วันเสาร์, 7 กันยายน 2567

วอน ปชช.อย่ากดดันแรงงานเถื่อนเกาหลี เกรงตะเลิดจะคุมยาก สธ.ย้ำยอดป่วยไทยยังไม่ขยับ

จังหวัดเชียงใหม่วอนสังคมอย่ากดดันผู้ที่เดินทางกลับมา อาจเกิดความความเครียดและหลบหนีได้ ยิ่งจะทำให้ยากต่อการควบคุมสถานการณ์ ยันเชียงใหม่พร้อมทั้งสถานที่พักและเจ้าหน้าที่รับมือ ด้านกระทรวงสาธารณสุขยันมีผู้ติดเชื้อรักษาตัวใน รพ. 16 ราย กลับบ้านได้แล้ว 33 ตาย 1 ป่วยหนัก 1 ราย ยังตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 ส่วนแรงงานเถื่อนจากเกาหลีย้ำใช้วิธีการรับมือที่เป็นมาตรฐาน

นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้มีการจำกัดบริเวณผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงภัยไวรัส COVID-19 จนกว่าพ้นช่วงระยะของการเกิดอาการ ประมาณ 14 วันนั้น ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดเตรียมสถานที่รองรับผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวในเบื้องต้นไว้แล้ว โดยมีนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาเป็นผู้วางระบบทั้งหมด (ระบบ Local Quarantine) และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมดำเนินการในส่วนต่างๆ ทั้งการปรับสถานที่ การจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งของเครื่องใช้ ที่นอน หมอน มุ้ง หน้ากากอนามัย อาหาร สถานที่ซักล้าง การกำจัดขยะที่เกิดขึ้น การคัดแยกกลุ่มบุคคลตามเวลาที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่เตรียมไว้ การจัดระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้มีความปลอดภัย รวมถึงการดูแลรักษาความปลอดภัย

“ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนอย่าตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะผู้ที่เดินทางกลับมาผ่านการคัดกรองเบื้องต้นแล้ว ถือว่ายังไม่ใช้ผู้ป่วย แต่อยู่ในเกณฑ์ต้องเฝ้าระวังอาการเท่านั้น นอกจากทางจังหวัดจะจัดเตรียมสถานที่ไว้รองรับแล้ว หากครอบครัวของบุคคลเหล่านี้มีความพร้อมในการดูแล ก็สามารถกลับไปพักอาศัยที่บ้านได้ แต่ต้องดูแลตนเองตามข้อกำหนดของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยจะมีเจ้าหน้าที่ไปติดตามดูอาการจนครบระยะปลอดภัย ทั้งนี้ขอให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจ และอย่าได้กดดันบุคคลเหล่านี้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความความเครียดแล้วหนีไปอยู่ที่อื่น จะทำให้ยากต่อการควบคุมสถานการณ์ และทำให้เหตุการณ์บานปลายได้” รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

ทั้งนี้วันที่ 9 มี.ค. 63 ที่ผ่านมาในสื่อออนไลน์ได้มีการเผยแพร่ภาพการกักตัวของผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศเกาหลี ซึ่งพำนักในเขตพื้นที่อำเภอแม่อาย โดยผู้พำนักในบ้านหลังดังกล่าวได้นำเก้าอี้มาตั้งไว้หน้าบ้าน บนเก้าอี้มีตะกร้าพลาสติกตั้งไว้พร้อมด้วยป้ายเขียนด้วยมือ ข้อความว่า “บ้านหลังนี้ไปเกาหลีมา ต้องกักตัว 14 วัน สิ่งของต่างๆ วางไว้ได้เลย ขอบคุณค่ะ”

ด้านกระทรวงสาธารณสุขออกรายงานกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประจำวันที่ 9 มีนาคุม 2563 ว่า สถานการณ์ ถึงวันที่ 9 มีนาคม 2563 ณ เวลา 08.00 น. 1. ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 16 ราย กลับบ้านแล้ว 33 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 50 ราย ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 1 รายที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ยังต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด 2. ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 8มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 4,518 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 212 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 4,306ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 2,729 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,789 ราย

ส่วนสถานการณ์ทั่วโลกรายงานว่า ใน 102 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 1 เรือสำราญ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 9 มีนาคม 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 107,862 ราย เสียชีวิต 3,664 ราย ส่วนประเทศจีน พบผู้ป่วย 80,703 ราย เสียชีวิต 3,098 ราย

กรณีแรงงานไทยนอกระบบจากประเทศเกาหลีใต้ ขณะนี้รับไว้ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จำนวน 186 คน เป็นผู้ชาย 88 คน ผู้หญิง 98 คน มีกลุ่มที่ต้องดูแลพิเศษ 18 คน (มีหญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง) และกลุ่มเสี่ยงสูง 8 คน (มาจากเมืองแทกูและคยองชังเหนือ) ทุกคนได้รับการตรวจสุภาพ อาการปกติ ไม่มีไข้ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกองทัพเรือจัดตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพ มีการตรวจวัดไข้สอบถามอาการทุกวัน และให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตที่ 6 ร่วมดำเนินการ โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับการดูแลผู้เดินทางจากเกาหลีใต้นั้น เป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้ง กระทรวงการต่างประเทศ คมนาคม สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มหาดไทย กลาโหม แรงงานและสวัสดิการสังคม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น โดยจะมีการจัดกลุ่มผู้เดินทางเป็น 3 กลุ่ม คือ ชาวต่างชาติ ผู้เดินทางคนไทย และกลุ่มแรงงาน เมื่อมาถึงประเทศไทยจะมีจุดจอด และพื้นที่คัดแยกที่จำเพาะ หากพบว่ามีไข้ จะนำส่งโรงพยาบาลตามขั้นตอนที่กำหนดไว้

ในกรณีที่ตรวจพบวีซ่าการเดินทางหมดอายุ จะจัดรถเพื่อนำไปส่งยังพื้นที่ควบคุมโรคที่รัฐกำหนด หากเป็นผู้เดินทางอื่นๆ จะถูกส่งตัวไปพื้นที่ควบคุมโรค (Local Quarantine) ใกล้ภูมิลำเนา ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดเตรียมไว้ โดยจะมีระบบฝ้าระวังติดตามอาการจนครบ 14 วัน ในส่วนการติดตามผู้สัมผัสกับนักศึกษาชายไทยจากอิหร่าน มีผู้สัมผัสสี่ยงสูง 157 ราย ได้ดำเนินการติดตามตัว เฝ้าสังเกตอาการและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยมีบางคนเดินทางออกนอกประเทศไทยไปแล้ว ส่วนที่อยู่ในประเทศไทยทีมสอบสวนโรคได้ตามตัวเพื่อเฝ้าระวังติดตามอาการว่าติดเชื้อหรือไม่

ส่วนคำแนะนำสำหรับประชาชนขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ดูแลสุขภาพ โดยหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนอยู่แออัด หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ กินร้อน ซ้อนกลาง ล้างมือ และสวมหน้ากากผ้าเพื่อป้องกันโรค