วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2567

“ธรรมนัส” ชี้ฝนหลวงช่วยเพิ่มน้ำมีข้อจำกัด ฟันธง!! อุโมงค์แม่งัด-แม่กวงสร้างความมั่นคงทางน้ำ เตรียมขอไฟเขียว “บิ๊กตู่” มาไล่บี้เอง

26 ต.ค. 2019
2030

วันที่ 26 ตุลาคม 2562 ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคเหนือเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ และพื้นที่ประสบภัยแล้ง

โดยมี นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร บรรยายสรุปภาพรวมของการปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำและพื้นที่ประสบภัยแล้ง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ บรรยายการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ที่รับผิดชอบ พื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ และพื้นที่ประสบภัยแล้ง ผู้แทนกรมชลประทาน บรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำต้นทุนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา และการจัดสรรน้ำด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีแผนและผลการปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2562 โดยมีภารกิจในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ บรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมทั้งยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ ตามแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2562 โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ฯ ได้ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 20 ตุลาคม 2562 มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวนทั้งสิ้น 223 วัน โดยมีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฯ คิดเป็นร้อยละ 89.44 และขึ้นบินปฏิบัติงาน จำนวน 6,113 เที่ยวบิน (8,668 : 32 ชั่วโมงบิน) โดยมีผลการปฏิบัติการฝนหลวง ดังนี้ 1) จังหวัดที่มีการรายงานฝนตกรวม 59 จังหวัด 2) พื้นที่ประสบภัยแล้งที่ได้รับการช่วยเหลือ คิดเป็นร้อยละ 78.04 และ 3) มีการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนขนาดใหญ่ จำนวน 2,923.22 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 43.21 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมทั้งหมด 2,966.43 ล้าน ลบ.ม.

ในปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ตาก ลพบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น สุรินทร์ ระยอง สุราษฎร์ธานี และสงขลา และมีฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 3 ฐาน ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว บุรีรัมย์ และนครสวรรค์ มีอากาศยาน จำนวน 28 ลำ ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 20 ลำ (Caravan จํานวน 10 ลำ Casa จำนวน 6 ลำ Super King Air จำนวน 2 ลำ และ CN-235 จำนวน 2 ลำ) อากาศยานของกองทัพอากาศ จํานวน 7 ลำ (BT-67 จำนวน 3 ลำ และ AU-23 จำนวน 4 ลำ) และอากาศยานของกองทัพบก จำนวน 1 ลำ (Casa จํานวน 1 ลำ) เพื่อเดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำด้านการเกษตรในช่วงปลายฤดูฝน รวมทั้ง เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ จำนวน 20 แห่ง

ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การเดินทางมาวันนี้เป็นการมาตรวจราชการในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อดูแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ขณะเดียวกันเป็นช่วงที่ใกล้ช่วงเวลาที่จะหยุดปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อที่จะได้นำอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ไปบำรุงรักษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการจะใช้ปฏิบัติงานในฤดูกาลต่อไป วันนี้ที่ใช้บริเวณเขื่อนแม่กวงอุดมธาราในการประชุมเพื่อรับฟังการบรรยายสรุปของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงการรายงานการปฏิบัติการของหน่วยบินฝนหลวงในห้วงปี 2562 ที่ผ่านมา ได้มีปฏิบัติการเติมน้ำให้แก่เขื่อนต่างๆ อ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่ไหนบ้างได้น้ำเพิ่มในปริมาณเท่าใด แม่กวงฯ ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีปฏิบัติการฝนหลวงสามารถเติมน้ำในเขื่อนแม่กวงฯ ได้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด ถือว่าเป็นต้นแบบที่จะนำไปใช้ในพื้นที่อื่นได้

รมช.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า สำหรับการรับมือภัยแล้งเมื่อพิจารณาสถานการณ์ในเขื่อนในอ่างเก็บน้ำในแต่ละภาคมีปริมาณน้อย ซึ่งในเรื่องของธรรมชาติก็ไม่อาจจะบอกได้ว่าจะได้น้ำเพิ่มขึ้นอีกมากน้อยเพียงใด โดยภาพรวมได้มีการเตรียมการในการจะรับมือปัญหาภัยแล้งไว้แล้ว โครงการต่างๆ ที่กรมชลประทานดูแลได้มีการขับเคลื่อนตลอด ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ ซึ่งดูแลเกี่ยวกับภัยแล้งได้มีการสั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมในการจะรับปัญหาภัยแล้ง 2563 ที่จะมาถึงนี้แล้ว

“ในส่วนของเกษตรกรในทุกภาคมีความพร้อมในการจะรับปัญหาวิกฤติที่จะเกิดขึ้น แต่ยังต้องช่วยกันรณรงค์ไปในทุกภาคส่วนทุกกรมในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องการเตรียมความพร้อม การให้ข้อมูลแก่พี่น้องเกษตรกร เวลานี้ที่สำคัญที่สุดคือการช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพี่น้องเกษตรในการที่จะช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด โดยการปรับเปลี่ยนมาเป็นการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยเป็นหลัก” รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาจากการมาตรวจราชการที่เชียงใหม่ครั้งก่อนคือ ปัญหาการก่อสร้างและการที่จะเร่งรัดการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากแม่แตงมาแม่งัดและมาแม่กวง เนื่องจากระยะเวลาในสัญญาต้องแล้วเสร็จในปี 2564 ซึ่งเหลือระยะเวลาอีกปีกว่าๆ เท่านั้นเอง การก่อสร้างยังไม่ถึงจุดที่ 2 เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกมาก โดยปัญหาหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องความพร้อมของบริษัทบ้าง เรื่องเทคโนโลยีบ้าง ซึ่งเรื่องนี้จะได้กลับไปเรียน ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ให้ทราบถึงปัญหาตรงนี้ เพื่อจะได้ร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเอาจริงเอาจัง คงปล่อยอย่างนี้ไม่ได้ จะเห็นได้ว่าปฏิบัติการฝนหลวงตามที่รายงานจะได้น้ำในระดับหนึ่งเท่านั้น ด้วยขีดจำกัดที่มีนานัปการ แต่สิ่งสำคัญที่สุดโครงการผันน้ำจากแม่แตงไปแม่งัดและมาสู่แม่กวงเป็นโครงการสำคัญที่ต้องเร่งให้แล้วเสร็จและจะตอบโจทย์ความมั่นคงทางน้ำได้มากที่สุด

ทั้งนี้ก่อนปิดการประชุมเพื่อรับฟังการรายงานกิจกรรมฝนหลวงประจำปี 2562 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้ายในห้องประชุมว่า การมาตรวจเยี่ยมวันนี้ส่วนหนึ่งเป็นการมาตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแม่กวงอุดมธาราด้วยอีกทาง ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานและรองประธานสำนักงานบริหารจัดการน้ำแห่งชาติได้ฝากให้มาดูว่า ทำไมปัญหาก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากลำน้ำแม่แตงมายังแม่งัดและผันมายังเขื่อนแม่กวงฯ ยังไม่สำเร็จเสียที ซึ่งการตรวจงานราชการครั้งก่อนได้มีการท้วงติงไปแล้วว่า การก่อสร้างล่าช้ามาก ระยะเวลาเหลือเพียงปีกว่าเท่านั้น ซึ่งเข้าใจว่าติดปัญหาทั้งความไม่พร้อมของผู้รับเหมาประกอบกับสภาพภูมิประเทศด้วย

“ปัญหานี้ผมจะไปขอ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และ ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลเรื่องนี้ เพื่อจะขอมากำกับดูแลตรวจสอบในการก่อสร้างอุโมงค์นี้ให้แล้วเสร็จในเร็ววัน” ร.อ.ธรรมนัสฯ กล่าว