วันพุธ, 11 กันยายน 2567

“หมอหนู” ลัดฟ้าตัดกัญชาช่อแรก ผลผลิตสมบูรณ์ส่งต่อทำยา ปลูกล็อตใหม่แบบ Out door

15 ม.ค. 2020
2591

วันที่ 15 ม.ค. 63 ภายในโรงเรือนอัจฉริยะของศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม รศ.ดรวีระพล ทองมา รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ร่วมกันเก็บเกี่ยวดอกกัญชาทางการแพทย์และทำการปลูกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยเพื่อศึกษาวิจัยการปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรมแบบกลางแจ้ง (Outdoor) ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์ องค์การเภสัชกรรม และมหาวิทยาลัยแม่โจ้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวว่า ช่อดอกกัญชาที่ตัดเป็นช่อแรกในวันนี้เป็น ช่อดอกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยแท้ พันธุ์อิสระ01 ที่ได้ปลูกแบบ Indoor ในระบบอินทรีย์ ระดับอุตสาหกรรมเป็นแห่งแรกของอาเซียน จำนวน 12,000 ต้น โดยได้เริ่มปลูกตั้งแต่ วันที่ 1 ต.ค. 62 และขณะนี้ช่อดอกกัญชาได้เริ่มทยอยเจริญเติบโตสมบูรณ์เต็มที่ โดยช่อดอกกัญชาจะมี ไตรโครม (Trichomes) ที่มีลักษณะคล้ายเรซิ่นใส เมื่อมีความสมบูรณ์เต็มที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น และสีเหลืองอำพัน พร้อมเก็บเกี่ยว ซึ่งไตรโครมเป็นส่วนสำคัญที่สุดของกัญชาที่สะสมสารสำคัญของกัญชาที่ประกอบด้วย THC และ CBD และสารแคนนาบินอยด์อื่นๆ อีกกว่า 400 ชนิด

ขณะนี้ต้นกัญชามีความสมบูรณ์เต็มที่ ออกดอกประมาณ 8 ช่อ ต่อ 1 ต้น โดยแต่ละช่อจะมีน้ำหนักประมาณ 250 กรัมขึ้นไป จนถึง 1 กิโลกรัม ซึ่งช่อดอกจะมีความยาวประมาณ 1.20 เมตร และที่สำคัญคือ มีสาร THC และ CBD ที่มีสัดที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งขณะนี้พร้อมให้เก็บเกี่ยวในวันนี้จำนวนหนึ่ง ที่เหลือจะทยอยเก็บเกี่ยวจนหมดสิ้นราวต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 คาดว่าจะได้ผลผลิตดอกกัญชาสดประมาณ 10,000 กิโลกรัมหรือ 10 ตัน จะเป็นกัญชาแห้งประมาณ 1,000 กิโลกรัม ส่งมอบให้กรมการแพทย์และองค์การเภสัชกรรม โดย 400 กิโลกรัม กรมการแพทย์จะส่งให้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สกัดสารประกอบตำรับยากัญชาแผนไทย สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี ที่ได้รับผลข้างเคียงและดื้อยาจากการรักษาโดยเคมีบำบัดและรังสีบำบัด ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์การแพทย์แผนไทยร่วมสมัยร่วมรักษาโรคมะเร็ง ตำรับยาที่ใช้จะเป็นชนิดหยอดใต้ลิ้นและเหน็บทวาร ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล จะทำการศึกษาผลข้างเคียงด้วย ส่วนอีก 600 กิโลกรัม จะส่งมอบให้องค์การเภสัชกรรมนำไปสกัดสาร CBD และ THC เพื่อกระจายไปตามโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรักษาผู้ป่วยเฉพาะโรค เฉพาะทาง เฉพาะคน ต่อไป

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในการนำกัญชาสายพันธุ์ไทยมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันตามมาตรฐานทางการแพทย์หรือเมดิคัลเกรด (Medical Grade) เป็นการพัฒนาและยกระดับกัญชาสายพันธุ์ไทยสู่การนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างเป็นรูปธรรม มีการใช้ทรัพยากรภายในประเทศเพื่อการพึ่งพาตนเอง และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง นับเป็นผลสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

หลังจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำพิธีตัดช่อดอกกัญชาช่อแรกแล้ว ได้ปลูกกัญชาในโครงการต่อไปด้วย โดยเป็นปลูกกัญชาสายพันธุ์ต่างประเทศร่วมกับสายพันธุ์ไทยอื่นนอกโรงเรือน หรือ Out door ในระบบเกษตรอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทั้งนี้ผลศึกษาวิจัยการปลูกกัญชาแบบกลางแจ้งนี้จะเป็นต้นแบบมาตรฐานการปลูกกัญชากลางแจ้งเพื่อใช้ทางการแพทย์ระดับครัวเรือน ซึ่งการปลูกกัญชาแบบกลางแจ้งให้ได้มาตรฐานเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าผลการศึกษาวิจัยเป็นไปในทิศทางที่ดี จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง และเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายผ่านให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ได้ ก็จะได้มีกัญชาพันธุ์ไทยที่มีมาตรฐานทางการแพทย์ใช้ได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น