วันศุกร์, 13 กันยายน 2567

แบ่งเขต อบจ.เชียงใหม่ เปิดรับฟังความเห็นแล้ว 13 ก.พ. ถึงคิวเทศบาลนคร-เทศบาลเมือง เผยรูปแบบ

กกต.เชียงใหม่แจงโรดแมปเลือกตั้งท้องถิ่น วางกรอบแบ่งเขต อบจ. เทศบาล ทั้ง 121 แห่ง จบภายในมีนาคม 63 พร้อมได้ตัวกรรมการเลือกตั้งประจำท้องถิ่น ส่วนค่าใช้จ่ายเลือกตั้งทั้งนายกและสมาชิกสภาอยู่ระหว่างการคำนวณ ชี้เขตเดิมอาจเปลี่ยนพื้นที่ได้หากจำนวนราษฎรไม่เป็นไปตามระเบียบฯ

วันที่ 11 ก.พ. 63 ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายวีระพันธ์ ดีอ่อน ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 6/2663 โดยมีวาระการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งแถลงโดย นายเกรียงไกร พานดอกไม้ ผู้อำนวยการสำนักงานการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้แถลง

นายเกรียงไกร พานดอกไม้ ผอ.กกต.เชียงใหม่ กล่าวว่า สนง.กกต.เชียงใหม่ ได้ประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งยังคงมี 42 เขตเลือกตั้งเหมือนเดิม แต่เขตเลือกตั้งมีการเปลี่ยนแปลง โดยอำเภอเมืองเชียงใหม่แต่เดิมมี 6 เขตเลือกตั้ง ลดเหลือเพียง 5 เขตเลือกตั้ง และไปเพิ่มที่อำเภอดอยสะเก็ดจากเดิม 1 เขตเลือกตั้งเป็น 2 เขตเลือกตั้ง ส่วนอำเภออื่นนอกเหนือจากนี้ยังคงจำนวนเขตเลือกตั้งที่เคยมีแต่เดิม อำเภอที่มีประชากรมากที่สุดคือ อำเภอเมืองเชียงใหม่ มีประชากร 2.3 แสนคนเศษ ส่วนอำเภอที่มีประชากรน้อยที่สุดคือ อำเภอกัลยาณิวัฒนา มีประชากร 1.2 หมื่นคนเศษ

“รูปแบบการแบ่งเขตได้ประกาศไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน โดยปิดประกาศแล้วตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 63 ที่ผ่านมา ติดประกาศที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียง หน้าสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ และในวันนี้ได้ขอความร่วมมือไปยังทุก อปท. ได้ช่วยประกาศให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ โดยประกาศจะมี QR Code ของรูปแบบทั้ง 42 เขตเลือกตั้งให้ได้ดู ซึ่งก็จะมีทั้ง 3 รูปแบบในแต่ละเขตที่มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนได้แสดงความเห็นว่ารูปแบบไหนเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดในเขตเลือกตั้งของผู้แสดงความเห็น จากนั้นก็จะรวบรวมความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการแบ่งเขตฯ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธาน มี ผอ.กกต.เชียงใหม่เป็นเลขาฯ จะพิจารณาขั้นสุดท้ายแล้วรวบรวมรูปแบบความคิดเห็นนำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาประกาศให้เป็นเขตเลือกตั้งที่จะใช้ในการเลือกตั้ง ส.อบจ.เชียงใหม่ ต่อไป” ผอ.กกต.เชียงใหม่ กล่าว

นายเกรียงไกรฯ กล่าวต่อว่า สำหรับเทศบาลนคร และเทศบาลเมือง จังหวัดเชียงใหม่มีด้วยกัน 1 เทศบาลนคร และอีก 4 เทศบาลเมือง โดยวันนี้กำหนดให้ท้องถิ่นส่งร่างรูปแบบการแบ่งเขตให้ กกต.เชียงใหม่ ตรวจ และกำหนดที่จะประกาศให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นในวันที่ 13 – 22 ก.พ. 63 ท้องถิ่นที่เหลือที่ต้องแบ่งเขตคือ เทศบาลตำบล ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มี 116 แห่ง ซึ่งต้องแบ่งเขตเช่นกัน โดยกำหนดให้ส่งร่างรูปแบบการแบ่งเขตออกเป็น 4 รอบ แบ่งเป็นกลุ่มอำเภอต่างๆ โดยกลุ่มแรก ประกอบด้วย ทต. ในเขตพื้นที่อำเภอดอยเต่า ดอยหล่อ อมก๋อย แม่แจ่ม จอมทอง แม่แตง แม่วาง ฮอด และสันป่าตอง กำหนดปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตระหว่างวันที่ 14 – 23 ก.พ. 63 กลุ่มที่ 2 ทต. ในพื้นที่อำเภอเวียงแหง สะเมิง ไชยปราการ เชียงดาว พร้าว ฝาง แม่อาย และแม่ริม กำหนดปิดประกาศระหว่างวันที่ 17 – 26 ก.พ. 63 กลุ่มที่ 3 ทต.ในเขตพื้นที่อำเภอสันทราย ดอยสะเก็ด และสันกำแพง ปิดประกาศระหว่างวันที่ 20 – 29 ก.พ. 63 ส่วนเทศบาลตำบลกลุ่มที่ 4 ทต.ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ สารภี และหางดง จะปิดประกาศระหว่างวันที่ 24 ก.พ. ถึงวันที่ 4 มี.ค. 63 จากนั้นก็จะเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการแบ่งเขตฯ เพื่อพิจาณาขั้นสุดท้ายก่อนเสนอ กกต. ประกาศให้เป็นเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลต่อไป

“การปิดประกาศที่กำหนดเป็นกลุ่มเทศบาลตำบลหากร่างรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ส่งมาไม่มีปัญหาไม่ขัดระเบียนก็จะปิดประกาศตามแผนที่กำหนด หากมีข้อผิดพลาดต้องแก้ไขก็ต้องเลื่อนจากแผนข้างต้นออกไป ซึ่งก็จะไม่นานจากแผนที่กำหนด นอกจากนี้ยังมีอีก 2 เรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการอันเป็นการเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นคือ การสรรหากรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม และการกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายการเลือกตั้ง ซึ่งทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีคณะกรรมการหนึ่งคณะมากำหนดจำนวนค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของ อปท. แต่ละแห่ง” ผอ.กกต.เชียงใหม่ กล่าว

“การแบ่งเขตเลือกตั้งบางเขตที่ต้องแบ่งใหม่เนื่องจากจำนวนราษฎรมีเพิ่มขึ้นหรือลดลง เคลื่อนไปมาระหว่างเขต ซึ่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้ว่าการแบ่งเขตจะต้องให้มีจำนวนราษฎรใกล้เคียงกันมากที่สุด โดยแต่ละเขตไม่ควรมีจำนวนราษฎรเกินกว่า 10% เมื่อใช้เขตเลือกตั้งเดิมจำนวนราษฎรเกินกว่าที่ระเบียบกำหนดจึงต้องมีการแบ่งใหม่ ซึ่งนั่นหมายความว่าโอกาสที่เขตเลือกตั้งแต่เดิมจะเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ก็เป็นไปได้ หากว่าเขตเลือกตั้งเดิมจำนวนราษฎรใกล้เคียงกันอยู่และไม่เกินตามที่ระเบียบ กกต. กำหนด ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่จะใช้เขตเลือกตั้งเดิม” นายเกรียงไกร พานดอกไม้ ผอ.กกต.เชียงใหม่ กล่าวในที่สุด