วันพุธ, 11 กันยายน 2567

แม่กวงสุดวิกฤติ น้ำน้อยใกล้เคียงปี 50 ทั้งปีได้น้ำแค่ล้านคิวต้นๆ ปรับแผนฝนหลวงลากยาวถึงต้นหนาว

21 ก.ย. 2019
2239

เขื่อนแม่กวงฯ ได้น้ำน้อยที่สุดของภาคเหนือ ฝนแทบไม่ตกเหนือเขื่อนได้น้ำเท่ากับที่ใช้ไป คาดสิ้นฤดูกาลจะได้น้ำแค่ 123 ล้านคิว เทียบเคียงปี 50 เคาะอีก 3 เดือนข้างหน้าน้ำฝนคงได้แค่ฝัน ปรับแผนทำฝนหลังลากยาวถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนโฟกัสทั้งเขื่อนแม่กวงฯ เขื่อนแม่งัดฯ อุตุชี้ “เอลนีโญ่” หรือไม่เชียงใหม่ไม่กระทบเพราะร่องฝนขยับลงล่างแล้ว

วันที่ 21 กันยายน 2562 เวลา 10:30 น. ณ สันเขื่อนแม่กวงอุดมธารา นายคมสันต์ สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย น.ส.หนึ่งหทัย ตันติพลับทอง ผู้อำนวยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา และนายธนาวุฒิ ปัญจพรอุดมลาภ ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ร่วมกันแถลงข่าวการบริหารจัดการน้ำ และแผนปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเติมน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในเขตจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนในช่วงปลายฤดูฝน

นายธนาวุฒิ ปัญจพรอุดมลาภ ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าวถึง การคาดหมายปริมาณฝนภายใน 3 เดือนข้างหน้า เดือนกันยายนคาดว่าทางด้านตะวันออกของภาคจะได้ฝนในปริมาณที่มากกว่าฝั่งตะวันตก จะได้ฝนมากกว่า 200 ม.ม. ขึ้นไป ส่วนฝากตะวันตกของภาคเหนือปริมาณฝนจะอยู่ในช่วง 150 – 200 ม.ม. จ.เชียงใหม่ จะอยู่ในเกณฑ์ร้อยกว่าถึงสองร้อยมิลลิเมตร ก็จะเป็นค่าใกล้เคียงกับค่าปกติ ซึ่งจะเป็นเหตุการณ์ปกติของเดือนกันยายนที่จะมีฝนในปริมาณที่มากที่สุดของภาคเหนือ หลังจากกันยายนไปแล้ว ฝนก็จะขยับลงไปทางภาคกลางและภาคใต้

“ในเดือนกันยายน จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน มีแนวโน้มปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ ส่วนพื้นที่อื่นๆ ของภาคเหนือจะอยู่ในค่าปกติปริมาณฝนที่ 100 – 200 ม.ม. ถัดไปในเดือนตุลาคม เดือนพฤศจิกายน ภาคเหนือก็แทบจะไม่มีฝน เว้นพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างที่ยังจะมีฝนได้อีก สำหรับ จ.เชียงใหม่ที่มีแนวโน้มว่าปริมาณน้ำฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ โดยที่ในช่วงเดือนกันยายนปริมาณฝนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ อยู่ที่ช่วง 150 – 200 ม.ม. ซึ่งต้องลุ้นต่อว่าอีกราว 10 วัน จ.เชียงใหม่จะได้ฝนอีกราว 100 กว่ามิลลิเมตร หรือไม่ พอถึงเดือนตุลาคมฝนก็จะเริ่มหมดจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านฤดู อาจจะมีฝนบ้างแต่เป็นฝนที่ไม่ได้น้ำ ลักษณะจะเป็นฝนที่ตกแรงแต่พื้นที่ไม่กว้าง ผลต่อการได้น้ำในพื้นที่จะมีน้อย อย่างฝนที่เห็นตกแรงๆ ในเขตเมืองเป็นการตกบางจุดไม่คลุมทั้งพื้นที่” ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าว

นายธนาวุฒิฯ กล่าวต่อว่า ในส่วนของพายุที่จะมีโอกาสเข้ามาในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ อีกหรือไม่ ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าวว่า หากมีพายุเข้ามาในช่วงนี้ก็จะเป็นพายุที่มีกำลังแรงต่ำๆ หากไม่มีพายุเข้ามาอีกในช่วงนี้ก็จะไม่มีแล้ว เพราะเมื่อลมหนาวเริ่มดันลงมาพายุก็จะขยับไปอยู่ทางภาคกลาง จ.เชียงใหม่ เรื่องโบนัสจากพายุโอกาสจะน้อยลงเรื่อยๆ ไปจนสิ้นสุดฤดูกาล

นายธนาวุฒิ ปัญจพรอุดมลาภ ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าวถึงสำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับสภาวะการเกิดเอลนีโญ่ ว่า ที่กังวลว่า “เอลนีโญ่” จะทำให้เกิดแห้งแล้ง โดยข้อเท็จจริงแล้ว “เอลนีโญ่” จะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ขณะนี้เอลนีโญ่อ่อนๆ ซึ่งมีผลต่อประเทศไทยที่ผ่านมากำลังเข้าสู่ภาวะปกติ และจะอยู่ในสภาวะปกติไปจนถึงต้นปี 2563 ซึ่งจะไม่ผลกระทบกับเชียงใหม่แต่อย่างใด เพราะเป็นช่วงที่ไม่ใช่หน้าฝนอยู่แล้ว แต่ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือ อุณหภูมิจะสูงกว่าปกติ 1 – 2 องศาฯ

ด้าน น.ส.หนึ่งฤทัย ตันติพลับทอง ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เตรียมความพร้อมในการบรรเทาปัญหาภัยแล้งในเขตภาคเหนือ โดยให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงประจาภาคเหนือทั้ง 3 หน่วย ได้แก่ หน่วยฯ เชียงใหม่ หน่วยฯ พิษณุโลก และหน่วยฯ ตาก เตรียมความพร้อมโดยติดตามสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางอย่างใกล้ชิด เพื่อปฏิบัติการตามแผนการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ณ เวลานั้น

“จากการติดตามการรายงานข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางในเขตภาคเหนือ เริ่มมีความต้องการรับน้ำเพิ่มเติมตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา จึงได้มีการปรับแผนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยที่เขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนแม่มอก รวมถึงอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 75 แห่ง มีความต้องการรับน้ำเพิ่มเติมมากถึง 58 แห่ง โดยหน่วยฯ เชียงใหม่มีเครื่องบินชนิด BT-67 จากกองทัพอากาศ 2 เครื่อง หน่วยฯ พิษณุโลกมีเครื่องบินชนิด CARAVAN 2 เครื่อง และหน่วยฯ ตากมีเครื่องบิน CASA 2 เครื่อง สาหรับปฏิบัติงาน”

ทั้งนี้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือยังคงติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ อย่างใกล้ชิดต่อเนื่องและพร้อมที่จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ร้องขอทันทีที่สภาพอากาศเหมาะสม รวมทั้งหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น พื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิต พื้นที่ประสบภัย เป็นต้น ทั้งนี้สามารถแจ้งข้อมูลสถานการณ์ความต้องการฝนในพื้นที่โดยตรงทางโทรศัพท์หมายเลข 0-5327-5051 ต่อ 12 และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ ทางเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร www.royalrain.go.th หรือทาง facebook : ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ รวมทั้งมีบริการข้อมูลผลตรวจเรดาร์ฝนหลวงทั่วประเทศบนหน้าเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือเข้าถึงได้ที่ http://122.154.75.14/RRMThaiGov/RadarApp/RadarMainRoyalRain.php

อย่างไรก็ตามทางศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือก็จะยังคงมีการเตรียมความพร้อมในการบรรเทาปัญหาภัยแล้งในเขตภาคเหนือต่อไป จากการติดตามสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ โดยตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเหนือเขื่อนแม่กวงฯ แล้ว 22 วัน และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล 17 วัน พบว่า 39 วันที่ผ่านมามีฝนตกทุกวันถือว่าประสบความสำเร็จในการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนโดยได้หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเช่นพื้นที่เก็บเกี่ยว และพื้นที่ประสบภัย ซึ่งคาดว่าปฏิบัติฝนหลวงเพื่อเติมน้ำให้ทั้งเขื่อนแม่กวงฯ และเขื่อนแม่งัดฯ จะดำเนินการไปจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน 2562

ด้านนายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.เขื่อนแม่กวงฯ กล่าวว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงฯ มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 76.81 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 29.21 ของความจุ เป็นเขื่อนเดียวในภาคเหนือที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่าร้อยละ 30 ช่วงฝนในปีนี้น้ำที่เข้าเขื่อนแม่กวงฯ เท่ากับปริมาณน้ำที่ใช้ไปซึ่งถือว่าน้อยมาก ปริมาณน้ำในปีน้ำใกล้เคียงกับปี พ.ศ. 2550 ซึ่งช่วงท้ายฤดูฝนที่เหลืออีกไม่กี่วันนี้ความคาดหวังที่จะได้น้ำฝนเข้าเขื่อนแม่กวงฯ ยิ่งน้อยลง เพราะเดือนตุลาคมร่องฝนก็จะขยับลงไปบริเวณภาคเหนือตอนล่าง หลังจากนี้อีก 3 เดือนคาดว่าปริมาณน้ำจะเท่ากับปี 2550 โดยจะมีน้ำเข้าเขื่อนแม่กวงฯ ราว 40 ล้าน ลบ.ม. และไม่น่าจะเกิน 50 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าวันที่ 1 ม.ค. 63 เขื่อนแม่กวงฯ น่าจะมีน้ำราว 60 ล้าน ลบ.ม. ไม่เกิน 70 ล้าน ลบ.ม.

จากสถิติพบว่า ม. ในปี 2550 มีน้ำเข้าเขื่อนแม่กวงฯ ราว 152 ล้าน ลบ.ม. ปี 2558 มีน้ำเข้าเขื่อนฯ 60 ล้าน ลบ.ม. ปี 2561 ที่ผ่านมามีน้ำเข้าเขื่อนฯ ราว 195 ล้าน ลบ.ม. และคาดว่าพอสิ้นปี 2562 นี้จะมีน้ำเข้าเขื่อนแม่กวงฯ ราว 123 ล้าน ลบ. นั่นหมายความว่า ปี 2562 นี้สถานการณ์น้ำของเขื่อนแม่กวงฯ ยังดีกว่าเมื่อปี 2558 แต่ก็ยังน้อยกว่าปริมาณน้ำเข้าเขื่อนฯ เมื่อปี 2550

สำหรับพื้นที่การเกษตรในพื้นที่บริการของเขื่อนแม่กวงอุดมธารามีทั้งสิ้น 148,400 ไร่ ได้มีการส่งน้ำรอบใหม่ ครั้งที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 14 – 20 ก.ย. 62 ตามแผน 6.9 ล้าน ลบ.ม. แต่ส่งน้ำให้พื้นที่จริง 5.7 ล้าน ลบ.ม. สามารถประหยัดน้ำได้ 1.2 ล้าน ลบ.ม. โดยได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรและคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทานที่ร่วมกันบริหารจัดการ เมื่อพื้นที่ไหนมีฝนตกหรือรับน้ำเพียงพอแล้วก็จะแจ้งให้มีการลดหรือหยุดการส่งน้ำ และคาดการณ์ตามแผนจะมีการใช้น้ำในรอบนี้จนถึงวันที่ 22 พ.ย. 62 รวมทั้งสิ้น 53 ล้าน ลบ.ม. และน่าจะมีน้ำไหลเข้าเขื่อนอีก 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค. 62) ประมาณ 40-50 ล้าน ลบ.ม. เมื่อตั้งต้นฤดูแล้ง 1 ม.ค. 63 น้ำในเขื่อนน่าจะมีราวๆ 60-70 ล้าน ลบ.ม. และจะมีการประชุมร่วมกันของผู้ใช้น้ำเพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำกันอีกครั้งหนึ่งในช่วงเดือนธันวาคม 26=562

หลังจากนั้นคณะผู้ร่วมแถลงข่าวได้มีการขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินตรวจพื้นที่ต้นน้ำของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งพบว่าโดยภาพรวมป่าต้นน้ำยังมีความสมบูรณ์เป็นปกติ