วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

แผนพัฒนาโครงการเบ็ดเสร็จฯ คืบ ทุ่ม 166 ล้านแก้ไข “อ่างห้วยสะแพดบน” นำร่อง

15 ม.ค. 2020
1812

ชลประทานตามติดการศึกษาการพัฒนาโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผลเบื้องต้นดัน 3 อ่างปรับปรุงนำร่อง เริ่มที่ “อ่างห้วยสะแพดบน” คาดควัก 166 ล้านบาทปรับปรุงเชื่อได้น้ำเพิ่มกว่า 1.7 ล้านคิว ปี 63 ออกแบบเสร็จดันสร้างให้ได้ในปี 65 ส่วนภาพรวมทั้งโครงการรวม 22 อ่าง หากปรับปรุงเสร็จคาดได้น้ำเพิ่มเป็น 20 ล้านคิว สวนลำไยกว่า 1.5 หมื่นไร่ได้น้ำเต็มเม็ดเต็มหน่วย

วันที่ 15 มกราคม 2563 นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 (ผส.ชป.1) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการจัดทำแผนการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ณ สำนักงานโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จฯ บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยปุ๊ตอนบน อ.จอมทอง อ.เชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้าที่จะเข้าสำนักงานโครงการฯ คณะได้ลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยสะแพดตอนบน และพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ

ผส.ชป.1 กล่าวอีกว่า โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2527 เป็นการพัฒนาพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งในอดีต ภาพรวมของโครงการคือการกักเก็บน้ำในลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำปิงตอนล่างก่อนที่จะลงสู่เขื่อนภูมิพล ช่วงนั้นโครงการชลประทานขนาดเล็กได้เข้ามาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กจำนวน 22 อ่าง บริเวณพื้นที่ 2 จังหวัด 3 อำเภอ 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.บ้านโฮ่ง ต.หนองปลาสวาย อ.บ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ต.บ้านแปะ ต.แม่สอย อ.จอมทอง และ ต.บ้านตาล อ.ฮอด จังหวัดเชียงใหม่37 ปีที่ผ่านมาพบว่า น้ำในอ่างที่สร้างนั้นไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้พื้นที่การเกษตรประมาณ 15,000 ไร่ แห้งแล้ง

“เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่ทั้งเชียงใหม่และลำพูนได้ร้องเรียนมายังกรมชลประทานให้เข้ามาแก้ไข กรมชลประทานได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท โพธิศิรินทร์ ไทยคอนซัลแต๊นท์ จำกัด และ บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด เข้ามาทำการศึกษาโดยใช้เวลาทั้งสิ้น 540 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 30 กันยายน 2563 นี้” นายสุดชายฯ กล่าว

ผส.ชป.1 กล่าวต่อว่า จากการศึกษาเพื่อปรับปรุงโครงการฯ นี้ พบว่า พื้นที่ภายใต้อ่างเก็บน้ำทั้ง 22 อ่างในโครงการนี้มีสภาพเป็นชั้นทราย ซึ่งทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเหล่านี้ได้ จึงได้พิจารณาที่จะศึกษาใน 3 อ่างแรกเป็นโครงการปรับปรุงนำร่อง อ่างแรกคือ อ่างเก็บน้ำห้วยสะแพดตอนบน ซึ่งเป็นอ่างที่มีศักยภาพ กล่าวคือมีพื้นที่รับน้ำฝนอยู่ประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร มีน้ำไหลผ่านในลำห้วยปีละ 3.6 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่อ่างที่สร้างไว้จุได้เพียง 3.6 แสน ลบ.ม. เท่านั้น อ่างนี้จะพัฒนาขึ้นใหม่โดยสร้างทับอ่างเดิมขึ้นไปซึ่งจะทำให้อ่างห้วยแม่สะแพดเก็บน้ำได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอีกราว 1.4 ล้าน ลบ.ม. รวมความจุเดิมเป็นอ่างที่จะเก็บกักน้ำได้ราว 1.76 ล้าน ลบ.ม. เมื่อปรับปรุงเสร็จไม่ใช่จะส่งน้ำให้เฉพาะพื้นที่การเกษตรแต่ยังจะส่งน้ำไปเติมอ่างเก็บน้ำห้วยสะแพดตอนล่างในลักษณะอ่างพวงได้ด้วย

“อ่างตัวที่ 2 ที่จะทำการปรับปรุงคือ อ่างเก็บน้ำห้วยผีเสื้อ จะปรับปรุงเพื่อให้ได้น้ำเพิ่มขึ้นอีกราว 3.47 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างที่ 3 คืออ่างห้วยปุ๊บน ซึ่งจะได้น้ำเพิ่มอีกราว 2.53 ล้าน ลบ.ม. แต่อ่างตัวนี้มีข้อจำกัดอยู่บ้างเพราะมีพื้นที่บางส่วนไปติดเขตอุทยานแห่งชาติอาจะต้องศึกษา EIA เมื่อปรับปรุงทั้ง 3 อ่างนี้แล้วเสร็จจะได้ปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มรวม 7.40 ล้าน ลบ.ม. สำหรับอ่างตัวที่ทำได้เลยจะได้นำเสนอกรมชลประทานให้ดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถออกแบบให้แล้วเสร็จได้ในปี 2563 หรือปี 2564 นี้ และจะของบประมาณเพื่อการก่อสร้างได้ในปี 2565” นายสุดชายฯ กล่าว

ทั้งนี้การก่อสร้างปรับปรุงอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 ตัวที่จะเป็นโครงกานำร่องให้แก่โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 510 ล้านบาท แยกเป็น งบสำหรับการก่อสร้างปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยสะแพด 166 ล้านบาท อ่างเก็บน้ำห้วยผีเสื้อใช้งบปรับปรุง 213 ล้านบาท และอ่างเก็บน้ำห้วยปุ๊บนคาดใช้งบประมาณก่อสร้างปรับปรุงราว 131 ล้านบาท

นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผส.ชป.1 กล่าวอีกว่า โดยภาพรวมของแผนพัฒนาทั้ง 22 อ่าง คาดว่าจะสามารถเพิ่มความจุน้ำได้จากที่มีอยู่ 9 ล้าน ลบ.ม. จะเพิ่มอีกราว 11 ล้าน ลบ.ม. โดยรวมจะมีน้ำกักเก็บราว 20 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่การเกษตรซึ่งเป็นสวนลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของเชียงใหม่และลำพูนเดิมมีอยู่ 15,000 ไร่ อาจทำได้ไม่เต็มที่ บางส่วนต้องอาศัยน้ำบาดาลช่วย เมื่อได้พัฒนาปรับปรุงครบตามแผนแล้วเชื่อว่าพื้นที่ที่ตั้งไว้ 15,000 ไร่ จะได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงครั้งนี้ ซึ่งตรงนี้จะตอบโจทย์การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในพื้นที่อย่างเช่นที่ประสบอยู่ในปีนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม