วันพฤหัสบดี, 18 เมษายน 2567

ชป.1 ผุดศูนย์รับมือวิกฤติแล้ง ตั้ง 6 จุดรับเรื่องในพื้นที่ หวังแก้ปัญหาได้โดยเร็ว

07 ม.ค. 2020
1640

ขานรับนโยบายกรมชลประทาน ชป.1 เรียกประชุมวางแผนรับมือวิกฤติแล้ง เตรียมตั้งศูนย์เฉพาะกิจบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง 63 ดีเดย์เปิดอย่างเป็นทางการ 8 ม.ค. 63 พร้อมรับข้อปัญหา ย้ำชัดจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก มั่นใจทั้งเชียงใหม่-ลำพูนน้ำกินน้ำใช้ไม่มีขาด ใช้บทเรียนที่ได้จากปี 59 ปล่อยน้ำเป็นรอบเวรโรยไปถึงท้ายน้ำแล้วเปิดใช้พร้อมกัน ถกประเมินสถานการณ์ทุกวันพุธเพื่อปรับแผนสู้วิกฤติแล้ง

วันที่ 6 ม.ค. 62 ที่ห้อง S.W.O.C.1 สำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ นายสุดชาย พหรมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ (ผส.ชป.1) ประชุมเจ้าหน้าที่ชลประทานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เพื่อกำหนดมาตรการรับมือวิกฤติแล้ง 2562/63 และเตรียมการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2562/63 พร้อมกับศูนย์รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ 6 จุดตลอดลำน้ำปิงตอนบน

นายสุดชาย พหรมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ว่า จากสถานการณ์ฝนเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา มีปริมาณฝนค่อนข้างน้อยต่ำกว่าเกณฑ์อย่างมาก แทบจะเรียกได้ว่าเกือบต่ำที่สุดมีปริมาณที่ต่ำรองจาก ปี 2558 เท่านั้น เมื่อฝนน้อยก็ส่งผลให้ปริมาณน้ำกักเก็บในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบนน้อยตามไปด้วย ณ ขณะนี้แหล่งน้ำสำคัญของเชียงใหม่และลำพูนคือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลซึ่งจะต้องบริหารจัดการน้ำให้ใช้ได้ตลอดตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 63 โดยเฉพาะน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค ณ ขณะนี้มีน้ำกักเก็บอยู่ราว 150 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุ โดยมีแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ส่งให้ใช้ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัด 45 ล้าน ลบ.ม. ส่งให้ใช้ในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำปิงพื้นที่เชียงใหม่และลำพูนราว 70 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปา 21 ล้าน ลบ.ม. น้ำสำหรับการเกษตร 48 ล้าน ลบ.ม. และน้ำเพื่อการท่องเที่ยวอีก 1 ล้าน ลบ.ม.

“จากสถานการณ์ปริมาณน้ำที่น้อยมากนี้ ชป.1 ได้ดำเนินการโดยเริ่มตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ใช้น้ำทั้งในพื้นที่เชียงใหม่และลำพูน ซึ่งมีการประชุมรับฟังแผนแนวทางการใช้น้ำในช่วงแล้ง 2563 เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 62 ที่ผ่านมา เพื่อให้ทราบถึงปริมาณน้ำที่มีอย่างจำกัด โดยการบริหารจัดการน้ำจะส่งน้ำให้การอุปโภค-บริโภคเป็นอันดับแรก จะไม่ให้ประชาชนทั้งเชียงใหม่และลำพูนขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ก็คือ น้ำประปา ถัดมาเป็นน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศในลุ่มน้ำปิงตอนบน โดยจะจ่ายน้ำให้พื้นที่เชียงใหม่และลำพูนทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำปิงได้ใช้น้ำเป็นรอบเวร รวมทั้งสิ้น 25 รอบเวร ซึ่งจะเริ่มรอบแรกในวันที่ 9 ม.ค. 63 นี้” นายสุดชายฯ กล่าว

ผส.ชป.1 กล่าวต่อว่า สำหรับการบริหารจัดการน้ำในปีนี้ ได้มีการกำหนดที่จะจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2562/63 โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งจุดรับเรื่องร้องเรียนไว้ทั้งสิ้น 6 แห่งตลอดลำน้ำปิง โดยศูนย์ฯ นี้จะมีหน้าที่รับเรื่องร้องเกี่ยวกับปัญหาเรื่องน้ำจากผู้ใช้น้ำในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งกำหนดเปิดศูนย์นี้ในวันที่ 8 ม.ค. 62 ที่ประตูระบายฝายวังปาน ศูนย์ทั้ง 6 แห่งนี้จะอยู่ตามฝายและประตูระบายน้ำต่างๆ ที่อยู่ตลอดแม่น้ำปิง ซึ่งจะมีจุดตรวจวัดระดับน้ำและจะรายงานให้ ชป.1 ทราบเป็นประจำทุกวัน

“การจัดตั้งศูนย์ต่างๆ ตลอดแม่น้ำปิงเชื่อว่าจะทำให้การจัดการกับสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ในแต่ละศูนย์จะมีทั้งเจ้าหน้าที่และระดับหัวหน้างานที่สามารถช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้และพร้อมที่จะส่งเรื่องร้องเรียนข้อปัญหาต่างๆ มายังสำนักงานชลประทานที่ 1 ซึ่งเป็นศูนย์ใหญ่ในการจะสั่งการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น” ผส.ชป.1 กล่าว

นายสุดชาย พรหมมลมาศ กล่าวต่อว่า จากบทเรียนเมื่อปี 2558/59 ซึ่งสถานการณ์แย่กว่าปีนี้ โดยรวมก็จะใช้วิธีการเดียวกันในการจัดการ หากแตกต่างกันตรงที่ในปีนี้มีปริมาณน้ำหน้าฝายหรือประตูระบายน้ำเป็นเหมือนแหล่งน้ำต้นทุนที่จะช่วยบรรเทาได้ในบางช่วง ซึ่งได้มีการน้ำเครื่องจักรและเครื่องสูบน้ำไปประจำไว้ในแต่ละฝายหรือประตูระบายน้ำเพื่อช่วยเหลือในพื้นที่นั้นๆ ได้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ดีกว่าเมื่อปี 2559 ที่แต่ละฝายตลอดทั้งแม่น้ำปิงมีน้ำกับเก็บไว้ส่วนหนึ่งราว 17 ล้าน ลบ.ม. น้ำส่วนนี้จะช่วยสำรองให้การประปาสูบไปใช้เพื่อการผลิตน้ำประปาได้ ซึ่งพอจะช่วยบรรเทาได้บ้างในบางสถานการณ์ในพื้นที่ โดยวันที่ 10 ม.ค. 63 จะเริ่มปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ ลงมาเติมให้ฝายต่างๆ ตลอดทั้งแม่น้ำปิงเป็นรอบเวร ซึ่งจะปล่อยน้ำให้เต็มทุกฝ่ายตลอดแม่น้ำปิงและจะเปิดใช้พร้อมกันในทุกกิจกรรมในทุกวันจันทร์

“การบริหารจัดการน้ำในแต่ละช่วงรอบเวรที่ปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ จะมีการประชุมสรุปการใช้น้ำทุกกิจกรรมในทุกวันพุธ เพื่อประเมินสถานการณ์การใช้น้ำในแต่ละรอบเวร เพื่อประเมินว่าการบริหารจัดการมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด หากในช่วงใดมีฝนตกลงในพื้นที่ก็จะมีการพิจารณาลดการปล่อยน้ำมาให้พื้นที่ เช่นกันหากว่าเกิดปัญหาก็จะมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนการใช้น้ำในรอบเวรถัดไป ซึ่งก็หมายความว่าในการบริหารจัดการน้ำอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในทุกสัปดาห์จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง” นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผส.ชป.1 กล่าว