วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

ม.แม่โจ้เจ๋ง ปลูกกัญชาได้ผลเกินคาด คุณภาพสูงต้นทุนผลิตต่ำเหมาะผลิตยา

07 ม.ค. 2020
6102

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ แถลงความสำเร็จในการปลูกกัญชาประโยชน์ทางการแพทย์ ในระดับอุตสาหกรรม โดยใช้ระบบอินทรีย์เป็นแห่งแรก ใช้ต้นทุนต่ำ แต่ได้ผลผลิตที่ดีที่สุดในเอเชีย เริ่มตัด 15 ม.ค.นี้ “หมอหนู” ลัดฟ้ามาตัดเอาฤกษ์ คาดได้ผลผลิตกว่า 10,000 กิโลกรัม นำเข้าอบแห้งเหลือ 1 ตัน 400 กิโลส่งให้ ม.ขอนแก่น และ ม.มหิดล อีก 600 กิโลส่งให้กรบการแพทย์ผลิตยารักษามะเร็ง

ที่ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย ชั้น 5 สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร.ศ.ดร.วีระพล ทองมา รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมด้วย ดร.อำนวย ยศสุข นายกสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ น.พ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ น.พ.อิสระ เจียวิริยบุญญา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี ผ.ศ.พาวิน มะโนชัย ศ.จ.ดร.อาณัฐ ตันโช หัวหน้าโครงการผลิตดอกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกันเปิดแถลงข่าวความสำเร็จโครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาเพื่อทางการแพทย์ 12,000 ต้น ในระบบเกษตรอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม

ร.ศ.ดร.วีระพล ทองมา รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า โครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาเพื่อทางการแพทย์ในระบบอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยแม่โจ้กับกระทรวงสาธารณสุข โดยทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มอบหมายให้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง กรมการแพทย์ องค์การเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 62 และในวันที่ 4 ก.ย. 62 ซึ่งแม่โจ้ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการพืชเสพติดให้ปลูกกัญชารุ่นแรกได้ จำนวน 12,000 ต้น โดยใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้รับจากกรมการแพทย์ ชื่อพันธุ์อิสระ 01 (ISSARA 01) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีสาร CBD และ THC ระดับสมดุล ต่อมา นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางมาเยี่ยมชมและปลูกกัญชาต้นแรกในโรงเรือนอัจฉริยะของมหาวิทยาลัยแม่โจ้

ด้าน ศ.จ.ดร.อาณัฐ ตันโช ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปลูกกัญชาตามโครงการฯ นี้ ถือว่าเป็นความสำเร็จของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการปลูกกัญชาระบบเกษตรอินทรีย์ในระบบอุตสาหกรรม กัญชาพันธุ์อิสระ 01 นั้นเป็นกัญชาพันธุ์ไทยแท้ 100% ส่วนวิธีการปลูกนั้นเป็นการปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ หรือ Smart Organic Farming ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เอง และได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จาก IFOAM และ USDA

ทั้งนี้การปลูกกัญชารุ่นแรกทั้ง 12,000 ต้นนั้น ได้ปลูกในโรงเรือนพื้นที่ 3,400 ตร.ม. โดยปลูกในระยะชิด ด้วยการจัดทรงต้น การจัดเตรียมธาตุอาหารพืชในระบบอินทรีย์ การจัดให้มีแสงปกติ และมีการเพิ่มระยะเวลาการให้แสงเพื่อยืดระยะเวลาการเจริญเติบโตเพื่อให้ลำต้นสมบูรณ์ก่อนมีช่อดอก การจัดสารชีวพันธ์ในการกำจัดศัตรูพืช เพื่อควบคุมโรคและแมลง และใช้วัสดุอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์ ในรูปของเหลวที่เน้นธาตุอาหารที่จำเป็นของกัญชาในระบบเกษตรอินทรีย์เพื่อให้ผลผลิตที่สมบูรณ์ และเน้นการกระตุ้นให้ออกดอกด้วยฉี่ไส้เดือนดินจากสายพันธ์ท้องถิ่นไทย

ศ.จ.ดร.อาณัฐฯ กล่าวด้วยว่า การปลูกกัญชาในโครงการดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่สามารถปลูกกัญชาระบบเกษตรอินทรีย์ ในระดับอุตสาหกรรมได้เป็นแห่งแรกของเอเชีย และยังใช้กัญชาพันธุ์ไทยแท้ด้วย ผลคือ ได้ต้นกัญชาที่มีลักษณะที่สมบูรณ์ ที่มีความสูงกว่ามาตรฐาน และเทคโนโลยีที่ใช้ทำให้ได้ต้นกัญชาที่ปลูกเป็นเพศเมียมากที่สุด สามารถออกดอกประมาณ 8 ช่อ ต่อ 1 ต้น โดยแต่ละช่อจะมีน้ำหนักประมาณ 250 กรัมขึ้นไป จนถึง 1 กิโลกรัม ที่สำคัญมี สาร CBD และ THC ที่มีสัดส่วนเท่ากันซึ่งเหมาะเอาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มากที่สุด ขณะเดียวกันพบว่า การปลูกกัญชาตามโครงการฯ นี้ มีจุดสำคัญอย่างหนึ่งคือ มีต้นทุนการผลิตต่อต้นถูก โดยค่าใช้จ่ายในการปลูกต่อต้นเฉลี่ย ต้นละไม่เกิน 750 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่รวมต้นทุนโรงเรือน ถือได้ว่าเป็นต้นทุนที่ต่ำที่สุดในปัจจุบันนี้

“สำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตกัญชาตามโครงการนี้นั้น คาดว่าในการปลูกครั้งแรกนี้จะได้ผลผลิตดอกกัญชาสดไม่น้อยกว่า 10,000 กิโลกรัม หรือ 10 ตัน เพื่อส่งมอบให้กรมการแพทย์และองค์การเภสัชกรรม และในวันที่ 15 ม.ค. 63 นี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเดินทางมาตัดช่อกัญชาช่อแรกที่ฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ด้วย” ศ.จ.ดร.อาณัฐ ตันโช dกล่าว

ด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผลผลิตที่ได้จากความร่วมมือในครั้งนี้จะได้น้ำมันกัญชาเกรดทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐานครบวงจรตั้งแต่การปลูก จนถึงการสกัดเป็นยา ซึ่งกรมการแพทย์จะได้นำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยควบคู่ไปกับการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งในการพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ถือว่าค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจที่กัญชาที่ปลูกได้นี้มีสาร CBD และ THC ที่มีสัดส่วนเท่ากันเหมาะสมในการนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์

ส่วน นพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี กล่าวว่า ผลผลิตกัญชาที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้จากการปลูกตามโครงการนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกคาดว่าสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตสดได้ประมาณ 10,000 กิโลกรัม หรือประมาณ 10 ตัน ซึ่งจะทำเป็นผลผลิตแห้งได้ประมาณ 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม โดยในจำนวนนี้ 400 กิโลกรัมจะมอบให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อศึกษาวิจัยพัฒนาตำรับยาไทยเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานีต่อไป และมอบให้มหาวิทยาลัยมหิดลศึกษาวิจัยในเรื่องฤทธิ์ของสารที่มีผลต่อเซลล์ด้วย ส่วนอีก 600 กิโลกรัมจะส่งมอบให้กรมการแพทย์เพื่อนำไปสกัดผลิตเป็นยาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์