วันศุกร์, 11 ตุลาคม 2567

จัด The Routes Asia Development Forum 2020 ที่เชียงใหม่ หวังเป็นที่สุดด้านการบินแห่งเอเชีย

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ร่วมกับ จังหวัดเชียงใหม่ แถลงข่าวประกาศความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเจรจาธุรกิจการบินพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือ The Routes Asia Development Forum 2020 (RA2020) กำหนดจัดระหว่างวันที่ 8-10 มีนาคม 2563 เปิดพื้นที่สำคัญหลายแห่งต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมจากธุรกิจการบินจากทั่วโลก โชว์ศักยภาพความพร้อมในการรองรับผู้เข้าประชุมต่อยอดอุตสาหกรรมการบินให้เติบโตผ่านการเจรจาธุรกิจ ก้าวสู่การเป็นที่สุดด้านการบินแห่งเอเชีย คาดสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 100 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทยในภาพรวม

นายวิชัย บุญยู้ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจัดงาน The Routes Asia Development Forum 2020 ถือเป็นอีกครั้งในรอบ 14 ปีของประเทศไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานนับจากครั้งแรกที่เคยจัดขึ้นที่พัทยาในปี 2006 นับว่าเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยที่ได้ให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมงานจากธุรกิจการบินทั่วโลก ซึ่งจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของท่าอากาศยาน ก้าวหน้าของเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมทางอากาศ รวมทั้งความพร้อมและคุณภาพของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมโรงแรมและการบริการ อีกด้วย

ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งในด้านความสะดวกในการเดินทางทางอากาศมายังประเทศไทย (Good Air Accessibility) เป็นเหตุผลให้ บริษัท Informa PLC. ซึ่งเป็นผู้จัดงาน The Routes Asia Development Forum พิจารณาคัดเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดการในปีนี้ โดยท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งภายใต้การบริหารของ ทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ที่ ทอท. ได้กำหนดยุทธศาสตร์ให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานหลักที่เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้ถึง 45 ล้านคนต่อปี ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นท่าอากาศยานที่รวดเร็วและไม่ยุ่งยาก มีบทบาทสำคัญในการรองรับสายการบินต้นทุนต่ำ (Low-cost Airline) และท่าอากาศยานอีก 4 แห่ง มียุทธศาสตร์ในการเป็นประตูสู่ภาคเหนือและภาคใต้ รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่สำคัญเพื่อพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน โดยมุ่งเน้นในด้านการบริการและความปลอดภัยด้วยมาตรฐานระดับสากล และด้านสิ่งแวดล้อม โดยให้บริการสายการบินประจำกว่า 135 สายการบิน เชื่อมต่อการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางได้กว่า 214 จุดทั่วโลก รวมไปถึงสถานที่จัดงานอย่างจังหวัดเชียงใหม่ก็มีความเหมาะสมและน่าสนใจ (Appropriate and Interesting Event Venue) และมีโรงแรมที่พัก (Hotels) ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

“ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และไทยแลนด์ 4.0 นั้น อุตสาหกรรมการบินเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม New S-Curve ที่รัฐบาลให้การส่งเสริม ดังนั้น การจัดประชุม RA2020 จะก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม การบิน สร้างเครือข่ายเส้นทางการบิน สร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน สร้างเส้นทางการบินเส้นทางใหม่ นำไปสู่การขยายตัวทางด้านท่องเที่ยวและสร้างงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน ตลอดจนยังเป็นโอกาสอันดีในการสร้างเครือข่ายของกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าระหว่างการจัดงานจะก่อให้เกิดรายได้ทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และยังเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นที่สุดด้านการบินแห่งเอเชีย” นายวิชัย บุญยู้ กล่าว

สำหรับการประชุมตั้งแต่วันที่ 8-10 มีนาคม 2563 จะมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 800 คน มีสายการบินเข้าร่วมประมาณ 100 สายการบิน ท่าอากาศยานทั่วโลกกว่า 200 แห่ง หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวกว่า 30 หน่วยงาน และมีผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจที่จะร่วมบรรยายแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กว่า 20 คน ประกอบด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Face-to-face meetings ที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะมีส่วนร่วมในการประชุมแบบตัวต่อตัวกว่า 2,000 ครั้งตลอดสามวันเต็ม เพื่อแลกเปลี่ยนบริการและความต้องการที่กำลังมองหาอยู่ Networking events กิจกรรมเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและสานสัมพันธ์อันดีของผู้เข้าร่วมงาน และ Conference การประชุมโดยมีผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านธุรกิจการบินในหลากหลายประเภทอาทิ สายการบิน ท่าอากาศยาน จุดหมายปลายทางที่น่าสนใจ เครื่องจักรเกี่ยวกับการบิน และอื่นๆ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายใต้ประเด็นที่น่าสนใจในปัจจุบันและอนาคต ทั้งนี้สามารถติดตามความคืบหน้าของการจัดประชุม The Routes Asia Development Forum 2020 ได้ทาง https://www.routesonline.com/events/211/routes-asia-2020/

ด้าน นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า นับเป็นโอกาสสำคัญและถือเป็นความภาคภูมิใจของจังหวัดเชียงใหม่ในการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเจรจาธุรกิจการบินพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือ The Routes Asia Development Forum 2020 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ซึ่งมีความพร้อมในแง่ของความสง่างาม หรูหรา และความเหมาะสมในการต้อนรับแขกผู้มาเยือน ทำให้คนทั่วโลกได้รู้จักจังหวัดเชียงใหม่มากยิ่งขึ้นด้วยศักยภาพของเมืองและของประเทศไทย

“เชียงใหม่ในฐานะ 1 ใน 5 หัวเมืองไมซ์หลัก หรือ MICE City มีความพร้อมในการจัดประชุมนานาชาติทั้งด้านสถานที่จัดงาน โรงแรมที่ได้รับมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของนักเดินทางธุรกิจ ซึ่งเชียงใหม่มีสถานประกอบการผ่านการรับรองมาตรฐาน Thailand MICE Venue Standard ในประเภทห้องประชุมและประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้าจำนวนถึง 16 แห่ง รวม 56 ห้อง มีความพร้อมในด้านบุคลากรที่มีความสามารถ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม ตลอดจนความโดดเด่นทางด้านวัฒนธรรม จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ พบว่านับตั้งแต่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ เปิดตัวขึ้นในปี 2556 มีจำนวนงานประชุมนานาชาติที่จัดในเชียงใหม่และเป็นงานที่ International Congress and Convention Association (ICCA) ให้การรับรองมีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 250 จากจำนวนงาน 10 งานในปี 2556 เพิ่มเป็น 21 งานในปี 2560 และ 25 งานในปี 2561 โดยในปี 2561 นั้น เชียงใหม่ถือเป็นเมืองที่จัดงานประชุมนานาชาติมากเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ และเป็นเมืองที่จัดงานประชุมนานาชาติมากเป็นอันดับที่ 7 ของอาเซียน” รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

นายวิชัย บุญยู้ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฯ ทอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทยจะได้รับจากการประชุมครั้งนี้ ประเด็นแรกคือ การที่เราได้เป็นเจ้าภาพ ทางสายการบินหรืออุตสาหกรรมการบินต่างๆ ที่มาร่วมงานนี้ จะได้มารู้จัก จังหวัดเชียงใหม่ บางคนยังไม่รู้จักเชียงใหม่ดีพอ รู้แต่ชื่อแต่ไม่เคยเข้ามา จะได้รู้ว่าจังหวัดเชียงใหม่มีอะไร ซึ่งในโปรแกรมการประชุมยังกำหนดให้จัดกรุ๊ปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ด้วย สิ่งที่จะได้อีกอย่างแน่นอนคือ การได้เน็ตเวิร์คเพิ่มมากขึ้น บางประเทศบางทวีปที่ยังไม่เคยมาเชียงใหม่ก็จะได้เครือข่ายเพิ่มมากขึ้น ส่วนการที่จะมีสายการบินเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ในอนาคต ก็อยู่ที่การเจรจาในการประชุมครั้งนี้ โดยท่าอากาศยานต่างๆ จะมาเสนอ Routes ที่เหมาะสมกับสายการบินเพื่อให้เป็นทางเลือกใหม่ สายการบินที่สนใจก็จะไป Test Run ว่าเป็นไปได้หรือไม่ หากว่าเป็นไปได้มีกำไรก็จะจัดให้มีเที่ยวบิน

“ประเทศไทยซึ่งได้เข้ารวมกับการประชุม Routes ในระดับต่างๆ ที่ผ่านมาก็มีสายการบินที่เปิด Routes ใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ไม่เกี่ยวกับการเติบโตของสายการบินเดิมที่มีอยู่ อย่างปีที่ผ่านมาก็มีมาเปิด Routes ใหม่ จำนวน 4 สายการบิน ซึ่งส่วนนี้สร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นอีกราว 900 ล้านบาท” นายวิชัย บุญยู้ กล่าว