วันพฤหัสบดี, 12 กันยายน 2567

น้ำมีใช้แค่ 70 ล้านคิว ชป.1 ถกรับมือแล้ง 63 ส่งใช้แบบขั้นบันได 25 รอบเวร

04 ธ.ค. 2019
2265

เตรียมรับมือแล้ง 62 ชลประทานแจงผู้เกี่ยวข้องขอร่วมมือ เชียงใหม่-ลำพูนมีน้ำใช้แค่ 70 ล้านคิว งัด “จานุวัตรโมเดล” บทเรียนจากปี 59 มาช่วยบริหารจัดการตลอดลำน้ำปิง ส่งใช้แบบขั้นบันไดเสาร์-อาทิตย์หยุดเปิดใช้พร้อมกันวันจันทร์ กำหนดส่งให้ 25 รอบเวร โดยให้ความสำคัญกับน้ำอุปโภค-บริโภคเป็นอันดับแรก

วันที่ 3 ธ.ค. 62 ที่สำนักงานชลประทานที่ 1 ถนนทุ่งโฮเต็ล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายสำเริง ไชยเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ร่วมเป็นประธานในการประชุมชี้แจงและประชาสัมพันธ์แผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2563 โดยมี นายณัฐวุฒิ นากสุก ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม ได้รับมอบหมายจาก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมด้วยผู้บริหารโครงการชลประทานในพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน ให้การต้อนรับและกล่าวรายงาน นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดการน้ำของสำนักงานชลประทานที่ 1 นำเสนอแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563 พร้อมเปิดรับฟังความเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำของฝายและสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ใช้น้ำจากลำน้ำปิง หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ และผู้บริหารท้องถิ่น มากกว่า 300 คน จากพื้นที่ทั้งจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน

การจัดการประชุมครั้งนี้สืบเนื่องจากสถานการณ์ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงที่ไหลจากพื้นที่ต้นน้ำมีปริมาณน้ำน้อย อาจส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำอุปโภค-บริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และการรักษาคุณภาพน้ำ ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้กำหนดแผนบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลระบายน้ำลงแม่น้ำปิง เพื่อให้ปริมาณน้ำในลำน้ำปิงเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน (จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน) จึงได้จัดประชุมชี้แจ้งให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการน้ำได้แจ้งสภาพปัญหาพร้อมทั้งร่วมเสนอความคิดเห็นและรับทราบแผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง ปี 2563 ของพื้นที่ลุ่มน้ำปิงทั้งสองฝั่ง (จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน) และเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง ปี 2563 ไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งน้ำและใช้น้ำอย่างประหยัด

โดยพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำปิง ตั้งแต่ด้านท้ายน้ำฝายแม่แฝกจนถึงบริเวณเหนือเขื่อนภูมิพล มีความต้องการใช้น้ำ ด้านอุปโภค-บริโภค(ประปา) ประกอบด้วยสถานีผลิตน้ำประปา ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ 7 สถานี จังหวัดลำพูน 1 สถานี รวม 8 สถานี และด้านการเกษตรในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน รวมพื้นที่ 237,233 ไร่ เป็นประตูระบายน้ำ 4 แห่ง ฝาย 8 แห่ง และสถานีสูบน้าด้วยไฟฟ้า 90 แห่ง ซึ่งใช้น้ำจากแม่น้าปิง แต่แม่น้ำปิงมีน้ำไม่เพียงพอในช่วงฤดูแล้ง จึงจำเป็นต้องส่งน้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ ให้การสนับสนุนเป็นประจำทุกปี ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการจัดสรรให้พื้นที่ ลุ่มน้ำปิงตอนบนแบบบูรณาการร่วมกัน

นายอธิวัฒน์ ภูมิไธสง แจงสถานการณ์น้ำต่อที่ประชุมโดยสรุปว่า ฤดูฝนปี 2562 จนถึงปัจจุบันมีปริมาณฝนตกสะสม น้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 17 เปอร์เซ็นต์ และมีผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนแม่งัดฯ สะสม เพียง 100 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 64 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันเขื่อนแม่งัดฯ มีปริมาณน้ำต้นทุนเพียง 155 ล้าน ลบ.ม. หรือ 58 เปอร์เซ็นต์ ของความจุเขื่อน (ปีที่แล้ว 265 ล้าน ลบ.ม.หรือเต็มเขื่อน) ปีนี้ สานักงานชลประทานที่ 1 จึงพิจารณาจัดสรรน้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ ลงลำน้ำปิง สนับสนุนพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่-ลำพูน ได้เพียง 70 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้ว 20 ล้าน ลบ.ม. และความต้องการใช้น้ำรวมทุกกิจกรรม 166 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น เพื่อการเกษตร 144 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 87 เปอร์เซ็นต์ เพื่อการอุปโภค-บริโภค (ประปา) 21 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 13 เปอร์เซ็นต์ และการท่องเที่ยว (สงกรานต์) 1 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งความต้องการใช้น้ำดังกล่าวจะใช้น้ำจากน้ำต้นทุน 2 แหล่ง คือ เขื่อนแม่งัดฯ จำนวน 70 ล้าน ลบ.ม. และจากลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิง 96 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งในปี 2563 สำนักงานชลประทานที่ 1 ยึดตามมาตรการของกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยให้ความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำเป็นลำดับ ดังนี้ อันดับแรกจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ลำดับที่ 2 น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศ ลำดับที่ 3 สำรองน้ำไว้สำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝน เพื่ออุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 ลำดับที่ 4 จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรกรรม และลำดับที่ 5 จัดสรรน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม

ส่วนแนวทางในการบริหารจัดการน้ำยังคงจะส่งน้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ ลงลำน้ำปิง เป็นรอบเวร ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 9 มกราคม 2563 ถึง 1 กรกฎาคม 2563 จำนวน 25 รอบเวร ปริมาณน้ำ 70 ล้าน ลบ.ม. โดยอาศัยหลักการที่ได้จากการบทเรียนบริหารจัดการน้ำช่วงวิกฤติแล้งในปี 2559 ภายใต้การบริหารจัดการของ นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผส.ชป.1 ขณะนั้น หรือที่เรียกว่า “จานุวัตรโมเดล” โดยจะบริหารจัดการน้ำเป็นแบบขั้นบันได ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ จะงดการใช้น้ำตลอดทั้งลำน้ำปิง เพื่อให้สามารถส่งน้ำไปถึงพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ยกเว้น เพื่อการอุปโภค-บริโภค และประปาที่สามารถสูบน้ำได้ทุกวัน จะใช้น้ำตั้งแต่วันจันทร์ เวลา 09.00 น. ถึง วันศุกร์ เวลา 18.00 น. โดยให้เปิดใช้น้ำพร้อมกัน ยกเว้นฝายแม่ปิงเก่าเปิดใช้ วันจันทร์ เวลา 09.00 น.ถึง วันพฤหัสบดี เวลา 09.00 น. รวม 4 วัน เนื่องจากคลองส่งน้ำฯ มีขนาดกว้างและยาว จึงต้องลดระยะเวลาการส่งน้ำ โดยส่งน้ำในอัตราการไหลสูง เพื่อให้น้ำไหลถึงปลายคลองได้ ทั้งนี้สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว ถึง 12 นิ้ว จานวน 75 เครื่อง และรถบรรทุกน้ำ 4 คัน เพื่อช่วยเหลือบางพื้นที่ที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งและอุปโภค-บริโภค ซึ่งอาจได้รับผลกระทบในช่วงฤดูแล้งปี พ.ศ.2563