต่ละสถานที่พบว่า ส่วนใหญ่ผู้ที่สัมผัสไม่ได้สัมผัสใกล้ชิด และไม่ได้สัมผัสกับผู้ป่วยในระยะเวลานานเกินกว่า 15 นาที ยกเว้นพนักงานที่นิ่มซี่เส็งลีสซิ่ง 1 คน และผู้สัมผัสร่วมบ้านอีก 4 คน ที่มีประวัติที่ค่อนข้างใกล้ชิด ได้มีการเก็บตัวอย่างและส่งตรวจซึ่งคาดว่าจะออกในช่วงค่ำของวันนี้(4 เม.ย.) ส่วนผู้สัมผัสรายอื่นๆ เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำติดเชื้อได้ยาก แต่อย่างไรก็ตามทีมสอบสวนโรคและทีมระบาดในอำเภอแม่แตงได้ประสานงานกันในการติดตามกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำโดยมีผู้ติดตามอย่างน้อย 14 วัน หลังจากที่สัมผัสผู้ป่วย หากมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องมีการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจยืนยันว่าจะมีการติดเชื้อหรือไม่” นพ.กิตติพันธุ์ฯ กล่าว

“กลุ่มที่มีโอกาสติดเชื้อสูงๆ ของเชียงใหม่จะเป็นกลุ่มผู้สัมผัสร่วมบ้าน กับผู้ที่สัมผัสใกล้ชิด เป็นผู้ที่มีประวัติเดินทางไปในสถานบันเทิง จะเห็นได้ว่าการกักกันเพื่อสังเกตอาการอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้เราผ่านวิกฤตินี้ไปได้ เนื่องจากหากมีอาการป่วยและไม่ไปสัมผัสผู้ใดเพิ่ม กลุ่มผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อก็จะน้อยลงไป หากไม่ให้ความร่วมมือในการกักกันไม่ได้แยกตัวเองจนพ้นระยะที่มีการแพร่เชื้อ 14 วัน อาจทำให้เกิดปัญหาความยากลำบากในการติดตามหรือโอกาสเสี่ยงที่จะระบาดในชุมชนได้ ก็ขอให้ทุกชุมชนเข้าใจและให้กำลังใจผู้ซึ่งต้องกักกันเพื่อให้ผ่านพ้นระยะ 14 วันนี้ไปให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดการตีตราขึ้นในสังคม เกิดความเข้าใจกัน และจะผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน” น.พ.กิตติพันธุ์ ฉลอม แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน ด้านระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในที่สุด