วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

ผอ.แม่กวงยกทีมลงพื้นที่ ย้ำงดปลูกข้าวนาปรัง ชาวนายันไม่กล้าปลูก กลัวกองทัพหนูบุกนา

27 ธ.ค. 2019
1560

ผอ.เขื่อนแม่กวงนำทีมงานลงพื้นที่ ตะลุยประชาสัมพันธ์และติดตามสถานการณ์น้ำ พื้นที่ อ.ดอยสะเก็ด และ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ พร้อมชี้แจงทำความเข้าใจเกษตรกรผู้ใช้น้ำ ย้ำสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำ ยันต้องยึดมติ JMC ที่ถกร่วมกัน  ชาวนาเผยฝืนปลูกกลัวหนูมากกว่าไม่มีน้ำ ปลูกน้อยรายเจอทัพหนูถล่มนาแน่ เล็งปลูกพืชแต่รอปริมาณน้ำในสระหลังรอบจ่ายน้ำแรกก่อน

วันที่ 25 ธ.ค. 62 ที่ผ่านมา นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา พร้อมด้วย หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาแต่ละพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์และติดตามสถานการณ์น้ำช่วงฤดูแล้งนี้ พื้นที่ อ.ดอยสะเก็ด และ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ คณะได้ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเกษตรกรผู้ใช้น้ำในพื้นที่ได้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำ และแผนการบริหารจัดการน้ำซึ่งมีมติร่วมกันไปก่อนหน้านี้ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีผลกระทบน้อยที่สุด

นายเจนศักดิ์ฯ กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้ทราบว่า ยังมีบางพื้นที่ที่เกษตรกร ยังมีการทำการเกษตรฤดูแล้งอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่มีความเข้าใจ และรับทราบถึงแผนการบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างดี โดยใช้น้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนของตนเอง อาทิ สระเก็บน้ำ บ่อดิน หรือบ่อบาดาลน้ำตื้น ในการเพาะปลูก นอกจากนี้เราได้มีการสอบถามถึงผลผลิตของข้าวนาปีที่ผ่านมาว่าได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วงในตอนเริ่มต้นฤดูกาลหรือไม่ หรือส่งผลกระทบให้กับผลผลิตบ้างหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่าไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด ด้วยว่าหลังจากมีการร่วมมือกันบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมโดยคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทานเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทำให้แก้ไขสถานการณ์สามารถป่านพ้นวิกฤตการณ์นั้นมาได้

“การปลูกพืชบางชนิดขณะนี้เกษตรกรยังรอรอบการส่งน้ำในรอบแรกซึ่งจะส่งให้ในวันที่ 15 ม.ค. 63 กำหนดส่งน้ำทั้งสิ้น 4 รอบเวร ส่งเดือนละครั้งๆ ละ 3 วัน ปริมาณน้ำที่ส่งให้รวม 10 ล้าน ลบ.ม. แต่ละรอบเวรจะส่งน้ำอยู่ราว 2.2 ล้าน ลบ.ม. โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ส่งไปช่วยไม้ผลไม้ยืนต้น ตรงนี้เกษตรกรจะปล่อยน้ำเข้าบ่อเข้าบ่อหรือสระน้ำไว้ก่อน แล้วสูบส่งรดให้ต้นไม้ในสวน ก็จะประเมินปริมาณน้ำที่เหลือในบ่อหรือสระน้ำว่าเพียงพอจะปลูกพืชหรือไม่ หากเพียงพอก็จะปลูก ไม่พอก็ไม่เสี่ยงที่จะปลูก ส่วนข้าวนาปรังในพื้นที่เขื่อนแม่กวงฯ เกษตรกรไม่กล้าเสี่ยงที่จะปลูก ปัญหาสำคัญไม่ใช่กลัวไม่มีน้ำหากแต่กลัวหนูมากกว่า เพราะหากปลูกน้อยรายก็เสี่ยงที่หนูจะทำลายข้าวมีสูงมากขึ้นตามไปด้วย” ผอ.คบ.แม่กวงอุดมธารา กล่าว

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ กล่าวต่อว่า เกษตรกรให้ความสำคัญกับการทำลำไยมากกว่า เป็นการทำลำไยนอกฤดู ขณะนี้เริ่มออกลูกแล้ว เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมที่จะถึงนี้ก็จะเก็บผลได้ เกษตรกรก็จะมีรายได้จากลำไยมาทดแทนข้าวนาปรัง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากดังที่กล่าวแต่ต้น ส่วนข้าวนาปีในฤดูทำนาปี 63 เกษตรกรอยากจะเริ่มปลูกในช่วงเดือนมิถุนายน เดือนกรกฎาคม เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน เหตุเพราะว่าข้าวส่วนใหญ่ที่เกษตรกรปลูกคือ พันธุ์สันป่าตอง 1 ซึ่งมีความไวแสง แต่ให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ อย่างนาปีในปีที่ผ่านมา เกษตรกรปลูกแค่ 8 ไร่ ได้ข้าวกว่า 8,000 กิโลกรัม

สถานการณ์น้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ณ วันที่ 27 ธ.ค. 62 อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารามีปริมาณน้ำกักเก็บราว 74 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 28% ของความจุอ่าง น้อยกว่าปี 2561 ซึ่งมีอยู่ราว 72 ล้าน ลบ.ม. (27%) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วราว 0.462 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลเข้าอ่าง 7 วันที่ผ่านมา 0.967 ล้าน ลบ.ม. สำหรับแผนการจัดสรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 กำหนดใช้น้ำระหว่าง วันที่ 1 ธ.ค. 62 – วันที่ 30 มิ.ย. 63 ใช้ในพื้นที่โครงการส่งนำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา 19 ล้าน ลบ.ม. โดยจัดสรรให้การผลิตน้ำประปา 9 ล้าน ลบ.ม. และจัดสรรให้พื้นที่การเกษตรประเภทไม้ผล ไม้ยืนต้นอีก 10 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้โครงการฯ แม่กวงอุดมธารา ยังมีการประชาสัมพันธ์ให้หลีกเลี่ยงการเพาะปลูกข้าวนาปรังและพืชฤดูแล้งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นมติที่ประชุม JMC