วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

“เฉลิมชัย” ชี้ข้าราชการทุกคนต้องมี “สำนึก” ย้ำคนชลฯ รถน้ำเครื่องสูบต้องพร้อม จะใช้ดันเสียถือบกพร่อง (มีคลิป)

01 ก.พ. 2020
1909

น้ำอุปโภคบริโภคต้องไม่ขาด รมว.เกษตรฯ จี้ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ ย้ำให้หน่วยงานเกษตรบูรณาการกับทุกกระทรวง ส่วนภูมิภาคยกให้มหาดไทยเป็นหัวเรือหน่วยงานอื่นร่วมมือทำงาน ต้องพูดคุยกันเพื่อให้ปัญหาถูกแก้ไขอย่างรวดเร็ว ให้ทุกหน่วยถือเป็นเรื่องสำคัญ สั่งทุกคนลงพื้นที่ใกล้ชิดประชาชนเพื่อรับปัญหา น้ำเพื่อการเกษตรไม่พอต้องลงพื้นที่ทำความเข้าใจ สั่งทุกสำนักของกรมชลรถน้ำเครื่องสูบต้องพร้อม หากเสียตอนจะใช้ถือบกพร่องต่อหน้าที่ ฝากจังหวัดเชียงใหม่สกัดมวลชนและร่วมแก้ปัญหา

ที่บริเวณประตุระบายน้ำท่าวังตาล ต.ป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำปิงตอนบน พร้อมทั้งตรวจสภาพลำน้ำปิง โดยมี นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมด้วยคณะผู้บริหารหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ข้าราชการในสังกัดสำนักงานชลประทานที่ 1 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานสถานการณ์และให้การต้อนรับ

นายสุดชาย พรหมลมาศ ผส.ชป.1 ได้รายงานถึงสถานการณ์น้ำของจังหวัดเชียงใหม่และแนวทางบริหารจัดการน้ำโดยเน้นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศในแม่น้ำปิงเป็นอันดับแรก รวมทั้งสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปีหน้า สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน (จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน) ได้กำหนดแผนการใช้น้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เพื่อสนับสนุนกิจกรรมตลอดลำน้ำในฤดูแล้งประมาณ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร กำหนดส่งน้ำเป็นแบบรอบเวร รวม 25 รอบเวร รอบแรกช่วงต้นเดือนมกราคม 63 ขณะเข้าสู่รอบเวรที่ 4 โดยจะส่งน้ำทุกวันศุกร์ ใช้เวลาวันเสาร์และวันอาทิตย์น้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลจะไหลมารวมอยู่หน้าฝายและ ปตร.ต่างๆ ซึ่งมีปริมาณน้ำรวมตั้งแต่แม่แตงจนถึงจอมทองราว 17 ล้าน ลบ.ม. จากนั้นก็จะเปิดใช้พร้อมกันในวันจันทร์ และจะติดตามแผนการบริหารจัดการน้ำในทุกวันพุธซึ่งที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดีตามแผน

โดยที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวมอบนโยบายว่า ปัญหาเรื่องน้ำเป็นเรื่องสำคัญ เพราะน้ำคือชีวิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีหน้าที่ในการดูแลพี่น้องเกษตรกรโดยตรงจะต้องบูรณาการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน การจะทำงานเพียงลำพังไม่อาจเกิดพลังขึ้นมาได้ เพราะแต่ละหน่วยงานมีอำนาจหน้าที่โดยตัวเองตามที่กฎหมายกำหนด หากทำแบบตัวใครตัวมันก็ไม่อาจที่จะเชื่อมต่อกันได้ ก็จะแก้ไขปัญหาไม่ได้ เฉพาะลำพังกระทรวงเกษตรฯ ไม่เพียงพอ เพราะนี่คือประเทศไทยที่ทุกกระทรวงต้องทำงานร่วมกัน หลายๆ กระทรวงต้องทำงานผูกมัดรวมกันจึงสำเร็จ

“อย่างการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคกระทรวงมหาดไทยจะเป็นหัวหน้าส่วน กระทรวงเกษตรฯ หรือกระทรวงอื่นๆ ก็จะเข้ามาเป็นผู้ร่วมงานในการที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นในการทำงานตรงนี้ผมจึงกำหนดเป็นนโยบายเลยว่า ผมขอให้ทุกหน่วยงานได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน ขั้นตอนต่างๆ ให้มีการพูดคุย มีการดำเนินการให้รวดเร็วเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นได้ทันต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น แม้ว่าเกิดขึ้นก็อาจเกิดน้อยลงได้ เรื่องนี้ผมถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ” รมว.เกษตรฯ กล่าว

นายเฉลิมชัยฯ กล่าวต่อว่า อีกเรื่องเคยขอทางปลัดกระทรวงเกษตรฯ ไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญซึ่งทุกคนทำอยู่แล้ว แต่ขอกำชับให้ทุกคนในการที่จะลงไปใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน เรื่องนี้นอกจากเป็นหน้าที่แล้ว แต่ยังเป็นสิ่งที่เรียกว่า “สำนึก” ของข้าราชการที่จะต้องเป็นตัวแทนของรัฐในการที่จะสื่อสารกับประชาชน ทุกท่านต้องลงพื้นที่ไปพบประชาชนในการจะแก้ปัญหาถึงระดับพื้นที่เพื่อให้ปัญหาไม่บานปลายขึ้นมาได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล

“สำหรับเรื่องน้ำ นโยบายสำคัญของรัฐบาลคือ น้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคต้องไม่ขาด ส่วนน้ำในภาคการเกษตรก็ต้องยอมรับว่า เมื่อมีต้นทุนน้ำน้อยอาจทำให้เกษตรกรปลูกพืชได้ไม่ดั่งใจทั้งหมด ก็ต้องมีวิธีที่จะแก้ไข เช่นการให้คำแนะนำให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ใช้น้ำอย่างมีคุณค่ามากที่สุด ซึ่งต้องชี้แจงให้ประชาชนให้เกษตรกรเข้าใจด้วย ถ้าไม่เข้าใจเมื่อมีปัญหาก็จะไม่ใช่ความผิดของประชาชนเขา เพราะไม่มีการสื่อสาร” นายเฉลิมชัยฯ กล่า

รมว.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า อีกประการเครื่องมือ เครื่องจักรทั้งหมดของกรมชลประทานที่มีอยู่ต้องมีความพร้อม ทุกสำนักทั้งประเทศขอให้เตรียมเครื่องมือ เครื่องจักรให้พร้อม ไม่ใช่เวลาต้องใช้งาน รถเสียใช้ไม่ได้ เครื่องสูบน้ำเสียใช้ไม่ได้ ถ้าเป็นเช่นนี้และเมื่อมีการพูดคุยกันแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นความบกพร่อง ทุกคนต้องพร้อมซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นความพร้อมที่ทุกคนจะทำงานมากขึ้นกว่าเดิม แต่เป็นความพร้อมในหน้าที่ที่ทุกคนต้องปฏิบัติอยู่แล้ว

“การทำงานตรงนี้อยากฝากทางจังหวัดเชียงใหม่ในส่วนของการบุรณาการทั้งเรื่องน้ำ เรื่องมวลชน ต้องรบกวนจังหวัดเชียงใหม่ในการเป็นหัวหน้าส่วนราชการในส่วนภูมิภาค เพราะว่าสิ่งที่ไม่ต้องการที่สุดก็คือ การมีปัญหากับพี่น้องประชาชนกับมวลชน จังหวัดเป็นผู้ใกล้ชิดทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ ทั้งท้องถิ่น กรณีมีปัญหามีความจำเป็นที่จะต้องมีการประสานทำงานร่วมกันก็ขอทางจังหวัดเชียงใหม่ในการบุรณาการทำงานแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะเรื่องของชลประทานเกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรกับพี่น้องประชาชนตลอดเวลา ถ้าพูดคุยด้วยความเข้าใจกันปัญหาก็จะไม่เกิดไม่ยึดเยื้อ” นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว

หลังจากการประชุมเพื่อมอบนโยบาย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้พบปะตัวแทนเกษตรกรผู้ใช้น้ำทั้งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่และลำพูน โดยที่ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำ ได้ร้องขอให้ช่วยจัดเครื่องจักรมาขุดลอกลำเหมืองพญาคำที่ตื้นเขินเพื่อช่วยเกษตรกร 6 ตำบลในพื้นที่ อ.สารภี ความยาวราว 15 กิโลเมตร ซึ่งอธิบดีกรมชลประทานได้รับเรื่องไว้พร้อมที่จะส่งเครื่องจักรเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการตามขอภายในสัปดาห์หน้า ส่วนนายกสมาคมผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรฝายท่าวังตาล ร้องขอให้จัดสรรงบประมาณทำการขุดลอดดินเลนก้นคลองส่งน้ำรูปตัวยูในพื้นที่ เนื่องจากระดับคลองอยู่ต่ำกว่าระดับดินเดิมจึงมีตะกอนดินไหลลงสู่คลองมาก เรื่องนี้อธิบดีกรมชลประทานแจงว่ามีโครงการสร้างรายได้ชดเชยแก่เกษตรกรที่เสียโอกาสในการทำข้าวนาปรัง รัฐบาลมีนโยบายจ้างแรงงานในการขุดลอก หากงบประมาณลงมาถึงพื้นที่ดำเนินการจ้างแรงงานขุดลอกได้ทันที