วันพุธ, 8 พฤษภาคม 2567

ผุดเวที “สานพลังสูงวัยสร้างเมือง” สสส. ยกระดับการดูแลผู้สูงอายุ ดันแม่ปูคาเป็นชุมชนต้นแบบ

30 ม.ค. 2020
1459

สสส. ร่วมสถาบันวิชาการคู่ความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่น พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น ชี้ภาคเหนือเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว ห่วงอยู่โดดเดี่ยว เจ็บป่วย รายได้ไม่พอ ขณะที่เทศบาลตำบลแม่ปูคา จ.เชียงใหม่ ต้นแบบแก้ปัญหาฆ่าตัวตาย อาศัยทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น สร้างแผนที่เดินดินให้ อสม. เคาะประตูบ้านดูแลพูดคุยผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง/สูงอายุ สร้างสุขภาพกาย-ใจ ลดซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย

ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่ มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ “เวทีสานพลังสูงวัยสร้างเมือง” จัดโดยเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่พื้นที่ภาคเหนือ นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กล่าวว่า การจัดงานเวทีสานพลังสูงวัยสร้างเมือง เพื่อขับเคลื่อนระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการสรุปแนวทางการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น พร้อมเสนอทางเลือกนโยบายสาธารณะในการยกระดับการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น

“ผลการสำรวจในปี 2560 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุราว 11 ล้านคน คิดเป็น 17% ของประชากรทั้งหมด คาดว่าภายในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยจะมีคนไทยที่อายุ 60 ปี ขึ้นไป ราว 20% ของประชากรทั้งหมด สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือข้อมูลจากระบบข้อมูลตำบลของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่พื้นที่ภาคเหนือ พบว่าเป็นภูมิภาคที่มีผู้สูงอายุ จำนวน 818,544 คน (23.97%) สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ นำสู่ปัญหาและความต้องการการดูแลช่วยเหลือที่เหมือนและแตกต่างกัน เช่น ความต้องการในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุ การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง รายได้ไม่เพียงพอ เข้าไม่ถึงสวัสดิการและมีความพิการ เป็นต้น”

นางสาวดวงพร กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ปัญหาและความต้องการดังกล่าว สสส. ได้ดำเนินงานพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุของชุมชนท้องถิ่น โดยร่วมกับสถาบันวิชาการคู่ความ ร่วมมือกับศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น 4 สถาบันวิชาการ ได้แก่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น โดยการถอดบทเรียน รู้ตำบลเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ส่งผลให้ชุมชนท้องถิ่นต้องดำเนินการดูแลในลักษณะต่างๆ โดยการนำใช้ทุนทางสังคมของพื้นที่ อย่างน้อย 3 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ 1) การจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยการพัฒนานโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่น การสนับสนุนงบประมาณหนุนเสริมแหล่งเรียนรู้ 2) การจัดบริการของหน่วยบริการสุขภาพ เช่น ศูนย์ดูแลระยะยาว ศูนย์กายอุปกรณ์ การจัดบริการดูแลกลางวัน (day care) ร่วมกับ อปท. และ 3) ภาคประชาชน เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน กลุ่มอาชีพ กองทุนออมบุญ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

ด้าน นางจิดาภา อิ่นแก้ว ประธานชมรมอุ่นใจ เทศบาลตำบลแม่ปูคา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตำบลแม่ปูคาประสบปัญหาเพศชายในวัยทำงานมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง จากสถิติของโรงพยาบาลสันกำแพงพบว่าในปี 2552-2554 มีอัตราการฆ่าตัวตายของคนวัยทำงานถึงปีละ 4-5 คน เมื่อทางทีมงาน อสม. ได้ลงเยี่ยมบ้านพบว่า นอกจากปัญหาการฆ่าตัวตายแล้ว ยังพบว่า ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงส่วนมากมีภาวะซึมเศร้า ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป เนื่องจากการสูญเสียลูกหลานที่ฆ่าตัวตาย หรือลูกหลานไม่มีเวลาพูดคุยกับผู้สูงอายุ ดังนั้นการแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายจะต้องดูแลภาวะซึมเศร้าในกลุ่มผู้สูงอายุควบคู่กันไป ซึ่งเป็นที่มาของชมรมอุ่นใจ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2553

นอกจากปัญหาการฆ่าตัวตายแล้วที่มีผลกระทบต่อผู้สูงอายุ และยังอีกสาเหตุหนึ่งที่พบคือ ลูกหลานไม่มีเวลาที่จะมาพูดคุยกับผู้สูงอายุ เพราะต้องทำงานนอกบ้าน วิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไปแตกต่างจากในอดีต ดังนั้นการพูดคุยกับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าจะช่วยให้ผู้สูงอายุกลับมามีสุขภาพจิตที่ดีได้ โดยมี อสม.เชี่ยวชาญสุขภาพจิต ซึ่งจะเข้ามาดูแลด้วยการเยี่ยมบ้านเดือนละครั้ง ที่สุดพบว่าการที่ อสม.เข้าไปพูดคุยกับผู้สูงอายุ ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นตามลำดับ ในปีที่ผ่านชมรมอุ่นใจ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก3) สสส. ทั้งเรื่องงบประมาณและองค์ความรู้ โดยเฉพาะเรื่องของสื่อความรู้ต่างๆ รวมทั้งการทำแผนที่เดินดินเพื่อวางแผนระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน การอบรมให้ความรู้แก่ อสม. และให้การสนับสนุนในการอบรมกับผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยอีกด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลจากระบบข้อมูลตำบลระดับบุคคลและครอบครัว (TCNAP) พบว่า ตำบลแม่ปูคา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ มีกลุ่มเปราะบาง จำนวน 2,237 คน ได้แก่ ผู้สูงอายุติดเตียง 24 คน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 14 คน คนยากจน 857 คน และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 1,159 คน นอกจากนี้ยังมี ผู้ป่วยจิตเวชที่รับยาต่อเนื่องและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ จำนวน 19 คน ผู้สูงอายุ จำนวน 1,231 คน แบ่งออกเป็น กลุ่มที่ช่วยตนเองได้ดี (ติดสังคม) 1,126 คน กลุ่มที่พอช่วยเหลือตนเองได้บ้าง (ติดบ้าน) 72 คน กลุ่มที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ (ติดเตียง) 33 คน กลุ่มผู้พิการ คนพิการทั้งหมด จำนวน ผู้พิการ 174 คน นับว่าเป็นรูปธรรมของการเรียนรู้ปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องของชุมชนท้องถิ่น เพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ในงานครั้งนี้ยังมีนิทรรศการ และเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของพื้นที่ต่างๆ ของท้องถิ่นในภาคเหนือที่มีกระบวนการจัดการเรียนรู้ของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างมีกระบวนการที่มีคุณภาพ เพื่อให้ผู้สูงอายุไม่ได้เป็นภาระของสังคมต่อไป