พิธีวันคล้ายวันสวรรคตรัชกาลที่ 4 งานแรกในตำแหน่ง ผวจ.เชียงใหม่ ของ “ผู้ว่าจอย”

จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบพิธีวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อชาติไทย โดยเฉพาะเรื่องวิทยาศาสตร์ เป็นที่ยอมรับและปรากฏเด่นชัดแก่บรรดานักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก กระทั่งได้รับการยกย่องว่าทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”

วันที่ 1 ต.ค. 62 ที่ห้องราชพฤกษ์ 1 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา อ.เมืองเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นางสุดาภรณ์ สงวนสัตย์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงใหม่ นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เจ้านายฝ่ายเหนือ กงสุลต่างประเทศ ข้าราชการพลเรือน ตุลาการ อัยการ ทหาร ตำรวจ สถาบันการศึกษา และสมาคม ชมรม ตลอดจนประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมประกอบพิธีวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2562 เพื่อเทิดทูนและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย และงานราชพิธีนี้ถือเป็นภารกิจแรกในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ของ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ซึ่งได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง ผวจ.เชียงใหม่ ตั้งแต้วันที่ 1 ต.ค. 62 เป็นต้นไป

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มหากษัตริย์ลำดับที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมีพระนามเดิมตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎสมบัติเทววงศ์พงศ์อิศวรกษัตริย์ขัตติยะราชกุมาร” ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ปีชวด ฉศก จุลศักราช 1166 ตรงกับวันที่ 18 ตุลามคม พ.ศ.2347 เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 20 พรรษา ในปีพ.ศ.2367 ได้ทรงผนวชและทรงได้รับสมณนามฉายาจากพระอุปัชฌาชย์ว่า “วชิรญาโณ” แปลเป็นภาษาไทยว่า “ผู้มีญาณแข็งแกร่งประดุจดังเพชร” ทรงเจริญในสมณเพศอยู่นานถึง 26 ปี ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2394 พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลาสิกขาบทขึ้นครองราชสมบัติ ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2394 มีพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

พระปรีชาสามารถทางวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการวางพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย งานวิจัยหลักในสาขาดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ การสถาปนาเวลามาตรฐานและการคำนวณการเกิดสุริยุปราคา ทรงพระปรีชาสามารถในการคำนวณสถานที่ที่จะดูและเวลาสุริยุปราคาหมดดวงได้อย่างถูกต้องและไม่คลาดเคลื่อนเลย พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน เรื่องวิทยาศาสตร์ เป็นที่ยอมรับและปรากฏเด่นชัดแก่บรรดานักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ในปี 2525 ประเทศไทยได้ประกาศยกย่องว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มประชวรด้วยไข้มาเลเรีย หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับจากทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอ และการประชวรครั้งนี้เป็นที่สุดแห่งพระชนมายุสังขาร ทรงพระราชนิพนธ์คำขมาและลาพระสงฆ์เป็นภาษาบาลี ทรงกำหนดกาลอวสานแห่งพระชนมายุ เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2411ตรงกับเดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช 1230 ขณะพระชนมายุ 64 พรรษา สิริรวมเวลาเสวยราช 17 ปี 5 เดือน 29 วัน