วันพุธ, 11 กันยายน 2567

ชลประทานระดมพลขุดสันดอนกลางน้ำปิง เรียกคือประสิทธิภาพเต็มร้อย ปตร.ท่าวังตาล

25 ม.ค. 2020
2173

กรมชลประทานบูรณาการหน่วยงานภายในขุดสันดอนตะกอนดิน-ทรายท้าย ปตร.ท่าวังตาล กว่า 2 หมื่นคิวเอาออกจากลำน้ำ “จรินทร์” ชี้ขวางลำน้ำส่งผลประสิทธิภาพระบายน้ำหายไปกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ดินทรายที่ได้นำเสริมตลิ่งสร้างจุดนำเครื่องจักรลงแม่น้ำ ยันมั่นใจ ประสิทธิภาพ ปตร. ยังฉลุย ระบายน้ำได้กว่า 1.2 คิวต่อวินาที

ที่ประตูระบายน้ำท่าวังตาล ต.ป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ (ผคป.ชม.) กล่าวถึงโครงการขุดลอกตะกอนดิน-ทรายด้านท้ายประตูระบายน้ำฯ ว่า เนื่องจากท้ายประตูระบายน้ำท่าวังตาลบริเวณโค้งคุ้งน้ำจะมีสันดอนดิน-ทรายเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการสะสมตามธรรมชาติของลำน้ำ ราว 4-5 ปี จะปรากฏเป็นสันดอนครั้งหนึ่ง เนื่องจากเป็นบริเวณคุ้งน้ำเคยมีการขุดลอกออกไปแล้วก่อนหน้านี้โดยโครงการชลประทานเชียงใหม่ร่วมกับกองพันพัฒนา

“สันดอนตะกอนทรายบริเวณท้าย ปตร. เมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะเป็นอุปสรรคกีดขวางในการระบายน้ำหรือส่งน้ำ ตัว ปตร.จะมีบานระบายน้ำจำนวน 6 บาน มีศักยภาพในการระบายน้ำได้อยู่ที่ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที หากว่ามีการเปิดบานเพื่อระบายน้ำเต็มศักยภาพก็จะไปชนกับสันดอนตะกอนดิน-ทรายบริเวณนี้ จึงเป็นปัญหาของการระบายน้ำของตัว ปตร. จึงต้องมีการขุดลอกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายให้ลำน้ำกลับมาสามารถระบายน้ำรับน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ” นายจรินทร์ฯ กล่าว

 

ผคป.ชม. กล่าวต่ออีกว่า ปริมาณตะกอนดิน-ทรายที่คำนวณไว้เบื้องต้นที่จะทำการขุดลอกออกจากลำน้ำปิงมีอยู่ราว 20,000 ลบ.ม. (คิว) โดยจะขุดตัวสันดอนออกลึกราว 2.00 – 2.50 เมตร ซึ่งเมื่อขุดลอกออกแล้วการระบายน้ำจาก ปตร. ที่ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ไปด้านท้าย ปตร. จะทำได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งตรงนี้จะส่งผลต่อเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดได้ในช่วงฤดูฝนว่าน้ำจากหลากหรือเกิดอุทกภัยในช่วงเวลาไหน เมื่อขุดลอกก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึงการระบายน้ำในช่วงที่น้ำหลาก ปตร. ก็จะมีประสิทธิภาพเต็มที่ในการระบายน้ำ ซึ่งตัวสันดอนดิน-ทรายที่ทำการขุดลอกออกนี้คาดว่าเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำช่วงท้าย ปตร. ราว 30 เปอร์เซ็นต์ของลำน้ำ เมื่อเอาออกลำน้ำก็จะระบายน้ำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ตามเดิม

“สำหรับงบประมาณในการขุดลอกใช้งบปกติของกรมชลประทานที่หน่วยงานมีอยู่ ไม่ได้มีการตั้งงบประมาณเป็นการเฉพาะสำหรับการขุดลอกสันดอนตะกอนดิน-ทรายตรงนี้ เป็นการบูรณาการหน่วยงานของกรมชลประทานในการขุดลอก ส่วนดิน-ทรายที่ขุดออกจะนำไปเก็บติดตลิ่งด้านใดด้านหนึ่งความกว้างราว 3.00 เมตร บดอัดให้แน่เพื่อให้ต่อไปเครื่องจักรกลต่างๆ จะลงไปในลำน้ำได้สะดวก เพราะมีโครงการในอนาคตที่จะทำทางขึ้นลงแม่น้ำ แต่แนวที่เสริมออกจากตลิ่งนี้จะไม่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการระบายน้ำที่ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที อย่างใดทั้งสิ้น” นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผคป.ชม. กล่าวในที่สุด