วันศุกร์, 13 กันยายน 2567

สามเหลี่ยมทองคำ ยังแรง!! บูรณาการ 6 ประเทศ ยกระดับสกัดกั้นยาเสพติด

วันที่ 14 ธ.ค.62 ที่ห้องประชุม ศป.บส.ชน.ค่ายกองพันพัฒนาที่ 3 อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พล.ท.สุภโชค ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 / ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ ร่วมกับ นายมานิต โกเมศ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 5 ว่าที่ ร.ต.ณรงค์ โรจนโสทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายปิติณัช ศรีธรา ผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมทางศุลกากรภาค 3 นายศรัณยู มีทองคำ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่จาก กองกำลังผาเมือง, กองกำลังนเรศวร, กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3, กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด, ตำรวจภูธรภาค 5, กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 5, จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดพะเยา ร่วมกันแถลง ผลการปฏิบัติงาน ตาม “ปฏิบัติการร่วมสามเหลี่ยมทองคำ 1511 ครั้งที่ 1/63 – ศอ.บส.ชน.”

แม่ทัพน้อยที่ 3 / ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ กล่าวว่า ในการร่วมกันสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ตามแนวชายแดนแม่น้ำโขงของแต่ละประเทศในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ในปี 2562 ที่ผ่านมา มีการจับกุมผู้กระทำความผิดได้ทั้งสิ้น 1,023 คดี ได้ผู้ต้องหา 2,021 คน ยึดยาบ้าได้กว่า 400 ล้านเม็ด ไอซ์ 19,044 กิโลกรัม เฮโรอีน 3,342 กิโลกรัม และกรดไฮโดรคลอริกอีก 77,046 ลิตร ทั้งนี้ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำยังคงเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดหลักของโลกโดยมีแนวโน้มปริมาณการผลิตเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา

“ทั้ง 6 ประเทศ ได้เห็นชอบร่วมกันที่จะยกระดับการสกัดกั้นและปราบปราบยาเสพติด ให้เป็น “ปฏิบัติการร่วมสามเหลี่ยมทองคำ 1511 ครั้งที่ 1/63 – ศอ.บส.ชน.” ก็เพื่อยกระดับความร่วมมือฯ ระหว่างไทยและเมียนมา ในการร่วมกันเฝ้าระวังและสกัดกั้นสารเคมีที่เสียงต่อการนำไปผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ เพิ่มมาตรการ การวางจุดตรวจจุดสกัดกั้นยาเสพติดตามเส้นทาง ให้มีประสิทธิภาพ ภายในแต่ละประเทศของตน รวมทั้งดำเนินการต่อพื้นที่และหมู่บ้านสำคัญที่คาดว่าเป็นแหล่งผลิตหรือแหล่งพักยาเสพติดในประเทศของตน” พล.ท.สุภโชค ธวัชพีระชัย กล่าว

พล.ท.สุภโชคฯ กล่าวต่อว่า ทั้งสองประเทศจะดำเนินการสืบสวนปราบปรามกลุ่มผู้ผลิต และค้ายาเสพติดในประเทศของตน และจะมีการยกระดับการสืบสวนปราบปรามร่วมกัน อาทิ เครือข่ายการค้ายาเสพติดที่มีความเชื่อมโยงทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะคนไทยที่หนีหมายจับไปอยู่ในพื้นที่ประเทศเมียนมา, การวางแผนสืบสวนและขยายผลร่วมกัน โดยประเทศฝ่ายหนึ่งสามารถร้องขอให้มีการปฏิบัติการของอีกฝ่ายหนึ่งได้ เพื่อขอความร่วมมือการสอบปากคำ และขยายผลอย่างรวดเร็วทันการณ์ต่อไป

แม่ทัพน้อยที่ 3/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ กล่าวอีกว่า การปฏิบัติการครั้งนี้ได้ กำหนดเป้าหมายคู่ขนาน คือ ฝ่ายเมียนมา ปฏิบัติการในบริเวณพื้นที่เมืองสาด และจังหวัดท่าขี้เหล็ก จำนวน 10 พื้นที่ 21 จุด และคนไทยหนีหมายจับไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจำนวน 53 เป้าหมาย ส่วนพื้นที่เป้าหมายฝ่ายไทยกำหนดพื้นที่เสี่ยงสำคัญที่อาจมีการลักลอบลำเลียงยาเสพติด และสารตั้งต้น/เคมีภัณฑ์ ผ่านเข้า – ออก พื้นที่ชายแดน จำนวน 20 ช่องทาง/ท่าข้าม, 23 พื้นที่หมู่บ้าน และ 12 เส้นทาง เพ็งเล้ง ด้านจังหวัดเชียงใหม่ และ จังหวัดเชียงราย

สำหรับการจัดกำลังร่วมปฏิบัติตามแผนฝ่ายไทย ประกอบด้วย ศูนย์ปฏิบัติการบริหารการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ, กองกำลังผาเมือง, กองกำลังนเรศวร, กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3, กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด, ตำรวจภูธรภาค 5, สำนักงานศุลกากรภาคที่ 3, กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 5, สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 5, ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดเชียงราย, จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดพะเยา ในการร่วมกันยกระดับความร่วมมือระหว่างไทยและเมียนมา และการปฏิบัติการร่วมเพื่อหยุดยั้งการนำเข้าและส่งออก ยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ บริเวณพื้นที่ชายแดนภาคเหนือของไทย ให้ส่งผลต่อสถานการณ์ปัญหายาเสพติด ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ภายใต้ความร่วมมือของอนุภาคี 6 ฝ่าย หรือ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป