วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

แม่แจ่มเจ๋ง!! ผุดฝาย 5.2 หมื่นลูก หวังสร้างพลังสามัคคีฝ่าฟันปัญหา

น้อมนำศาสตร์พระราชาช่วยแก้แล้ง หมอกควันไฟป่า แม่แจ่มรวมพลังสร้าง 52,000 ฝายถวายในหลวง “นอ.บุญลือ” แจงประโยชน์สำคัญ 4 ประการที่คาดรับ หากตีเป็นเงินกว่า 52 ล้านบาทไม่ใช้เงินหลวงแม้แต่บาทเดียว ชี้ผลที่ได้ยิ่งกว่าตัวฝายคือ “พลังสามัคคีคนแม่แจ่ม” และเชื่อมั่นพลังนี้จะแก้ได้ในทุกปัญหา

เกี่ยวกับโครงการสร้างฝาย 52,000 ฝาย ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ นายอำเภอแม่แจ่ม กล่าวถึงโครงการนี้ ว่า อำเภอแม่แจ่มสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ให้แก่พื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพด เพียงแค่ 15 ปีย้อนหลังไปพื้นที่ป่าไม้ลดลงกว่าแสนไร่ ความจำเป็นด้านเศรษฐกิจทำให้ชาวบ้านเลือกที่จะปลูกข้าวโพด ปัญหาที่ตามมาคือ ความเสื่อมโทรมของดิน น้ำ รวมทั้งป่า จึงเป็นที่มาของโครงการนี้

“เราย้อนกลับไปดูว่า แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า ของในหลวงรัชกาลที่ 9 โครงการหรือแนวพระราชดำริที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ การสร้างฝายชะลอน้ำ ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งจะส่งให้เกิดประโยชน์หลายประการตามมา”

ประโยชน์ประการแรกฝายชะลอน้ำจะช่วยลดความแรง ความเร็วของน้ำได้ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม ซึ่งในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม มีพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม-น้ำป่าไหลหลากอยู่หลายสิบหมู่บ้าน ประการที่ 2 ฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ฝายดักตะกอน สามารถทำหน้าที่เก็บกักตะกอนดินทรายที่จะไหลลงมาสู่ล้ำน้ำตอนล่างอันจะทำให้เกิดการตื้นเขินได้ ถ้าเราทำฝายเล็กๆ บนเขาไว้ก็จะช่วยชะลอการชะล้างพังทลายของหน้าดินลงได้มาก

“ฝายที่สร้างรวม 52,000 ฝาย ถ้าคิดโดยเฉลี่ยว่าฝายแต่ละฝายกักตะกอนดินไว้ได้ฝายละ 1 ตัน ห้าหมื่นสองพันฝายก็เท่ากับว่า เราสามารถเก็บกักตะกอนดินได้ถึง 52,000 ตัน”

ประโยชน์ประการที่ 3 เป็นเรื่องของการที่จะกระจายความชื้น ในระหว่างที่น้ำถูกชะลอโดยฝายก็จะแผ่ซึมออกสองข้างของแนวลำห้วยทำให้ไม้ที่เคยมีอันเป็นไม้พื้นถิ่นก็จะกลับคืนมา จะมีต้นไม้เพิ่มมากขึ้น ประโยชน์ประการที่ 4 เกี่ยวกับวิกฤติหมอกควันไฟป่าที่ทุกภาคส่วนช่วยกันรณรงค์ และทำงานกันอย่างหนัก ฝายชะลอน้ำจะทำหน้าที่เสมือนแนวกันไฟเปียก เมื่อไฟลามมาถึงบริเวณลำห้วย และเจอความชื้นที่อยู่ใต้ดินซึ่งเกิดจากฝายเหล่านี้ไฟก็จะไม่ลุกลามและดับลงได้

“นี่คือภาพรวมของประโยชน์ที่เราจะได้จากการทำฝาย เพราะเรามองว่าเรื่องของการสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเป็นเครื่องมือที่พี่น้องอำเภอแม่แจ่มจะเอามาใช้ในการฟื้นฟูทั้งดิน น้ำ รวมทั้งป่าไม้ จึงมีการพูดคุยกันว่า เราจะจับมือกันทั้ง 7 ตำบล 104 หมู่บ้าน สร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ บ้านละ 500 ฝาย ซึ่ง 104 หมู่บ้าน เป็นจำนวน 52,000 ฝาย โดยเริ่มทำตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมาจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2562”

“ฝายทั้ง 52,000 ลูกนี้ ชาวอำเภอแม่แจ่มร่วมกันสร้างเพื่อต้องการถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งอำเภอแม่แจ่มจะจัดงานวันดินโลกขึ้นในวันที่ 9-10 ธันวาคม 2562 ที่จะถึงนี้ เป็นความตั้งใจ เป็นความภาคภูมิใจในพลังสามัคคีของพี่น้องแม่แจ่ม ได้ลุกขึ้นมาช่วยกันเพราะเห็นความสำคัญในการจะเร่งฟื้นฟูทรัพยากร ดิน-น้ำ-ป่า และในขณะเดียวกันก็เพื่อฉลองปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่พระองค์ท่านทรงตรัสว่า จะสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามที่พระราชบิดาของพระองค์ท่านได้ทรงสอนเอาไว้”

ในส่วนของการบริหารจัดการโดยไม่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินแม้แต่บาทเดียว โดยได้คุยกันว่า “ตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงสอนทรงทำให้ดูเป็นแบบอย่างไว้นั้น การสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ เป็นการสร้างโดยใช้วัสดุในพื้นที่ถิ่นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไม้ ก้อนหินต่างๆ ก็สามารถเอามาใช้เป็นวัสดุในการสร้างได้ทั้งสิ้น เพราะฝายชะลอน้ำเป็นฝายชั่วคราวที่มีอายุการใช้งานราว 3-5 ปี ตรงนี้จึงไม่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับวัสดุสำหรับการก่อสร้างแต่อย่างใด ชาวบ้านที่ไปร่วมกันทำฝายก็ห่อข้าวห่อน้ำไปกินร่วมกัน ไม่มีงบประมาณไม่มีค่าใช้จ่าย หากแต่เราคิดค่าใช้จ่าย ฝายตัวหนึ่งสมมุติว่า ถ้าคำนวณอย่างต่ำทั้งวัสดุและค่าแรงพี่น้องประชาชนที่ได้ร่วมทำฝายอยู่ที่ฝายละ 1,000 บาท ฝาย 52,000 ฝายก็จะมีมูลค่าถึง 52 ล้านบาท แต่อำเภอแม่แจ่มไม่ได้ใช้เงินงบประมาณแม้แต่บาทเดียว

“สิ่งที่ได้มากกว่าทรัพยากร ดิน-น้ำ-ป่า ที่จะได้กลับคืนมาแล้ว แม่แจ่มจะได้พลังความสามัคคีของผู้คนที่มาจับมือกัน มาช่วยกัน หากย้อนกลับไปถึงคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า “สามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย” ผมคิดว่าสิ่งนี้สำคัญยิ่งกว่า เพราะว่าพลังสามัคคีของพี่น้องประชาชนสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ 100% แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหมอกควันไฟป่าก็ดี ปัญหาความยากจนก็ดี ถ้าเราลุกขึ้นมาจับมือร่วมกันโดยอาศัยพลังความสามัคคีอันเป็นต้นทุนที่เรามีอยู่แล้ว เชื่อว่าจะคลี่คลายวิกฤติหลายอย่างในพื้นที่ได้” นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ นายอำเภอแม่แจ่ม กล่าวในที่สุด