วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2567

คืบ 3 โครงการพระราชดำริฯ ชลประทานเร่งสำรวจออกแบบ ชี้ “ห้วยแม่ป่าไผ่” ง่ายสุดอาจได้สร้างก่อน

15 ก.พ. 2020
2435

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3 โครงการโซนใต้เชียงใหม่ ชลประทานเดินเครื่องลุยงานเต็มสูบ ดัน “อ่างเก็บน้ำแม่ปอน อ่างเก็บน้ำแม่ฮอด อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่” ก่อสร้างให้ได้โดยเร็ว นำสื่อลงถึงจุดก่อสร้างชี้มีบ้างที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ยันทุกรายได้รับค่าชดเชยเหมาะสมเป็นธรรม เผยอ่างห้วยแม่ป่าไผ่ง่ายสุดทั้งโครงการตั้งอยู่เขตป่าสงวน แค่ขอใช้คาดเร็วสุด 8 เดือนได้สร้าง ส่วนตะกอนทรายต้องบูรณการร่วมขุดลอก

วันที่ 13 ก.พ. 63 ที่ผ่านมา นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายวิชาการ พร้อมคณะ นำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลาง และท้องถิ่น จ.เชียงใหม่ ลงพื้นที่ ณ บริเวณจุดสร้างอ่างเก็บน้ำตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่ปอน อ.จอมทอง อ่างเก็บน้ำแม่ฮอด และอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่ อ.ฮอด ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางในลุ่มน้ำปิง ที่ได้ทำการคัดเลือกแล้วว่า มีความเหมาะสมในด้านวิศวกรรม สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ซึ่งกรมชลประทานได้ทำการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นแล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน2562 ต่อมากรมชลประทานได้ว่าจ้าง กิจการร่วมค้า ดับเบิ้ลยู เอฟ โอ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท วิศวชาญ 2002 จำกัด, บริษัท ฟรอนเทียร์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ส จำกัด และบริษัท องศา คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อดำเนินการงานสำรวจ ออกแบบ ตามสัญญาเลขที่ จ.57/2562 (สพด.) ลงวันที่ 20 กันยายน 2562 เริ่มปฏิบัติงานวันที่ 15 ตุลาคม 2562 และสิ้นสุดสัญญาวันที่ 8 กันยายน 2563 รวมระยะเวลาดำเนินงาน 330 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มปฏิบัติงาน

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า โครงการนี้ผ่านกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว นั่นหมายความว่าได้มาทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่แล้ว ซึ่งมีการดูสถานที่ก่อสร้างไปแล้วว่าบริเวณพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ปอน ณ บริเวณนี้ในทางวิศวกรรมที่น้ำต้นทุนเพียงพอที่จะดำเนินการก่อสร้างซึ่งจะมีการก่อสร้างเป็นทำนบขึ้นซึ่งเก็บกักน้ำได้ราว 2 ล้าน ลบ.ม.

“บริเวณที่จะเป็นพื้นที่เก็บกักน้ำได้นี้พบว่ามีพี่น้องประชาชนเข้ามาทำกิน เป็นพื้นที่ทำกินส่วนหนึ่ง อีกส่วนจะเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์อยู่ในเขตอุทยาน ส่วนพื้นที่รับประโยชน์จะอยู่ด้านล่างถัดลงไป ซึ่งมีทั้งที่เป็นพื้นที่ปลูกพืชและสวนผลไม้ ราว 2,000 กว่าไร่ ในบริเวณนี้มีระบบคูเหมืองเดิมที่ชลประทานมาสร้างฝายเล็กๆ ไว้ ซึ่งมีระบบบริหารจัดการน้ำแล้วทั้งพื้นที่ นี่คือจุดเด่นของจุดจะสร้างโครงการนี้ เมื่อมีการศึกษาแล้วถัดจากนี้ต่อไปก็จะเป็นกระบวนการสำรวจออกแบบตัวอ่างเก็บน้ำ จะเป็นการศึกษาออกแบบให้การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำมีความมั่นคงแข็งแรงใช้ได้อย่างยืนยาว โดยเริ่มจากการสำรวจทางธรณี สำรวจแหล่งดินที่จะนำมาทำเป็นแกนเขื่อน รวมถึงระบบส่งน้ำไปยังพื้นที่รับประโยชน์ ซึ่งต้องพิจารณารอบด้านเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง” รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

 

นายเฉลิมเกียรติฯ กล่าวต่อว่า พื้นที่ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปอนเป็นพื้นที่อุทยานราว 300 ไร่ เมื่อมีการสร้างอ่างเก็บน้ำในเขตอุทยานนั่นก็หมายความว่าต้องมีการสร้างป่าเหนือพื้นที่อ่างเก็บน้ำด้วย โดยจะมีการปลูกป่าทดแทน 2 เท่าของพื้นที่ป่าที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งก็หมายความว่าเหนืออ่างเก็บน้ำแม่ปอนจะมีป่าเพิ่มอีกราว 600 ไร่ ดังนั้นเมื่ออ่างเก็บน้ำแม่ปอนสร้างแล้วเสร็จก็จะมีน้ำเพิ่มขึ้นในพื้นที่ 2 ล้าน ลบ.ม. และมีป่าเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่อีกราว 600 ไร่

 

ต่อประเด็นที่เป็นข้อกังวลของราษฎรในพื้นที่ก่อสร้างอ่างฯ เกี่ยวกับความเป็นธรรมในการจะได้รับค่าชดเชยที่ดินและอาสินที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฯ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เรื่องการชดเชยแยกเป็น 2 ประเภท ประการแรกเรื่องที่ดินที่มีเอกสารทั้งเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครองครองจะมีกฎหมายระบุว่าจะได้รับค่าชดเชยเท่าไร รวมถืออาสินที่อยู่บนที่ดิน ก็จะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งกำกับการจ่ายเงินทดแทน สำหรับที่ทำกินซึ่งอยู่ในเขตป่าก็จะมีการพิจารณาจ่ายค่าผลอาสิน

“การจ่ายค่าทดแทนจะมีคณะกรรมการ ในระดับจังหวัดก็จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการ ระดับอำเภอก็จะมีนายอำเภอเป็นประธานคณะกรรมการ อย่างเช่น หากที่ทำกินของราษฎรผู้ใดได้รับผลกระทบน้ำท่วมจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำก็จะมีเกณฑ์ราคากลางไม่ว่าจะเป็นบ้าน เป็นกระท่อม เป็นไม้ผลต่างๆ จะมีเจ้าหน้าที่มาประเมินมาคำนวณราคา ในราคาที่เป็นธรรม หากยังไม่พอใจราษฎรผู้นั้นยังสามารถอุทธรณ์ได้ โครงการต่างๆ ที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการเช่นที่ว่านี้ ยังไม่เห็นว่ามีการอุทธรณ์ เพราะส่วนใหญ่ได้รับค่าชดเชยในราคาที่เหมาะสมเป็นธรรมทุกคน” รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

ด้าน นายอัฏฐวิชย์ นาควัชระ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 1 กล่าวเพิ่มเติมหลังจากนำคณะสื่อมวลชนดูสภาพลำห้วยแม่ป่าไผ่ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ว่า จุดนี้คือพื้นที่รับประโยชน์จากอ่างเก็บห้วยน้ำแม่ป่าไผ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในขั้นตอนของการสำรวจออกแบบ อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผโครงการจะตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 8 ต.นาคอเรือ อ.ฮอด เมื่อสร้างแล้วเสร็จจะมีความจุน้ำอยู่ที่ 20.41 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับน้ำลงอ่างอยู่ราว 73.00 ตร.กม. พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ 6,683 ไร่

“สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่การจัดการจะง่ายกว่าอีก 2 อ่าง เพราะที่ตั้งอ่างเก็บน้ำและหัวงาน 973 ไร่ และถนนเข้าโครงการอีก 27 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนป่าแม่แจ่มและป่าแม่ตื่นทั้งหมด มูลค่าการก่อสร้างรวมทั้งหมดราว 525 ล้านบาท ตัวระบบส่งน้ำจะส่งลงลำน้ำเดิม ซึ่งจะต้องทำการปรับปรุงฝายห้วยแม่ป่าไผ่และระบบส่งน้ำเพิ่มเติมด้วย โดยจุดที่ลงพื้นที่จุดนี้จากห่างจากตัวอ่างราว 12 กิโลเมตร ซึ่งจะเห็นปริมาณทรายที่มีเป็นจำนวนมาก ตรงนี้ต่อไปต้องมีการบูรณการร่วมกันกับหลายๆ หน่วยงานในการขุดลอก แต่หากว่ามีอ่างเก็บน้ำ มีน้ำ เชื่อว่าน้ำจะช่วยพัดพาทรายให้ไหลไปท้ายน้ำได้อย่างต่อเนื่อง อีกประการอ่างเก็บน้ำนี้เป็นที่ต้องการอย่างมากของราษฎรในพื้นที่ ในการศึกษาผลกระทบได้รับการเรียกร้องให้มีการก่อสร้างโดยเร็วด้วยซ้ำ” นายอัฏฐวิชย์ฯ กล่าว

“อ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่งนี้ ผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาแล้วทั้งหมด สำนักก่อสร้างชลประทานขนาดกลางทำเรื่องขอเปิดโครงการแล้ว อ่างเก็บน้ำแม่ปอนและอ่างเก็บน้ำแม่ฮอดอยู่ระหว่างการทำเรื่องขอเพิกถอนจากพื้นที่อุทยาน ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่จะต้องทำเรื่องขอใช้พื้นที่ป่า อ่างแม่ป่าไผก็จะง่ายสุดเพราะไม่ต้องขอเพิกถอนจากอุทยาน คาดว่าการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผจะเริ่มได้อย่างเร็วที่สุดก็อีกราว 8 เดือน แต่คาดว่าไม่เกิน 2 ปี นับจากนี้” ผอ.สำนักงานก่อสร้างขนาดกลางที่ 1 กล่าว

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางในลุ่มน้ำปิงมีด้วยกันทั้งสิ้น 3 โครงการ ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่ (รายละเอียดตามที่กล่าวมาข้างต้น) ส่วนอีก 2 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่ปอน โครงการตั้งอยู่หมู่ที่ 15 บ้านแม่ปอน ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ความจุน้ำกักเก็บ 2.03 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับน้ำลงอ่างฯ 37.08 ตร.กม. ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ 13.51 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี พื้นที่รับประโยชน์ 4,267.54 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 1 ตำบล 5 หมู่บ้าน อ่างเก็บน้ำและหัวงานอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 298.99 ไร่ ราคาก่อสร้างราว 341 ล้านบาทเศษ อ่างเก็บน้ำฮอด ที่ตั้งโครงการอยู่ที่หมู่ที่ 2 บ้านแพะดินแดง ต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ความจุกักเก็บอยู่ที่ 3.62 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับน้ำลงอ่างฯ 36.00 ตร.กม. ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ 13.14 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี มีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ 2,494 ไร่ ตัวอ่างเก็บน้ำและหัวงานอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง 253 ไร่ ราคาก่อสร้างรวมราว 525 ล้านบาทเศษ